ฟังเพลงในแวดวงเมทัลสมัยนี้แล้วรู้สึกขัดอกขัดใจเป็นอย่างมากตรงที่ไม่ค่อยจะมีท่อนโซโล่เฉียบคมให้ได้ยินอย่างเต็มอิ่ม ก็เป็นเพราะทัศนคติของยุคสมัยนี้มันไม่ได้เน้นไปในทางโซโลเสียแล้ว เน้นไปในทางริธึมเร้าใจเสียมากกว่าด้วยจังหวะขัด ๆ กระตุก ๆ เลยต้องละวางไปหางานเมทัลเก่า ๆ มาฟัง
เก่า ๆ ที่ว่า คืองานเมทัลช่วงทศวรรษ 80 อาจจะดูเหมือนเป็นปีแห่งสีสันฉูดฉาดบาดตาสำหรับวงการดนตรีเมทัลด้วยเหล่าแกล็มและแฮร์แบนด์ แต่อีกด้านที่เจิดจรัสไม่แพ้กันคือมันเป็นยุคบ้าฝีมือ…โดยเฉพาะกีตาร์ ที่มีคำว่า เชรดเดอร์ – shredder กำกับให้รู้ว่าพวกนี้คือระดับเซียนเหยียบเมฆ
คือเปิดทศวรรษ 80 ด้วย เอ็ดดี แวน เฮเลน ที่นำเอาเทคนิคแท็ปปิ้ง กับความขยัยปั่นสายมาเขย่าหัวใจคนฟัง แล้วยังมี อิงเว เจ มาล์มสทีน เปิดฉากนีโอคลาสสิคัลตามมาอีก ยิ่งได้จอมเทคนิคอย่าง สตีฟ ไว มาช่วยกระตุ้น ยิ่งทำให้มือกีตาร์ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนคนเจริญรอยตาม…
ความบ้าทฤษฎีต่าง ๆ ก็ประดังเข้ามาทำให้โรงเรียนสอนดนตรีอย่างจีไอที (Guitar Institute of Technology ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Music Institute) โด่งดังมากในยุคนั้น มือกีตาร์มากมายผ่านการฝึกฝนจากจีไอทีด้วยความฝันอยากเป็นร็อกสตาร์
บริษัทแผ่นเสียง ค่ายเพลงสำหรับผลิตเหล่ายอดฝีมือกีตาร์ก็ผุดขึ้นหลายแห่ง ที่เด่นก็เห็นจะเป็น เชปเนลเร็คคอร์ด (Shapnel Records) ของ ไมค์ วาร์นีย์
ไมค์ วาร์นีย์ เคยเป็นนักดนตรีมาก่อน เขาเป็นมือกีตาร์ให้กับเดอะนันส์ช่วงปีค.ศ. 1978 ตอนนั้นเดอะนันส์ยังเป็นวงพังก์ร็อก แต่หลัง ๆ ออกไปทางกอธิกร็อกร็อกเสียมากแล้ว แต่หลังจากเป็นมือกีตาร์ได้ประมาณ 1 ปี เขาก็ออกมาทำงานเบื้องหลัง และตั้งบริษัทเชปเนลเร็คคอร์ดในปี ค.ศ. 1980 (อายุแค่ 22 ปีเท่านั้น) และสองปีหลังจากก่อตั้งบริษัทเขาก็มาเขียนคอลัมน์สปอตไลท์ลงในนิตยสารกีตาร์เพลเยอร์
คอลัมน์สปอตไลท์นี้เองที่เป็นจุดแจ้งเกิดให้กับมือกีตาร์หลายต่อหลายคน เพราะเขาจะรับเอาเดโมจากทุกสารทิศมาฟัง ถ้าใครฝีมือเยี่ยมก็จะเขียนถึง ยิ่งเขามีบริษัทเป็นของตัวเองที่ผลักดันมือกีตาร์อยู่แล้ว ทำให้มีมือกีตาร์หลายคนได้รับการผลักดันจากเขา
และที่แนะนำให้ลองฟังในครั้งนี้ก็เป็นผลผลิตอันน่าภาคภูมิใจของ ไมค์ วาร์นีย์
เขาแนะนำให้โลกได้รู้จักกับสองยอดฝีมือกีตาร์รุ่นเยาว์ (ในตอนนั้น) ในนามคาโคโฟนี (Cacophony) วงนี้มีมือกีตาร์อายุ 17 – 18 ที่กำลังรุ่งโรจน์สองคนคือ มาร์ตี ฟรีดแมน กับ เจสัน เบ็กเกอร์
ทั้งคู่มีฝีมือการสะกดเส้นลวดหกสายให้เชื่องมือไล่เลี่ยกัน แต่มาร์ตี ฟรีดแมน ดูจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงมากกว่าไม่ว่าจะเป็นการดูแลการผลิตและการประพันธ์เพลง อาจจะเป็นเพราะว่าเขามีประสบการณ์มากกว่าเคยร่วมงานกับวงดนตรีมายาวนานตั้งแต่วงฮาวายในตอนต้นทศวรรษ 80
ดนตรีของคาโคโฟนีออกมาในท่วงทำนองรุนแรงสไตล์สปีดเมทัล แต่ยังคงความสวยงามของท่วงทำนองกับความไหลลื่นของเสียงดนตรี โดยเฉพาะกีตาร์ที่มีความสลับซับซ้อน ต้องอาศัยเทคนิคและความสามารถส่วนบุคคลค่อนข้างสูง
ที่น่าทึ่งคือภาคการเรียบเรียงเสียงประสาน พวกเคาเตอร์พอยท์ชวนปวดประสาททั้งหลายแหล่ พวกเขาทำมันออกมาได้อย่างกลมกลืน ไม่ไร้ทิศทางอย่างชื่อวง (คาโคโฟนี แปลว่าเสียงอึกทึกครึกโครมโกลาหล) หลายเพลง (อย่างเช่น “นินจา”) ยังใช้สเกลแปลก ๆ เพื่อให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากวงดนตรีเมทัลทั่วไป
ในเพลง “เดเซิร์ท ไอสแลนด์” ค่อนข้างแรง และไม่น่าแปลกใจเลยที่ต่อมามาร์ตีย้ายไปร่วมงานกับเมกาเดธเสียงร้องของ ปีเตอร์ มาริโน พยายามอย่างยิ่งที่จะโหนเสียงให้สูงและทรงพลัง เพื่อที่จะต่อกรกับเสียงกีตาร์อันเอะอะโครมครามของคู่กีตาร์ แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ค่อยได้รับเครดิตเท่าไหร่นัก
ก็เป็นธรรมดาของงานที่มีมือกีตาร์เป็นจุดเด่นและตั้งใจจะขายกีต้าร์โดยเฉพาะ ขนาดหน้าปกยังเป็นภาพคู่ของมือกีตาร์เลย
และมันคือจุดขายที่ขายได้ อย่างในเพลง “คอนแชร์โต” คือการปะทะกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยของยอดฝีมือกีตาร์ที่วางชั้นเชิงการเรียงเรียงเสียงประสานแบบคลาสสิค ที่มีการไล่กันอย่างงดงาม เล่นกันเร็วแต่สะอาด
และอีกหลายเพลงจะมีลีลาการสอดประสานกันระหว่างกีตาร์สองตัวให้ฟังกันเต็มอิ่ม แต่ถ้าจะเอาเพลงติดหูง่ายก็คงต้องยกให้ “เดเซิร์ท ไอสแลนด์” ที่มีคอรัสติดหูง่ายมาก ท่อนริฟฟ์ก็เหมือนกัน
แต่จุดด้อยของงานชุดนี้คือภาคริธึม อย่างกลองที่ค่อนข้างธรรมดาไปนิดนึง แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหายมากนัก เพียงแค่ทำให้เพลงมันดูธรรมดาไปหน่อยเหมือนกับเพียงแค่คุมจังหวะเท่านั้น ส่วนเสียงเบสจากฝีมือการเล่นของมาร์ตี ฟรีดแมนยังไม่มีลูกเล่นเท่าไหร่ มีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แทรกเข้ามาในบางช่วง แต่ส่วนใหญ่เดินบีทคุมตามกีตาร์เสียมากกว่า
หลังจากที่ร่วมงานกันได้สองอัลบั้มคืองานชุดนี้กับ โก ออฟ (Go Off!!) ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดมากนัก มือกีตาร์ทั้งสองคนก็ตัดสินใจแยกทางกันเดิน มาร์ตี ฟรีดแมน ไปร่วมหัวจมท้ายกับ เมกาเดธยอดวงแธรชระดับหัวแถว เจสัน เบ็กเกอร์ ไปเป็นขุนขวานข้างกาย เดวิด ลี ร็อธ แทนที่ สตีฟ ไว ซึ่งอนาคตดูค่อนข้างจะสดใสเอาการ แต่ทว่าน่าเสียดายที่หลังจากร่วมงานกับเดวิด ลี ร็อธ ได้ไม่นาน เขาก็เริ่มมีอาการป่วยเกิดขึ้น และมันรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถเล่นกีตาร์ได้
ซึ่งอาการนั้นเริ่มปรากฏตั้งแต่ตอนบันทึกเสียงงานชุด อะ ลิตเติล เอนท์ อีนัฟ (A Little ain’t Enough) แล้ว นั่นเป็นเหตุผลให้เดวิด ลี ร็อธต้องพึ่งพา สตีฟ ฮันเตอร์ มือกีตาร์รุ่นเก๋าที่เคยร่วมงานกับอลิซ คูเปอร์ ยุครุ่งเรืองมาช่วยประคับประคอง
กระทั่งทุกวันนี้เขาต้องนั่งอยู่บนรถเข็นและไม่สามารถเล่นกีตาร์ได้อีกต่อไป… ทิ้งไว้เพียงช่วงเวลาหนึ่งให้คิดถึงเวลาฟังงานในอัลบั้มนี้
Line Up:
- Marty Friedman: guitar, bass
- Jason Backer: guitar
- Peter Marrino: Vocal
- Atma Anur: drums
Track List:
- Savage (05:48)
- Where My Fortune Lies (04:32)
- The Ninja (07:24)
- Concerto (04:37)
- Burn The Ground (06:50)
- Desert Island (06:24)
- Speed Metal Symphony (09:32)