เวลาจัดอันดับเพลงประเภทอมตะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 500 Greatest Song of All Time ของนิตยสารโรลลิงสโตน หรือว่า 100 เกรตเตสต์กีตาร์โซโล ของกีตาร์เวิร์ลและอีกมากมาย มักจะมีเพลง “Stairway to Heaven” เสมอ เพลงนี้ถือเป็นเพลงระดับตำนานจริง ความเป็นอมตะของบทเพลงพิสูจน์ได้จากกาลเวลาที่ผ่านมายาวนานมากกว่า 3 ทศวรรษ
เนื่องด้วยการเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ รูปประกอบหายหมด ขออภัยอย่างสูง
จุดเด่นของ “Stairway to Heaven” ที่เห็นได้ชัดประการแรกก็คือโครงสร้างบทเพลงซึ่งเปิดตัวขึ้นมาในท่อนแรกเป็นบัลลาดออกไปทางโฟล์กแล้วค่อย ๆ เพิ่มความเร็วในช่วงกลาง จบด้วยท่อนไคล์แม็กซ์ที่รุนแรงแบบฮาร์ดร็อก ในเรื่องโครงสร้างเพลงพอจะแยกรายละเอียดได้คร่าว ๆ ดังนี้
ท่อนอินโทรสุดแสนคลาสสิคท่อนนี้ใช้อคูสติกกีตาร์เป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยเสียงหลักจะอยู่ในคีย์ A minor ความยาวของช่วงอินโทรนี้คือ 16 บาร์ แต่แยกแพตเทิร์นคอร์ดแล้วเป็น 4 บาร์ต่อ 1 แพ็ทเทิร์นที่น่าสนใจก็คือการเลือกใช้โน้ตอาร์เปจจิโอเป็นไปอย่างราบรื่น การใช้ทางเดินคอร์ด Am – Am 9/G# – Am 7/G – F major 7 – G – Am ออกมาดูเรียบง่าย แต่มีรายละเอียดลูกเล่นเพลงหลายอย่าง เช่นใช้เบสโน้ตเคลื่อนตัวเป็นโครมาติก และท่อนอินโทรนี้ติดหูคนฟังได้ดีตั้งแต่ฟังครั้งแรก เสียงเร็คคอร์ดเดอร์จะเข้ามาในช่วงบาร์ที่ 5 (จริง ๆ จะได้ยินเสียงตั้งแต่บาร์ที่ 4) และเป็นตัวดำเนินทำนองในท่อนอินโทรไปจนเข้าท่อนเวิร์ส หรือท่อนร้อง
เสียงร้องจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายบาร์ที่ 16 (เป็น Anticipating note) แพตเทิร์นของทำนองร้องจะเป็น 4-bar phase แพตเทิร์นของอคูสติกกีตาร์เริ่มจะเปลี่ยนไปเป็นท่อน ๆ แต่หลักยังเป็น อาร์เปจจิโออยู่ แทรกการตีคอร์ดเข้ามาสร้างอารมณ์เพลง ตรงนี้เป็นการเล่นกับอารมณ์คนฟังอย่างฉลาด เพราะว่าไม่ได้เร่งความหนักหน่วงขึ้นมาเลย คือใช้การตีคอร์ดเป็นการเน้นอารมณ์เป็นช่วง แต่ว่ามีการปูอารมณ์กลับไปสู่ช่วงเล่นอาร์เปจจิโอซึ่งเป็นส่วนหลักของเพลง ผ่านไปสี่นาทีเศษเสียงกลองจึงเข้ามา และเป็นการทำเพลงเข้าสู่ช่วงกลางเพลงที่หนักแน่นกว่าช่วงแรก
หลังจากจบเนื้อร้อง ก็จะเข้าสู่ท่อนอินเทอลูดเตรียมเข้าสู่ท่อนโซโลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไทม์ซิกเนเจอร์หลายครั้งแล้วกลับมาเป็น 4 /4 ในท่อนโซโลจะมีโมทีฟหลักย้ำให้คนฟังจำท่อนโซโล ท่อนนี้ได้ สิ่งที่งดงามอีกประการในเพลงนี้ก็คือท่อนโซโล่ซึ่งมีการวาง layer ของเสียงประสานกีต้าร์ได้ยอดเยี่ยมมาก และไปเร่งอารมณ์ในช่วงไคลแม็กซ์ที่ดึงอารมณ์แบบฮาร์ดร็อคในท่อนร้องท่อนสุดท้ายของเพลง
จะเห็นว่าเพลง “Stairway to Heaven” เป็นเพลงคลาสสิร็อกอีกเพลงที่มีความสง่างามในตัว โดยไม่ได้พึ่งท่อนคอรัสติดหูแต่มีการย้ำคีย์เวิร์ดของเพลงคือคำว่า “Starway to Heaven” บ่อยๆ ในช่วงท้ายของท่อนร้องถ้าฟังในแง่ของการเรียบเรียงดนตรีจะสังเกตได้ถึงคำว่า “รายละเอียด” เพราะว่าเพลงนี้จะซ่อนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีฟังผ่านๆ อาจจะไม่ทันได้สังเกตด้วยซ้ำ
แต่ว่า “สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ” นี่แหละ ที่สร้างความงามอมตะให้กับเพลงนี้
Update:
Stairway to Heaven Lawsuit และอ่านเรื่องราวของ Led Zeppelin ได้ที่ Zine โยกและคลึง
One thought on “Led Zeppelin: Stairway to Heaven”