The Allman Brothers Band At Fillmore East
ชื่อเสียงของคลับฟิลมอร์สโด่งดังได้ด้วยตัวของบิล แกรห์ม (Bill Graham) โปรโมเตอร์คนดังที่มีสายตากว้างไกลและมีรสนิยมทางดนตรียอดเยี่ยม กลายเป็นเครื่องหมายรับประกันดีกรีความแกร่งกล้าของนักดนตรีไปโดยปริยาย เขาเปิดคลับฟิลมอร์ในซานฟรานซิสโก ในปีค.ศ. 1968 และมีวงดนตรีมากมายที่มาเปิดการแสดงและบันทึกเสียงเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็น แฟรงก์ แซปปา, จิมี เฮนดริกซ์, สเต็ปเพนวูล์ฟ เจฟเฟอสันแอร์เพลน เป็นต้น
ฟิลมอร์ส “Fillmores” เป็นพหูพจน์ เพราะมันหมายถึง “ฟิลมอร์เวส์ต”ในซานฟรานซิสโก กับ “ฟิลมอร์อีสท์” ในนิวยอร์ค ดังนั้นอย่าสับสนถ้าพูดถึงฟิลมอร์สจะหมายถึงทั้งสองที่รวมกัน

ดิออลแมนบราเธอร์สแบนด์ เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่มีโอกาสไปเล่นที่ฟิลมอร์สหลายครั้งหลายหน และแอ็ทฟิลมอร์อีสท์ก็กลายเป็นเป็นหนึ่งในงานที่มักได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของงานประเภทบันทึกการแสดงสด
ดิออลแมนบราเธอร์สแบนด์เป็นวงเซาท์เธิร์นร็อก ถ้าจะให้อธิบายลักษณะเซาท์เธิร์นร็อกอย่างง่ายที่สุด ก็คงต้องให้นึกถึงดนตรีบลูส์หนัก ๆ ผสมกับดนตรีคันทรี่ มักจะมีท่อนแจมและอิมโพรไวส์ยาวเหยียดแบบแจ๊ส ซึ่งวงดนตรีเด่นในสายนี้ได้แก่ลินเนิร์ดสกินเนิร์ดที่มีมือกีตาร์ถึงสามคนและร่วมประสานเข้ากันทำให้กลายเป็นเหมือนเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวงดนตรีในสายนี้ไป แต่วงดนตรีที่เป็นต้นกำเนิดคำว่าเซาท์เธิร์นร็อก น่าจะเป็นวงที่จะแนะนำในครั้งนี้ดิออลแมนบราเธอร์สแบนด์
ไม่ว่าออลแมนบราเธอร์สแบนด์จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การสร้างสรรค์หนทางบลูส์หนัก ๆ ฉีกตัวเองไปสู่หนทางที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน พวกเขาวางรากฐานริธึมหนาแน่น ใช้มือกลองสองคนสร้างริธึ่มหนาแน่น และจุดเด่นสำคัญคือฝีมือการเล่นสไลด์กีตาร์ของ ดวน ออลแมน (Duane Allman) ซึ่งเฉียบขาดมาก ด้วยความสามารถของสมาชิกแต่ละคน ทำให้พวกเขากลายเป็นวงดนตรีที่หลายคณะพยายามจะทำให้ได้แบบนี้ (แต่ก็ล้มเหลว)
งานนี้บันทึกเสียงการแสดงในคืนวันที่ 12 และ 13 มีนาคม ค.ศ. 1971 พวกเขาเลือกที่จะเปิดตัวอัลบั้มด้วย “สเตทส์โบโร บลูส์” ของ ไบล์ด วิลลี แม็คเทลล์ (Blind Willie McTell) ดวล ออลแมนโชว์ลีลาการสไลด์ กีตาร์ (ตั้งสายแบบโอเพนอี) เป็นเพลงบลูส์ที่เข้มข้นมาก เสียงสไลด์กีตาร์บาดหูได้ใจก่อนจะต่อกันด้วยเพลง “ดัน ซัมบอดี รองค์” และ “สตรอมี มันเดย์” ของ ทีโบน วอล์คเกอร์ (T-Bone Walker) ที่ยาวเหยียดกว่า 8 นาทีและ “ยู โดน’ท เลิฟ มี” กับความยาว 19 นาทีเศษ สี่เพลงนี้เป็นบลูส์เข้มข้นแรงจัด แถมพวกเขาเล่นกันอย่างไม่ออมมือ พวกรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พวกเขานำเสนอ และสอดประสานกันได้มันส์มาก
ช่วงต่อมาเขาก็หยิบเพลงของตัวเองมาเล่น “ฮอท ลันตา” เป็นเพียงแค่การอุ่นเครื่องเท่านั้น เพลงต่อมา “อิน เมโมรี ออฟ อิลิซาเบธ รี้ด” จะได้ฟังการรับส่งและแจมกันอย่างสนุกสนาน จังหวะจะโคนหยิบยืมลาตินและแจ๊สสไตล์ จอห์น โคลทรานมาเล่น ยิ่งเพลงสุดท้ายความยาวเกือบ 23 นาที “วิปปิง โพสท์” เปิดมาด้วยไทม์ซิกเนอเจอร์ 11/4 ที่ฟังแปลกหูดี เพลงนี้ได้เจอการดวลกีตาร์ระหว่าง ดวน ออลแมน กับ ดิกกี เบสต์ (Dickey Betts) โดยมีเสียงออร์แกนของ เกร็ก ออลแมน (Gregg Allman) เป็นตัวยืน เสียงกลองสอดประสานต่อเนื่องตลอดทั้งอัลบั้ม
งานชุดนี้มี 7 เพลง แต่ความยาวอัลบั้มปาเข้าไป 78 นาที ยิ่งถ้าต้องฟังแล้วจับรายละเอียดการเล่นของพวกเขาแล้วจะรู้สึกเหนื่อยมาก งานแสดงสดที่ทำได้ถึงอารมณ์แล้วก็ “ขลัง” ขนาดนี้มีไม่มาก นอกจากจะเป็นงานแสดงสดที่ยอดเยี่ยมชุดหนึ่งแล้ว ยังเป็นอัลบั้มที่วางรากฐานให้กับดนตรีเซาท์เธิร์นร็อกอีกด้วย
หมายเหตุ ในเพลง “ยู โดน’ท เลิฟ มี” เป็นการผสมการแสดงสองวันเข้าในเพลงเดียว คือช่วง 7 นาทีแรก มาจากการแสดงคืนวันที่ 13 มีนาคม ส่วนที่เหลือนับจากที่ ดวล ออลแมนโซโล่เดี่ยว นำมาจากการแสดงในคืนวันที่ 12 มีนาคม
The Allman Brothers Band – At Fillmore East
Capricorn, 1971
Produced by Tom Dowd
Line Up:-
- Duane Allman – Lead / Slide Guitar
- Gregg Allman – Organ, Piano & Vocals
- Dickey Betts – Lead Guitar
- Berry Oakley – Bass
- Jai Johanny Johanson – Drums/ Congas / Timbals
- Butch Trucks – Drums & tympani
Track List:
- “Statesboro Blues” 4:17
- “Done Somebody Wrong” 4:33
- “Stormy Monday” 8:44
- “You Don’t Love Me” 19:15
- “Hot ‘Lanta” 5:17
- “In Memory of Elizabeth Reed” 13:04
- “Whipping Post” 22:56