American Beauty ของ The Grateful Dead อารมณ์เปลี่ยวสไตล์คันทรีตะวันตก เสียงใสจากเครื่องดนตรีอคูสติก มีเมโลดี้ไลน์ (ถ้าในดนตรีเมทัลจะเรียกริฟฟ์) ตอกย้ำเป็นทางเดินทำนองโดดเด่น
กำลังอยู่ในอารมณ์ล่องลอย…
หมายถึงการปล่อยตัวตามสบาย ๆ ฟังเพลงเพลิน ๆ แล้วก็จิบน้ำชาอุ่น ๆ
เป็นอารมณ์พร้อมจะลื่นไหลไปกับเสียงที่ไร้จุดหมาย และเลือกหยิบเดอะเกรทฟูลเดดมาฟังแทนที่จะเป็นเดอะดอร์สเหมือนทุกคราว
ปกติไม่ค่อยฟังวงเกรทฟูลเดด เพราะไม่ค่อยต้องใจกับสไตล์ดนตรีของพวกเขามากนัก แต่บางอารมณ์ (อย่างวันนี้) เพลงแบบนี้มันเหมาะที่สุด!
แล้วเพลงแบบนี้มันเพลงแบบไหน? ตอบคลุมไปก็ต้องบอกว่าไซคีเดลิก แต่ถ้าขุดลึกลงไป ดนตรีของ เดอะเดดเริ่มต้นมาจากพวกจั๊กแบนด์ (Jug Band) วงที่เล่นตามแหล่งชุมนุมรื่นเริง ดนตรีก็จะเป็นดนตรีอคูสติกด้วยเครื่องดนตรีที่หาง่ายหรือว่าดัดแปลงมาเล่นเอง ส่วนใหญ่จะเล่นสคิฟเฟิล หรือคันทรี่ดิบ ๆ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มรวมตัวกันใหม่ ช่วงต้นทศวรรษ 60 เป็นช่วงที่บริทิชอินเวชันกำลังเบ่งบานเต็มที่ พวกเครื่องดนตรีไฟฟ้าทั้งหลายมาแรง แม้แต่อัครศิลปินโฟล์กอย่างบ็อบ ดีแลนยังหันเข้าหาเสียงอิเล็คทริก (และโดนด่าไปช่วงหนึ่ง ข้อหาทรยศอุดมการณ์โฟล์ก!)
ความหลากหลายเปิดกว้างในช่วงนั้น ทำให้ทิศทางดนตรีของเดอะเดดมีสำเนียงหลากหลาย คือทั้งร็อกแอนด์โรล โฟล์ก บลูกราส โดยที่ไม่ลืมรากเหง้าของตัวเองคือดนตรีคันทรี และนำไปสู่คำว่าไซคีเดลิกหัวแถวระดับตำนาน
วงเกรทฟูลเดดเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของยุคฮิปปี้ที่ยังคงจิตวิญญาณดั้งเดิมเอาไว้ตลอดเวลา พวกเขามีกลุ่มแฟนเพลงที่เรียกตัวเองว่าเดดเฮดส์ติดตามอย่างเหนียวแน่น และดูจะเป็นกันเองกับแฟนเพลง อย่างเช่น ถ้าแฟนเพลงอยากจะบันทึกเสียงการแสดงสด ก็เชิญตามสบาย จนถึงขนาดที่แฟนเพลงเอาไมโครโฟนตัวใหญ่เข้ามาบันทึกเสียงกันเป็นกิจจะลักษณะ ตอนหลังวางไมค์กันเกะกะสร้างความลำบากต่อเจ้าหน้าที่ทัวร์จึงมีการกันที่เอาไว้เป็นสัดส่วน และเมื่อมากเข้าก็เลยมีการออกบัตรพิเศษสำหรับคนที่จะบันทึกเสียงในบริเวณที่จัดไว้ เพื่อจำกัดคนที่จะเอาไมค์เข้าไปในบริเวณการแสดง แต่ถ้าใครใช้เครื่องบันทึกเสียงธรรมดาก็ทำได้โดยเสรี
หลายคนอาจจะคิดว่าพวกเขาคงไม่พิถีพิถันเรื่องระบบเสียงละสิ ถึงได้ปล่อยให้แฟนเพลงบันทึกเสียงได้ตามใจชอบ ต้องบอกว่าคิดผิดแล้วล่ะ เพราะเดอะเดดพิถีพิถันกับระบบเสียงในการแสดงสดของพวกเขามากจนกระทั่งหอบหิ้วเอาอุปกรณ์ระบบเสียง “เดอะวอลล์ออฟซาวนด์” ของตัวเองไปทุกที่ที่มีการแสดง
อัลบั้มเด่นของเดอะเดดมีหลายชุด แต่ที่เป็นที่ยอมรับกันมากในภายหลังก็คือ เวิร์กกิงแมนส์เดด กับ อเมริกันบิวตี งานสองอัลบั้มนี้ได้แสดงทิศทางดนตรีที่แตกต่างจากดนตรีในยุคไซคิเดลิกร่วมสมัยเดียวกันหลายอย่าง
วันนี้…ในอารมณ์แบบนี้ เลือกที่จะหยิบอเมริกันบิวตีผลงานลำดับที่ 5 ของพวกเขามาฟังประดับโสตประสาท เหตุผลไม่มีอะไรมากไปกว่า เพลง “เฟรนด์ออฟเดอะเดวิล” อันสุดแสนโปรดปรานอยู่ในงานชุดนี้!
The Grateful Dead
American Beauty
อารมณ์ดิบเถื่อนจากพวกนอกกฎหมายหรือไม่ก็พวกลัทธินอกรีตซาตานนิก ในอารมณ์เปลี่ยวสไตล์คันทรีตะวันตก เสียงใสจากเครื่องดนตรีอคูสติก มีเมโลดี้ไลน์ (ถ้าในดนตรีเมทัลจะเรียกริฟฟ์) ตอกย้ำเป็นทางเดินทำนองโดดเด่น แต่ในอัลบั้มดูจะเล่นเร็วกว่าที่พวกเขานำมาเล่นสด ซึ่ง…คิดว่าเล่นช้าแบบในการแสดงสดให้อารมณ์สุนทรีย์กว่านี้เยอะ เจอรี กราเซียถ่ายทอดอารมณ์คนเถื่อนร่อนเร่พเนจรไร้จุดหมายให้คนฟังคล้อยตามไปด้วย
เป็นความล่องลอยที่ขอให้ผ่านพ้นไปเถิด..
เพลงส่วนใหญ่ในงานชุดนี้รักษารากฐานโฟล์ก / คันทรีไว้เหนียวแน่น ตั้งแต่เพลงแรกของอัลบั้มคือ “บ็อกซ์ออฟเรน” บทเพลงที่เขียนให้กับผู้ล่วงลับ (ช่วงนั้นแม่ของเจอรี กราเซีย กับพ่อของ ฟิล เลช เสียชีวิตในเวลาห่างกันไม่มากนัก) ฟิล เลซซึ่งรับหน้าที่ร้องนำเป็นครั้งแรกถ่ายทอดอารมณ์ส่วนตัวในขณะนั้นออกมาได้อย่างเยี่ยมยอด แสนเศร้าแต่ไม่รันทดบีบคั้นฟูมฟาย
“โอเปอเรเตอร์” กลับคืนสู่คันทรี่ บลูส์ เสียงร้องของ รอน “พิกเพ็น” แม็คเคอร์นันดูจะอ่อนไปหน่อย ไม่ค่อยเข้ากับอารมณ์ของบทเพลง แต่เทียบกับการสร้างสีสันให้กับอัลบั้มแล้ว นี่คือสีสันของบทเพลงให้หลายหลาก
และเดอะเดดพาคนฟังก้าวผ่านเรื่องราวไปอีกหลายต่อหลายเพลง จนมาถึงเพลงสุดท้าย “ทรักกิง” ที่เนื้อหาแสดงถึงการเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ของวง การพบพานและการจากลา เอามาเปรียบกับการใช้ชีวิต เพียงแค่อยากให้คนรอบข้าง หรือใครก็ตามที่ผ่านเข้ามาพบกันมีแต่ความสุข สนุกรื่นเริง
Musician
- Jerry Garcia – guitar, pedal steel guitar on “Sugar Magnolia”, “Candyman”, and “Brokedown Palace”, piano on “Box of Rain”, vocals
- Mickey Hart – percussion
- Robert Hunter – lyricist
- Phil Lesh – bass guitar, acoustic guitar on “Box of Rain”, piano, vocals
- Bill Kreutzmann – drums
- Ron “Pigpen” McKernan – harmonica, vocals
- Bob Weir – guitar, vocals
Track Listing:
- “Box of Rain” (Robert Hunter, Phil Lesh) – 5:18
- “Friend of the Devil” (Jerry Garcia, John Dawson, Hunter) – 3:24
- “Sugar Magnolia” (Bob Weir, Hunter) – 3:19
- “Operator” (Ron McKernan) – 2:25
- “Candyman” (Garcia, Hunter) – 6:14
- “Ripple” (Garcia, Hunter) – 4:09
- “Brokedown Palace” (Garcia, Hunter) – 4:09
- “Till the Morning Comes” (Garcia, Hunter) – 3:08
- “Attics of My Life” (Garcia, Hunter) – 5:12
- “Truckin'” (Garcia, Lesh, Weir, Hunter) – 5:03