วันชาติอเมริกา…
มีอัลบั้มไหนที่จะแสดงความเป็นอเมริกา? ประเทศที่มีรัฐบาลกร่างได้น่าหมั่นไส้
เหตุการณ์ 9/11 (วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544) ที่มีเครื่องบินดิ่งเข้าชนอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ กับตึกเพนตากอนที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ มันกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ที่ผลักดันสงครามที่เมื่อก่อนเป็นสงครามที่มีขอบเขตชัดเจน ไปสู่สงครามที่มองไม่เห็นตัวคู่สงคราม
แต่แทนที่ท่านประธานาธิบดีจะรู้ตัว กลับกลายเป็นว่ายิ่งตอกย้ำไปในความรุนแรงสุดโต่งตามแบบนีโอ-คอนเซอเวทีฟอันมีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยเฉพาะการส่งทหารไปยึดอีรักอย่างไม่สนใจชาวโลก…
วาทะ “อยู่ข้างเราหรือเป็นศัตรูกับเรา” คงกระทบใจใครหลายคน
บางทีการเหลิงอำนาจและเมามัวในผลประโยชน์ของตัวเองก็ทำให้คนเราตัดสินใจทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร และผลของมันร้ายแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น
มันเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์อย่างหน้าด้าน และก่อให้เกิดการต่อต้านตัวท่านประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ กว้างขวาง ภาพยนตร์สารคดีเรื่องฟาเรนไฮต์ 9/11 จากผู้กำกับไมเคิล มัวร์ จับโศกนาฏกรรมวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 มาวิจารณ์นโยบายของท่านประธานาธิบดีแหลมคม
คิดว่าช่วงหลังคงจะไม่มีรัฐบาลประเทศไหนที่กร่างและอันธพาลได้มากไปกว่ารัฐบาลประเทศสหรัฐฯ อีกแล้ว ในทศวรรษ 80 อาจจะยังมีสหภาพโซเวียตคอยคานอำนาจเอาไว้ แต่ช่วงนั้นก็เป็นภาวะสงครามเย็นที่หลายคนหวาดระแวงว่าวันใดวันหนึ่งข้างหน้าอาจเกิดมหาสงครามปรมาณู อันจะทำให้เกิดหายนะไปทั่ว แล้ววันหนึ่ง จู่ ๆ สงครามเย็นก็ยุติลง กลายเป็นว่าสหรัฐผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ควรจะมีใครกล้าต่อกร
แต่เกิดกรณี 9/11 ขึ้นมาจนได้
เหตุการณ์อย่าง 9/11 มันสั่นสะเทือนจิตวิญญาณของอเมริกันทุกผู้ทุกนาม ไม่ใช่ว่าอเมริกาจะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพียงแต่ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันทำให้ชาวอเมริกันตระหนักว่า พวกเขาไม่ปลอดภัยในบ้านตัวเองอีกแล้ว
ถ้าจะหาอัลบั้มที่แสดงตัวตนของชาวอเมริกันได้ชัดเจนสักหนึ่งอัลบั้ม จะเลือกอัลบั้มไหน? คิดและคิดและคิด ก่อนตัดสินใจเลือกอัลบั้มบอร์น อิน เดอะ ยูเอสเอของ บรูช สปริงสทีน คำว่า “เกิดในยูเอสเอ” นี่คงสร้างความฮึกเหิมให้คนอเมริกันที่คิดว่าตัวเองเจริญกว่าคนอื่นทั่วโลกไม่น้อย
บอร์น อิน เดอะ ยูเอสเอมีอายุ 20 ปี พอดี เปิดอัลบั้มมาด้วยดวงวิญญาณที่แตกสลายของผู้คนในสังคมอเมริกัน “บอร์น อิน เดอ ยูเอสเอ” เพลงเปิดอัลบั้มแสดงจิตวิญญาณที่แตกสลายของผู้คนในสังคมอเมริกัน
Born down in a dead man’s town
The first kick I took was when I hit the ground
You end up like a dog that’s been beat too much
Till you spend half your life just covering up, now
Born in the U.S.A
ปีที่อัลบั้มนี้ออกมา (ค.ศ. 1984) อเมริกันยังฝังใจกับความพ่ายแพ้หมดรูปในสงครามเวียดนามช่วงต้นทศวรรษ 70 เป็นความทรงจำขมขื่นของสหรัฐ และเป็นฝันร้ายของใครหลายคน
He said “Son don’t you understand now”
I had a brother at Khe Sahn, fighting off the Viet cong
They’re still there, he’s all gone
สำหรับคนที่สูญเสียคนในครอบครัวไปกับสงครามที่นึกไม่ออกว่าเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร มันคงเป็นเรื่องชวนให้หดหูใจไม่น้อย เพลงร็อกจังหวะหนักแน่นจากเสียงร้องทุ้มของบรูซบอกเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากสงครามและฝังรอยในความทรงจำอันขมขื่น
มันเป็นเนื้อหาที่ปรับมาจากความพ่ายแพ้หมดรูปของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามช่วงต้นทศวรรษ 70 กลับกลายเป็นความทรงจำอันขมขื่นของสหรัฐฯ และเป็นฝันร้ายของใครหลายคน เพลงร็อกจังหวะหนักแน่นจากเสียงร้องทุ้มนุ่มของบรูซ สปริงสทีน บอกเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากสงครามและฝังรอยในความทรงจำอันขมขื่น แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองบางคนที่ดำรงตำแหน่งในระดับสูงหลงลืมไป
หลายเพลงดูเหมือนจะหมดใจกับคำว่า “ความฝันของอเมริกัน” (American’s Dream) อย่างเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่มีความฝันใน “ดาร์ลิงตัน เคาน์ตี้” ที่สุดท้ายก็ดูเหมือนจะหมดแรงอ่อนล้า
We drove eight hundred miles without seeing a cop
We got rock and roll music blasting off the T-top singing
แต่บรูซ สปริงสทีนยังมั่นคงในความเป็นอเมริกันของเขาอยู่มาก ดังเช่นเพลง “โน เซอร์เรนเดอร์”
We made a promise we swore we’d always remember
No retreat, baby, no surrender
เพลงนี้ให้กำลังใจกับผู้คน บางทีระหว่างการใช้ชีวิตของแต่ละคนมันอาจจะเหนื่อยบ้างเป็นบางเวลา แต่สิ่งที่เดอะบอสบอกก็คือ เหนื่อยได้แต่อย่ายอมจำนน บางทีระหว่างนั้นเขาอาจจะต้องเจออะไรที่เหนื่อยใจมามากมายกว่าที่คิดก็ได้ อย่างในเพลง “คัฟเวอร์ มี” ที่ว่า
This whole world is out there just trying to score
I’ve seen enough I don’t want to see any more,
ก็ดูจะเป็นเพลงไม่ตกยุคสมัย เขาบอกเพียงว่าต้องการใครสักคนไว้คอยแบ็คอัปให้ระหว่างที่กำลังเจอปัญหา หวังว่าจะมีใครสักคนเป็นที่พึ่งพิงทางใจ และฝันถึงสิ่งที่จะดีขึ้น เป็นความฝันของอเมริกันที่บอกว่าทุกคนจะได้สิ่งที่ต้องการในอเมริกา ซึ่งดูเหมือนกว่ากว่าจะได้อย่างที่ต้องการมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่าง “เวิร์กกิง ออน เดอะ ไฮเวย์”
Friday night’s pay night guys fresh out of work
Talking about the weekend scrubbing off the dirt
Some heading home to their families some gone looking to get hurt
Some going down to Stovell wearing trouble on their shirts
ขณะเดียวกันก็ยังไม่ลืมว่าเพลงฮิตของอัลบั้มนี้ “แดนซิง อิน เดอะ ดาร์ก” ได้แสดงศักดานุภาพของฝีมือนักดนตรีอี-สตรีทแบนด์ให้ประจักษ์ ความเร้าใจและความมันส์ที่บังเกิด เป็นเพราะฝีมือของวงดนตรีคู่บารมีของเขาด้วย
ถึงแม้ว่าจะมีชื่อของ ลิดเติ้ล สตีเวนแถมยังควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ของงานชุดนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สตีเวน แวนเซนด์ได้ถอนตัวจาก อี สตรีทแบนด์ไปแล้วตั้งแต่ตอนทำงานในสตูดิโอเพื่อเอาเวลาไปใส่ใจกับการทำงานเดี่ยวของเขาให้มากขึ้น แต่กว่าจะประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ ก็เมื่ออัลบั้มออกมาแล้ว (คนที่เข้าไปเล่นกีตาร์แทนก็คือ ไนลส์ ลอฟเก็น)
เดอะบอสเขียนเพลงเพื่ออำลาเพื่อนเก่าที่คบหากันมานาน (ร่วมงานกันมาตั้งแต่ทำวงสตีลมิลในช่วงปีค.ศ. 1969 – 1970) ชื่อเพลง “บ็อบบี จีน”
Well if you do you’ll know I’m thinking of you and all the miles in between
And I’m just calling one last time not to change your mind
But just to say I miss you baby, good luck goodbye, Bobby Jean
จุดเด่นที่สุดของงานชุดนี้ก็คือ มันเป็นงานที่แสดงถึงจิตวิญญาณของอเมริกันในระดับล่างถึงระดับกลาง อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ดีที่สุด สิ่งที่งานชุดนี้นำเสนอ ไม่ใช่ชีวิตของคนในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กซิตี้ แต่เป็นคนจากเมืองทั่วไป และเป็นเพลงของยุคสมัยที่แตกสลายไปกับเรื่องราวอันโหดร้ายในอดีต แต่ก็ยังมีความภาคภูมิใจแฝงอยู่ตลอดเวลา บทเพลงมันออกจะเป็นร็อกทั่วไป แต่เขาแสดงให้เห็นว่าเขามีความสามารถในด้านการเขียนเนื้อเพลงเล่าเรื่องได้ดีมาก อีกทั้งมีความลึกซึ้งในมุมมองต่อสังคม ทำให้หลายคนยกย่องเขาแทบจะไม่ต่างไปจากที่ยกย่อง บ็อบ ดีแลน
คงจะไม่เกินเลยไป หากจะบอกว่า บอร์น อิน เดอะ ยูเอสเอ เป็นงานที่สะท้อนถึงคนอเมริกันได้ดีที่สุด
The E Street Band :-
- Steven Van Zandt Guitar, Mandolin, Vocals
- Garry Tallent Bass, Horn, Vocals
- Danny Federici Organ, Piano, Glockenspiel, Keyboards, Vocals
- Clarence Clemons Percussion, Saxophone, Vocals
- Roy Bittan Synthesizer, Piano, Keyboards, Vocals
- Max Weinberg Drums, Vocals
Additional Musician
Richie Rosenberg Trombone
La Bamba Vocals
Ruth Jackson Vocals
Track List :-
- “Born in the U.S.A.” 4:39
- Cover Me 3:26
- Darlington County 4:48
- Working on the Highway 3:11
- Downbound Train 3:35
- I’m on Fire 2:36
- No Surrender 4:00
- Bobby Jean 3:46
- I’m Goin’ Down 3:29
- Glory Days 4:15
- Dancing in the Dark 4:01
- My Hometown 4:33