Dokken: Hell to Pay
ค่อนข้างจะชอบงานดนตรีเมทัลจากทศวรรษ 1980 มากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่วงดนตรีคณะไหนในยุคนั้นกลับมาออกงานแล้วจะชอบแบบไม่ลืมหูลืมตา อย่างเช่นงานของด็อกเคนที่กำลังจะเขียนถึงนี้เป็นต้น มันช่างเป็นงานชวนสังเวชใจกับอีกหนึ่งไดโนเสาร์ที่ยังไม่ยอมไปผุดไปเกิด
ด็อกเคนเป็นวงดนตรีร่วมกระแสแกล็ม/แฮร์เมทัลในทศวรรษ 80 ถ้าพูดถึงด็อกเคนก็จะมักหมายถึง ดอน ด็อกเคน (ร้องนำ), มิก บราวน์ (กลอง), เจฟฟ์ ฟิลสัน (เบส) และจอร์จ ลินซ์ (กีตาร์) สี่คนนี้คือคลาสสิกไลน์อัปอันกระเดื่องดังในฃ่วงต้นทศวรรษพวกเขาไปมีชื่อเสียงในแถบยุโรปและญี่ปุ่นมากกว่าในอเมริกาดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง จนมาปลายทศวรรษ 80 ถึงค่อยมีชื่อเสียงในอเมริกาบ้าง วงนี้มีจุดเด่นตรงที่ทำเพลงบัลลาดค่อนข้างจะหวาน แล้วก็มีเสียงกีตาร์ดุดันทรงพลังคอยเสริมทัพ ถึงแม้เพลงจะไม่โหดไม่ห้าวมากนัก แต่ก็ร็อกกันมันส์เอาการคณะหนึ่ง
แต่พอหลังงานชุด แบ็กฟอร์ดิแอ็ทแท็ก อันสุดแสนคลาสสิคแล้ว ดันมีปัญหากันเอง โดยเฉพาะดอนกับจอร์จจนต้องแยกไปคนละทางและไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะเจอเข้ากับยุคกรันจ์ครองเมือง ถึงแม้ว่าทั้งสี่จะมารวมตัวกันทำงานในชุด ดิสฟังก์ชันนัล ก็ดูเหมือนว่าจะโดนด่ามากกว่าเสียงชื่นชม แถมปัญหาส่วนตัวปะทุจนต้องแยกย้ายกันไปอีกหน ด็อกเคนมีโอกาสรับมือกีตาร์ฝีมือดีอย่างเร็บ บีช (อดีตมือกีตาร์ฝีมือฉกาจที่ฝากฝีมือไว้กับ วิงเกอร์วงป็อปเมทัลที่โด่งดังในช่วงปลายยุค 80) กับจอห์น โนรัม (อดีตมือกีตาร์ที่โด่งดังมากับวงยุโรปที่มีชื่อเสียงมากเช่นกันในทศวรรษ 80) แต่ก็ไม่รอด
จนปีนี้กลายเป็นว่าด็อกเคนแตกแยกเป็นสองสาย คือเจฟฟ์ ฟิลสันกับจอร์จ ลินซ์ไปร่วมมือกันทำงานในนามลินช์/ฟิลสัน ส่วนดอนกับมิกยังตั้งหน้าตั้งตาทำงานในนามด็อกเคนกันต่อไป ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งมือกีตาร์เป็นของจอห์น เลวินอดีตมือกีตาร์วงวอร์ล็อก ส่วนมือเบสเป็นของเบอร์รี สปาร์ก ซึ่งเคยเล่นกับอิงเว มาล์มสทีนมาก่อน
แต่ทั้งฝั่งลินช์/ฟิลสันกับด็อกเคนทำดนตรีออกมาได้อารมณ์เดียวกัน คือเหนื่อย ๆ หนืด ๆ ผิดปกติ คล้ายกับพยายามกลับไปหาซาวนด์สุดคลาสสิกสมัยที่ตัวเองกำลังดังแต่ทำไม่ได้ เพราะปัจจัยต่าง ๆ มันไม่ใช่แล้ว พวกเขาพยายามที่จะผสมผสานในสิ่งที่ไม่ลงตัว ในขณะที่การกลับไปทำงานแบบเก่าก็อ่อนล้า ไม่สดอย่างที่พวกเขาเคยทำได้ ในอัลบั้มจะมีเพลงเด็ดพอประโลมใจได้สัก 2 – 3 เพลง แล้วที่เหลือมันไม่ค่อยจะดึงดูดใจเพียงพอ
แต่งานนี้จะว่าไปมันก็ดีกว่างาน ดิสฟังก์ชันนัล อยู่มากทีเดียว เพียงแต่ว่าถ้าจะเอาไปเทียบกับงานสมัยที่พวกเขารุ่งเรืองอย่างสมัยแรกคงไม่ได้ ยังห่างไกลอยู่หลายกิโลเมตร เปิดอัลบั้มกันด้วยบทเพลง “เดอะลาสต์กู้ดบาย” ที่มีกลิ่นอายของดินแดนตะวันออกมาเชียว เป็นเพลงมิดเท็มโป้ที่ทำได้ดีเอาการ ส่วนท่อนคอรัสยังคงเป็นแบบเดิมอันเป็นเอกลักษณ์อันคุ้นหูแฟนเพลง ส่วน “ดอนท์บริงมีดาวน์” นี่เข้าไปสู่รูปแบบด็อกเคนเดิม ๆ ที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี เสียงกีตาร์ของจอน เลวินนี่ใช้ได้เลย สร้างกรูฟได้มันส์ถึงอารมณ์ดี อย่างเช่นเพลง “โปรแซ็กเนชัน” ประมาณนี้ได้เลย
สำหรับเพลงบัลลาดที่เป็นจุดขายของพวกเขามาโดยตลอด ในงานนี้ก็มี “แคร์ฟอร์ยู” มาสองเวอร์ชั่น แต่ก็ธรรมดาเกินไป ถ้าหากจะเอาไปเทียบกับเพลงบัลลาดของพวกเขาในอดีต มันกลายเป็นบัลลาดที่ธรรมดาไม่ได้หวานซึ้งตรึงใจอย่างสมัยก่อน ลองกลับไปเอาเพลง “อะโลนอะเกน” สุดฮิตของพวกเขามาเปิดฟัง เผื่อตัวเองจะตายด้านจนอคติกับพวกเขามากเกินไป ปรากฏว่าเพลง “อะโลนอะเกน” ก็ยังคงเป็นเพลงที่มีความไพเราะอยู่เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา แล้วเสน่ห์ของด็อกเคนหายไปไหน ?
ครึ่งแรกของอัลบั้มชุดนี้เรียกความสนใจจากแฟนเพลงเก่า ๆ ได้ดีแน่นอน แต่ครึ่งหลังของอัลบั้มเข้าข่ายอ่อนล้าและเหนื่อยยังไงบอกไม่ถูก การทำเพลงมิดเท็มโป้ต่อเนื่อง โดยที่ไม่อาจสร้างสีสันของบทเพลงได้ดีเท่าที่ควร เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีความสร้างสรรค์ให้ติดตามจนตาเบิ่งโพลงได้เลย
สรุปสั้นๆ “งานที่น่าผิดหวังพอประมาณ”
Line Up:-
- Don Dokken – Vocals
- Jon Levin – Lead & Rhythm guitar
- Barry Sparks – Bass
- Mick Brown – Drums
Track listing
- “The Last Goodbye”
- “Don’t Bring Me Down”
- “Escape”
- “Haunted”
- “Prozac Nation”
- “Care for You”
- “Better off Before”
- “Still I’m Sad”
- “I Surrender”
- “Letter to Home”
- “Can You See”
- “Care for You” (Unplugged)
แบ่งปันสิ่งนี้:
ใส่ความเห็น ยกเลิกการตอบ
This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.