เมื่อเดอะมานิกส์เสียจริตในไลฟ์บลัด
So god is dead like Nietzsche said
Only sixteen years of age he said
See all the tears for the walking dead
พระเจ้าตายแล้ว! เดอะมานิกส์วิกลจริต!
หลังจาก โนว์ยัวร์เอเนมี ทำให้ฉ่ำใจในความเป็นร็อกดั้งเดิมไม่พึ่งพาเอฟเฟ็กต์สารพัดให้หรูหราสวยงาม พวกเขากลับทำอัลบั้มป็อปออกมา เสียงกีตาร์หนาแน่นที่เป็นจุดเด่นมาตั้งแต่ชุดแรกหายไปหมด แทรกพวกคีย์บอร์ดและซินธ์คละคลุ้งไปหมด เหลือเพียงเนื้อเพลงที่ยังสุขุมลุ่มลึกให้ฤรึกได้ว่าเป็นเดอะมานิกส์

WE’VE REALISED THERE’S NO GOING BACK เดอะมานิกส์ที่รักยิ่งกระซิบไว้แบบนั้นในเพลง “1985”
ความจริงก็คือพวกเขากำลังย้อนกลับไปสู่ดนตรีแบบยุค 80 และแฟนเพลงคงจำได้ดีว่าริชชี เอ็ดเวิร์ดส์ (อดีต) มือกีตาร์ของวงเคยทำประกาศไว้ในช่วงทำวงใหม่ ๆ ว่าจะทำเพลงให้ออกห่างจากดนตรียุค 80 ให้มากที่สุด หรือการ No going back ของวงหมายถึงการทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ด้วยการย้อนไปสู่ดนตรีสไตล์ 80?
ถ้าคุ้นเคยกับวงนิวออเดอร์หรือยูทูในยุค 80 จะเข้าใจคำว่าสไตล์ 80 ที่บอกเล่าอยู่ด้านบน
เมื่อดนตรีเริ่มอ่อนแรง ไม่มีความดุดันจากเสียงกีตาร์ ไม่มีเสียงร้องกราดเกรี้ยว สิ่งที่เนื้อหาสะท้อนออกมาคือความสูญเสีย ความเปลี่ยวดาย แสดงความรู้สึกของปัจเจกชน แทบไม่แตะเนื้อหาทางการเมืองเข้มข้นอย่างในอดีต คือมีเนื้อหาทางการเมืองแต่เป็นการเมืองแบบมุมมองส่วนบุคคลสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ออกมา อย่างใน “เอมิลี” ที่กล่าวถึง เอ็มเมลีน แพงค์เฮิร์สต์ (Emmeline Pankhurst) ผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีคนสำคัญของอังกฤษผู้ติดหนึ่งใน 100 บุคคลสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 20 จากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ แต่โดนหลงลืมสิ่งที่เธอทำเอาไว้ แล้วหันมาเชิดชูใครบางคนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรจริงจังแต่ว่ามีชื่อเสียงจากการออกงานสังคมหรือทำกิจกรรมการกุศลธรรมดา
Emily, so pity poor Emily You've been replaced by charity It's what you forget, what you forget that kills you It's what you remember, what you remember that makes you We used to have answers, now we have only questions But now have no direction
หรือ “เดอะเลิฟออฟริชาร์ด นิกสัน” ที่กล่าวถึงท่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คนแรก (และคนเดียวจนถึงตอนนี้) ที่ลาออกจากตำแหน่งเพราะคดีวอเทอร์เกต แต่ในเพลงนี้พูดถึงสิ่งดี ๆ ของริชาร์ด นิกสัน ราวกับตอกย้ำว่าชื่อเสียงและคุณงามความดีที่ทำมาตั้งมากมายคนไม่พูดถึงเลยเพราะสนใจแต่คดีวอเทอร์เกต รอยด่างพร้อยรอยเดียวกลบเรื่องอื่นหมดสิ้น
เอาเพียงแต่ความคิดที่ยังลุ่มลึก ไลฟ์บลัด ยังตอบสนองแฟนเพลงได้เหมือนเดิม สำหรับดนตรีที่ออกป็อปใส่เสียงคีย์บอร์ดและซินธ์มากมาย คงเป็นสิ่งที่แฟนเพลงที่นิยมร็อกคงทำใจยาก การบันทึกเสียงทำออกมาดียอดเยี่ยม ให้เสียงที่เย็นชาปราศจากพลังเร่าร้อนของดนตรีร็อก
ถ้าทำใจให้ลืมงานชุดแรก ๆ ไปได้ (ซึ่งคงทำไม่ได้) นี่อาจจะเป็นป็อปที่สวยงามเนื้อหาล้ำลึก
แต่สำหรับแฟนเพลงดั้งเดิมคงผิดหวังกับแนวทางนี้…
5 ความเห็นบน “Manic Street Preachers: Lifeblood”