หลายคนเคยปรารภว่าวงการดนตรีมันมีเสน่ห์แปลก ๆ ชื่อเสียงเป็นสิ่งหอมหวาน ใครที่เคยลิ้มรสก็อยากจะลองลิ้มต่อไปนาน ๆ คนเคยเป็นซูเปอร์สตาร์ก็ไม่อยากสูญเสียสถานะนั้นไป ด้วยเหตุนี้วงดนตรีหลายคณะที่แตกแยกกันไปจะกลับมารวมตัวกันอีก ด้วยเหตุว่ารวมกันเราอยู่ แยกออกจากหมู่ไม่รอดสักราย อย่างเช่นอัลบั้มใหม่ของบริตนีฟ็อกซ์ชุดนี้มาอยู่ในมืออย่างมึนงงเล็กน้อย เพราะไม่คิดว่าจะกลับมารวมตัวกันอีก
บริตนีฟ็อกซ์เป็นอีกวงหนึ่งที่ฉวยโอกาสแจ้งเกิดช่วงที่แฮร์แบนด์กำลังเจริญเติบโต แล้วพอถึงกาลเวลาที่แฮร์แบนด์ล่มสลาย บริตนีฟ็อกซ์ก็สาบสูญไปในเวลาใกล้เคียงกัน ห่างหายนานเกือบ 12 ปี ก่อนจะมาสู่งานชุดนี้พวกเขาออกงานประเภทรวมฮิต (ซึ่งไม่ค่อยจะมี) และงานแสดงสดมาเรียกน้ำย่อยกันก่อนเล็กน้อย ทำให้แน่ใจได้ว่าพวกเขาคงไม่หวังโอกาสประสบความสำเร็จแบบเดิมอีก
ในอดีต อัลบั้ม บริตนีฟ็อกซ์ (1988) ขายได้มากเกือบล้านแผ่น แต่ลักษณะงานที่ออกมาในงานชุดนั้นดันไปคล้ายซินเดอเรลลากับเอซี/ดีซีมากไปหน่อย (ซึ่งจะว่าไปแล้วอัลบั้มแรกของซินเดอเรลลาก็คล้ายเอซี/ดีซี อยู่เหมือนกัน) ถ้าฟังแบบไม่คิดอะไรมากมายนัก เอาแค่กีตาร์กระแทกริฟฟ์ดิบ ๆ แบบนี้ยังคงเป็นที่น่าสนใจอยู่ไม่คลาย แต่สำหรับงานแรกในรอบ 12 ปี และเป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 นี้คาดว่าหลายๆคนที่เคยเติบโตในยุคแฮร์แบนด์ครองเมืองก็คงไม่ได้คาดหวังอะไรกับพวกเขามากนัก

สมาชิกที่มาร่วมงานในชุดนี้เป็นสมาชิกก่อนแตกวงกันไป หัวหอกก็ยังคงเป็นไมเคิล เคลลี สมิธมือกีตาร์เหมือนเคย โดยได้ ทอมมี ปารีสนักร้องนำเป็นคู่หูที่มีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งเพิ่งเข้าร่วมในอัลบั้มลำดับสาม ไบต์ดาวน์ฮาร์ด ก่อนแยกวง ส่วนมือเบสยังคงเป็นบิลลี ไชลดส์ และจอห์นนี ดี เป็นมือกลอง ซึ่งร่วมวงมาตั้งแต่อัลบั้มแรก
เห็นภาพไมเคิล เคลลี สมิธยังไว้ผมยาวเหมือนเดิมแต่หน้าตาเหี่ยว ๆ หดหู่ยังไงพิกล ส่วนคนอื่นตัดผมกันไปหมดแล้วดูเด็กกว่าเยอะ สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงก็คือความกระด้างที่เพิ่มมากขึ้นในเพลง “เพน” อันหนักหน่วงกว่าที่เคย แม้ว่าสไตล์การเล่นริฟฟ์แบบนี้ยังคงเหมือนเดิมที่เคยเป็นมาก็ตาม แต่เพลงที่ตามต่อมากลับไม่ได้ต่อเนื่องในจุดนี้ “ฟรีกทาวน์” ดูจะเป็นเพลงที่ธรรมดาเกินไป เหมือนกับว่าเพลงแรก (“เพน”) ได้จุดเครื่องให้ร้อนแล้ว แต่ไม่ยอมต่อเนื่อง กลายเป็นเพลงเบาและมีเมโลดิกมาคั่น ค่อนข้างจะดาด ๆ เสียด้วยซ้ำ “ที.แอล.ยู.ซี. (ฟอร์ ยู)” ยังคงมีความโดดเด่นจากฝีมือการกระแทกริฟฟ์ของไมเคิลอยู่ สำหรับ “สปริงเฮดมอเดตอร์ชาร์ก” เป็นเพลงบรรเลงที่ทำไลน์ประสานได้ค่อนข้างดีกว่าที่คิด และดีกว่า “กูเดตา” เพลงบรรเลงอีกเพลงที่เป็นท่อนโซโล่นำเข้าเพลง “ฟาร์ อีนัฟ”
สิ่งที่ชัดเจนมากคือพวกเขาหันไปพึ่งพาเสียงคีย์บอร์ดเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่าที่จำได้เมื่อก่อนพวกเขาจะไม่พึ่งพาเสียงคีย์บอร์ดหรือเปียโนอย่างที่เป็นในงานชุดนี้ ในหลายๆเพลง อย่าง “แอลเอ” และ “โลนลี วันส์” เป็นเพลงบัลลาดที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก แล้วเสียงคีย์บอร์ด เสียงซินธ์ เสียงเปียโนที่นำเข้ามาผสมนี้ฟังแล้วดูเหมือนว่าไม่มีก็ได้ เพราะลองดูที่พวกเขาผ่อนคลายในเพลง “อิส อิท เรียล” เป็นอคูสติกกลับทำได้ดีอย่างน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับหลายเพลงในงานชุดนี้ส่วนเพลงที่เหลือน่าผิดหวัง
ส่วนใหญ่กลายเป็นเพลงมิดเท็มโป ออกจะสุขุมเหมาะสมกับวัยอันแท้จริงของแต่ละบุคคล ในส่วนของการประพันธ์เพลงทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ถือว่าอัลบั้มชุดนี้อยู่ในเกรด B+ ก็แล้วกัน คือฟังได้ในระดับดี สำหรับคนที่เคยฟังเพลงสมัยแฮร์แบนด์รุ่งเรือง แต่อาจจะไม่ถูกใจคนที่เกิดไม่ทันยุคนั้น
Britny Fox: Springhead Motorshark
Released: 2003
Label: Spitfire
Produced by: Tommy Paris & Michael Kelly Smith.
Running time: 43:38
Track Listing:-
- Pain
- Freaktown
- T. L. U. C. (For You)
- L A
- Springhead Motorshark mp3
- Is It Real?
- Coup D’etat
- Far Enough
- Lonely Ones mp3
- Memorial
- Sri Lanka
Line-Up:
- Tommy Paris: lead vocals, guitar
- Michael Kelly Smith: lead guitar
- Johnny Dee: drums
- Billy Childs: bass
One thought on “Britny Fox: Springhead Motorshark”