Minuet ออกเสียง “มินนูเอ็ท” (อาจจะไม่ตรงนัก แต่ก็ใกล้เคียง) เป็นศัพท์ทางดนตรีหมายถึงดนตรีเต้นรำที่ค่อนข้างจะช้า แพร่หลายสมัยศตวรรษที่ 17 ในฝรั่งเศส
มินนูเอ็ทมีจุดเด่นว่าจะเขียนดนตรีโดยใช้ไทม์ซิกเนเจอร์ ¾ ซึ่งมักจะใช้ในท่อนที่สามของการบรรเลงเครื่องสายสี่ชิ้น (String Quartet) หรืออาจจะเป็นซิมโฟนี แต่ก็ไม่ได้เจาะจงตายตัวว่าจะต้องเป็นท่อนที่สามเสมอไป อาจจะเป็นท่อนที่สองหรือท่อนที่สี่ก็ได้
ที่นำมาบรรเลงนี้ เป็นการประพันธ์ของโยฮัน เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) เป็นท่อนบรรเลงที่อยู่ในหนังสือ สมุดโน้ตสำหรับแอนนา แมกดาเลนา บาค (Notebook for Anna Magdalena Bach) ซึ่งมีสองเล่ม แอนนา แมกดาเลนา บาคผู้นี้เป็นภรรยาคนที่สองของโยฮัน บทเพลงในสองเล่มนี้ ส่วนใหญ่ประพันธ์โดยโยฮัน แต่มีบางเพลงประพันธ์โดย คาร์ล ฟิลลิป เอมมานูเอล บาค (Carl Philipp Emanuel Bach) บุตรชายของเขา และมีบทประพันธ์ของมิตรสหายของครอบครัวบาคอยู่บ้าง
ขอแทรกเล็กน้อย คาร์ลผู้ลูกถือกันว่าเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานของดนตรีตะวันตกซึ่งต่อมาเรียกลักษณะดนตรีนั้นว่าคลาสสิคัล คือดนตรีที่เรียกรวมกันว่าคลาสสิคัลมิวสิกนั้น จริง ๆ เรียกว่ายูโรเปียน เทรดดิชันนัลมิวสิก ซึ่งแบ่งเป็นหลายยุค เช่นบาโรก ซึ่งโยฮันอยู่ในยุคสมัยนี้
เพลงนี้ไม่ยาก เพียงจับคอร์ดได้ถูกต้องก็ใช้ได้แล้ว เช่นในบาร์แรก จับคอร์ด G ไว้ก่อน ก็จะเล่นได้ บทเพลงจริงน่าจะมีความเร็วอยู่ที่ 150 BPM หรือช้ากว่านั้นเล็กน้อย แต่ที่เล่นนี้จะใช้ความเร็วที่ 134 ในโน้ตเพลงที่นำมาลง จะมีอยู่หนึ่งบาร์ที่ดึงความเร็วลงมาอยู่ที่ 80 ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องลดความเร็วลงมา และเวลาเล่นจริงก็น่าจะเร็วกว่า 80 (อาจจะอยู่ประมาณ 86 – 90) ที่ลดความเร็วลงมานี้ต้องการสร้างอารมณ์ให้แตกต่างเล็กน้อย แค่นั้นเอง
จุดสำคัญที่น่าศึกษาสำหรับเพลงนี้คือการวางโมทีฟ (motive) หรือวลีของเพลง ลองดูใน 8 บาร์แรกของเพลงนี้ จะเห็นว่าโยฮันวางวลีของเพลงไว้ที่ 2 บาร์ และมีการย้ำวลีนี้ตลอดเวลา เป็นตัวอย่างการสร้างความหลากหลายของวลีที่คลี่คลายอย่างเป็นระบบ รูปแบบดูเรชัน (duration – ระยะห่างของโน้ต) ยังคงมีแพ็ทเทิร์นคล้ายคลึงกัน