ใครเติบโตมากับดนตรีแบบไหนก็จะซึมซับเอาดนตรีในแบบนั้นเข้าเป็นมาตรฐานส่วนตัว คนที่โตมากับทศวรรษ 2000 ก็จะมองว่าเพลงยุคนี้ดี ในขณะที่คนที่ฟังเพลงจากทศวรรษอื่นมองว่าเพลงในทศวรรษนี้มันไม่ได้เรื่อง และในทางกลับกันคนที่ฟังเพลงยุคนี้ถ้าย้อนกลับไปฟังเพลงจากบางยุคสมัยก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าฟังเพลงแบบนี้กันเข้าไปได้ยังไง
เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก อาจจะเป็นเพราะว่าวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก สภาพแวดล้อมก็ไม่เหมือนกันจะให้คนเราชอบในสิ่งที่ย่ำอยู่กับที่ได้อย่างไร? อย่างเช่นสอง – สามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ใช้เวลาหมดไปกับการเล่นเกมส์ แล้วก็หาอัลบั้มเก่าๆ ยุค 70 มาฟัง จนได้รู้ซึ้งว่าการฟังเพลงยุค 70 ไปพร้อมกับเล่นเกมส์สมัยนี้ไม่เข้ากันและเสียสมาธิในการเล่นเกมส์เปล่า ๆ ยิ่งถ้าฟังเพลงในยุคปลายไซคีเดลิบางคณะแล้วไม่ไหว อารมณ์มันกระเจิงไปคนละทางกับเกมส์ที่เล่นเลย แต่ถ้าเอาเกมส์พวกนี้มาเล่นตอนที่ฟังเพลงนูเมทัลก็เข้ากันดี จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเด็กสมัยนี้คิดว่าเพลงในช่วงทศวรรษ 70 เป็นเพลงที่น่าเบื่อ
ความรู้สึก “เบื่อ” นี่ไม่ดีต่อการฟังเพลงเป็นที่ยิ่ง แต่ถ้าอยู่กับความน่าเบื่อนานพอจะสัมผัสถึงคุณค่าของสิ่งที่คิดว่ามันน่าเบื่ออย่างเช่นเมื่อฟังงานชุดไฟร์แอนด์วอเทอร์ (Fire & Water) ของวงฟรีชุดนี้ครั้งแรกบอกตรง ๆ เลยว่านี่คืองานที่น่าเบื่ออิ๊บอ๋าย ฟรีเป็นวงดนตรีที่เกิดมาในยุคปลายไซคีเดลิกก่อนจะมีดนตรีเฮฟวีเมทัลเกิดตามมา ช่วงนั้นวงดนตรีหลายวงจะทำดนตรีกันคล้ายแบบนี้ คือรักษาฐานบลูส์เป็นหลักแล้วบรรเลงให้หนักขึ้น หลายคณะขยับดีกรีความแรงขึ้นไปเป็นวงดนตรีบุกเบิกเฮฟวีเมทัล แต่สำหรับฟรียังไม่ใช่เมทัลถึงแม้ว่าจะทำดนตรีอยู่ในสายเดียว (หรือใกล้เคียง) กับวงอย่างเลดเซพพลิน แบล็กซับบาธ หรือว่า ดีพเพอเพิล แต่ดนตรีจะแตกต่างกันในวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป
กล่าวสำหรับฟรีแล้ว พวกเขายืนหยัดที่จะเล่นในรอยอนุรักษ์บริติชบลูส์ รับอิทธิพลมาจากพวกเดลตา บลูส์ (อย่าง โรเบิร์ต จอห์นสัน ) และชิคาโกบลูส์ (อย่าง มัดดี วอเตอร์ ) เป็นหลัก และต่อเนื่องด้วยดนตรีไซคีเดลิกเจือปนมาบางเบาพอให้เข้ากระแสดนตรีในยุคนั้น.
งานสองอัลบั้มแรกคือ ทันส์ออฟซอบส์ (Tons of Sobs) กับ ฟรี (Free) ทีออกมาในปี 1969 ไม่ค่อยจะได้รับความนิยมในวงกว้างมากนัก ถึงแม้ว่างานสองชุดนั้นจะได้รับคำชื่นชมในภายหลัง แต่ช่วงที่ออกมาถือว่ายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ปัญหาเพียงอย่างเดียวของพวกเขาก็คือ ถึงแม้พวกเขาจะมีวิญญาณนักดนตรีแบบถึงแก่นแต่ก็ไม่ได้มีเพลงที่จะเป็นจุดขายที่แข็งพอจะให้คนมาสนใจในวงกว้างได้
จนกระทั่งเพลง “ออลไรท์นาว” ออกมาถึงได้เป็นการเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา และเพราะว่าเพลงนี้เพลงเดียวแท้ ๆ ทำให้ยอมเสียเงินซื้อแผ่นนี้มาเก็บไว้ทั้งที่ไม่ได้ชอบเพลงอื่นเลย (ในตอนนั้นคิดว่าเพลงอื่นมันน่าเบื่อมาก แต่ก็อย่างที่เขียนไว้ข้างบน “อยู่กับความน่าเบื่อนานพอจะสัมผัสถึงคุณค่าของสิ่งที่คิดว่ามันน่าเบื่อ” ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วประโยคนี้ใช้ได้กับงานชุดนี้ เพราะเมื่อฟังงานชุดนี้แบบ “ปล่อยวาง” ก็รู้สึกว่าเพลงของฟรีมีเสน่ห์ส่วนตัวค่อนข้างสูงมาก
แต่ผู้ที่จะรับรู้ถึงเสน่ห์ของฟรีได้จะต้องเรียนรู้กับภาษาบลูส์มาก่อนเป็นปฐม เพราะหากปราศจากจิตฝักใฝ่ในบลูส์ก็มีหวังได้หลับตั้งแต่เพลงแรก เพราะความราบเรียบของบทเพลงจากฝีมือการบรรเลงของฟรีอันดูเหมือนว่าน่าเบื่อนี้ ถ้าเข้าใจในธรรมชาติของดนตรีที่เกิดขึ้นก็จะรู้สึกว่าบทเพลงในแบบนี้ก็คือลักษณะคล้ายต้นกำเนิดเมทัลอีกหลายคณะในเวลาต่อมา เพียงแต่ว่าพวกเขาอยากจะเน้นความเรียบง่ายแต่ขลังของดนตรีบลูส์ให้มากกว่าความเร่งเร้ารุนแรงสะใจ
ความลงตัวของบทเพลงทำให้ คริส แบล็คเวลส์ เจ้าของบริษัทเอแอนด์เอ็มเล็งเห็นว่าวงฟรีเป็นดาวฤกษ์ที่ส่องประกายในตัวเองได้ จึงปล่อยวางให้ฟรีควบคุมดูแลการผลิตงานของพวกเขาเองโดยไม่พึ่งพาโปรดิวเซอร์คนอื่น ทุกเพลงจึงออกมาในทางเรียบง่ายโดยผ่านการคัดกรองของสมาชิกแต่ละคนเป็นอย่างที่ใจต้องการจริง ๆ คนฟังต้องอาศัยการรับฟังในสภาพผ่อนคลาย หลีกความสับสนวุ่นวายมาฟังจึงจะเสพรับสุนทรียะที่พวกเขาบรรจงสร้างออกมาได้อย่างเต็มที่ การเดินเบสอันไหลลื่น การเล่นริฟฟ์กีตาร์เรียบ จะมีเสน่ห์เฉพาะตัว โดยเฉพาะเสียงร้องของ พอล ร็อดเจอรส์ที่ลุ่มลึกเต็มที่ ยิ่งเพลง “ออลไรท์นาว” อันลงตัวทั้งเสียงกีตาร์และภาคริธึมที่กำลังเหมาะเจาะพอดี ถึงเนื้อหาจะไม่โดดเด่นแต่ด้วยลีลาที่ออกมาทำให้เพลงนี้ติดหูคนฟังได้ไม่ยาก
แต่ความสำเร็จของ “ออลไรท์นาว” กลับส่งผลให้เกิดรอยร้าวในหมู่สมาชิกเนื่องจากอัตตาปะทะกันจนหลังจากงานชุดนี้ พอล ร็อดเจอรส์ ออกไปทำงานในนามพีซส่วน แอนดี เฟรเซอร์ไปตั้งวงโทบีและไซมอน เคริกส์ กับพอล คอสซอฟฟ์ก็ออกไปทำงานร่วมกัน แต่ว่าก็ไม่มีวงไหนไปรอด จึงกลับมาร่วมงานกันในงานชุดฟรีแอ็ตลาสต์ (Free At Last) ซึ่งได้รับคำชมเชยในคุณค่าของงานชุดนั้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้วงอยู่รอด ต้องแตกแยกไปคนละทาง ทิ้งเพลงงานบางชุดให้เจิดจรัสอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนต่อไป
Line Up
- Paul Kossoff – Guitar
- Simon Kirke – Drums
- Andy Fraser – Bass
- Paul Rodgers – Vocal
Track List:-
- Fire and Water
- Oh I Wept
- Remember
- Heavy Load
- Mr. Big
- Don’t Say You love Me
- All Right Now