ถึงแม้ว่าจะมีภาพลักษณ์ติดตัวมาว่าเป็นวงฮาร์ดร็อกที่กร้าวแกร่งรุนแรง แต่ในระยะหลังจากริทชีแยกตัวออกไป ดีพเพอเพิลได้สร้างตัวเองมาในแนวร็อกสุขุมมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วในยุคแรกที่ ดีพเพอเพิลก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาก็ไม่ได้เป็นวงดนตรีที่รุนแรงแต่อย่างใด ยิ่งในสมัยที่ทำงานชุด คอนแชโตฟอร์กรุ๊ปแอนด์ออเคสตรา (Concerto for Group and Orchestra กับ the Royal Philharmonic Orchestra) ในปีค.ศ. 1969 นั้นแทบจะเรียกได้ว่าพวกเขาเกือบจะหันหัวเข้าไปสู่ดนตรีโปรเกรสซีฟเต็มตัวเสียด้วยซ้ำ แต่มากลับตัวในงานชุดอินร็อกที่สืบเนื่องต่อมาได้หันหัวเรือเข้าสู่ฝั่งฮาร์ดร็อกไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตามก็ต้องนับว่า คอนแชโตฟอร์กรุ๊ปแอนด์ออเคสตรา เป็นงานดนตรีก้าวหน้าที่นำเอาดนตรีร็อกมาหลอมรวมกับดนตรีเทรดดิชันนัลมิวสิกอย่างเป็นรูปธรรมได้เป็นครั้งแรกของวงการดนตรีร็อก และรอจนกระทั่งปีค.ศ. 1999 งานชุดนี้จึงกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เมื่อพวกเขาตัดสินใจแสดงสดกันที่เดอะรอยัลอัลเบิร์ตฮอลในวันที่ 25 – 26 กันยายน ค.ศ. 1999 ไม่รู้ว่าส่วนหนึ่งของการตัดสินใจที่จะบันทึกเสียงกันไว้เป็นเพราะว่าช่วงนั้นกระแสการทำงานร่วมกับวงออเคสตรากำลังมาแรงหรือเปล่า? แต่ว่ามันก็เป็นสิทธิ์โดยธรรมที่พวกเขาจะแสดงให้ประจักษ์ว่าพวกเขาเป็นวงดนตรีที่ทำแบบนี้มาก่อน นานนับ 30 ปีทีเดียว
เปิดฉากกันด้วยด้วยความสุขุมจากกลุ่มออเคสตรา สร้างเสียงนุ่มนวลจากท่วงทำนอง ไม่ได้มีลักษณะของความหนักหน่วงที่ติดมากับภาพลักษณ์ของพวกเขาเลย คนที่เป็นพระเอกของงานนี้ก็คือจอน ลอร์ดซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำงานร่วมกับวงออเคสตราเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 3 เพลงผ่านไปจะรู้สึก ราวกับว่าเขากำลังเปิดงานแสดงสด โดยมีเพื่อนพ้องในวงดีพเพอเพิลมาช่วย แล้วจุดเด่นของเพลงช่วงที่รอนนี เจมส์ ดีโอออกมาร้อง “ซิตติงอินอะดรีม” กับ “เลิฟอิสออล” ก็แทบจะขโมยซีนที่เหลือไปเลย
แต่ว่าหัวใจของการแสดงสดครั้งนี้อยู่ที่การนำเอา คอนแชโตฟอร์กรุ๊ปแอนด์ออเคสตรา ทั้ง 3 มูฟเมนต์กลับมาเรียบเรียงดนตรีกันใหม่ ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ถือว่าสมบูรณ์ คือการนำเสนอกันอย่างสมดุลระหว่างวงออเคสตรากับวงร็อกไม่ใช่เป็นการเอาวงออเคสตรามาเสริมบารมี อย่างที่งานชุดเอสแอนด์เอ็มของเมทัลลิกาเคยล้มเหลวในจุดนั้นมาแล้ว คือสำหรับงานชุดเอสแอนด์เอ็มต้องถือว่าใช้ของไม่คุ้มประโยชน์ แล้วก็ยังเรียบเรียงเพลงได้ไม่ถึงจุดที่ควรอย่างยิ่ง แต่ดีพเพอเพิล ได้สอดประสานไปด้วยกันอย่างน่าทึ่ง แต่ถ้าจะมองแบบให้เป็นธรรมกับเมทัลลิกาก็ต้องบอกว่า เพลงใน คอนแชโตฟอร์กรุ๊ปแอนด์ออเคสตราได้ทำออกมาเพื่อเล่นกับออเคสตราโดยตรง ก็เลยไปด้วยกันได้ แต่สำหรับเพลงของเมทัลลิกาไม่ได้ทำแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น จะจับบิดผันอย่างไรก็ลำบาก
และที่ถือว่าคุ้มที่สุดก็คือเพลงสุดท้าย “สโมกออนเดอะวอเตอร์” ที่ได้กลับมาพร้อมกับกลุ่มออเคสตราโดยไม่ทิ้งเค้าโครงเดิมเอาไว้ ถ้าคอนเสิร์ตไหนไม่มีเพลงนี้ดูจะไม่ใช่การแสดงของดีพเพอเพิล แต่เวอร์ชั่นนี้เป็นเวอร์ชั่นที่สนุกสนานมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้คุณซื้องานนี้ในรูปแบบดีวีดีมากกว่าเพราะว่าจะได้ระบบภาพและเสียงแตกต่างจากในวีซีดีพอสมควร