น่าเสียดายที่งานชุดนี้บรูซ สปริงสทีนไม่พึ่งพาเดอะอีสตรีทแบนด์ ทั้งที่งานชุดที่แล้ว (เดอะ ไรซิง) ยังร่วมงานกันอยู่เลย
แต่มันไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นตกใจอะไร เพราะก่อนหน้าที่งานชุดนี้จะออกมาก็มีเสียงบอกกล่าวให้รับรู้เป็นระยะว่า งานชุดนี้บรูซจะหันกลับไปทำงานทั้งหมดเพียงคนเดียวอีกครั้ง แฟนเพลงหลายคนถึงกับเย็นวาบไปถึงไขกระดูก เมื่อรำลึกถึงฝันร้ายตอนที่ได้ฟังงานชุดเนบราสกาของเดอะบอสที่ทำเองคนเดียวโดดเดี่ยวไม่มีพลพรรค เดอะอีสตรีทแบนด์ร่วมงานด้วย
แต่…ต้องมีแต่…หลังจากผ่านไปสองทศวรรษ เดอะบอสไม่เอาแต่ใจตัวเองระดับนั้นอีกแล้ว ดังนั้นงานชุดนี้ไม่ใช่แค่เดโมเทปอย่างงานชุดเนบราสกาต้องขอบใจโปรดิวเซอร์งานชุดนี้เบรนแดน โอ ไบรอันที่มาคอยขัดเกลาให้งานนี้มีอารมณ์ละมุนขึ้น สำหรับเบรนแดนเป็นซาวนด์เอนจิเนียร์และโปรดิวเซอร์ฝีมือดีที่ฝากผลงานไว้ในอัลบั้มสุดฮิตของร็อกสตาร์หลายราย ไม่ว่าจะเป็นสโตนเทมเปิลไพล็อท เพิร์ลแจม เรจอะเกนท์เดอะแมชิน แม็ททิว สวีท และอีกมากมาย
ในกล่องซีดีที่ได้มามีสองแผ่น แผ่นหนึ่งเป็นซีดีเพลงธรรมดาทั่วไป อีกแผ่นหนึ่งเป็นดีวีดีซึ่งมีเพลงเหมือนกับแผ่นซีดีแต่เพิ่มระบบเสียง 5.1 มาให้ด้วย (พร้อมเนื้อเพลงให้อ่านบนจอ) แต่พูดก็พูดเถอะ ระบบเสียง 5.1 ในงานชุดนี้ไม่ได้ออกมาดีเป็นพิเศษ ไม่ต้องเอาไปเทียบกับแผ่นที่ตั้งใจผลิตมาอย่างงานรีมาสเตอร์ของเยสเอาแค่แสดงสดชุดเฮลล์ฟรีซเซสโอเวอร์ของดิอีเกิลส์ก็ออกมาดีกว่าด้านการมิกซ์
แต่ว่าในแผ่นดีวีดีมีบันทึกการเล่นเพลงสดของเดอะบอสให้ดูด้วย 5 เพลง และแต่ละเพลงจะมีการเกริ่นนำว่าเป็นอย่างไรไปอย่างไรจากตัวเดอะบอสเองด้วย
งานนี้ไม่ใช่ร็อกอย่างที่คิด และไม่ใช่คันทรีมากนัก ถ้าบอกว่าเป็นโฟล์คน่าจะใกล้เคียงมากกว่า หลาย เพลงบรรยากาศเหมือนเราดูภาพยนตร์พวกคาวบอยตะวันตก ถ้าพูดถึงงานชุดนี้ต้องเจาะเข้าไปที่เนื้อหาทางสังคมและการเมือง คือแทนที่จะพูดถึงดนตรีเป็นหลัก ต้องมาดูที่แนวคิดของเขาเป็นหลัก ถ้าใครไม่ได้ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอาจไม่เข้าใจ ตัวอย่างเช่นอัลบั้มเนบราสกาก็ต้องเข้าใจถึงสังคมอเมริกันและนโยบายทางการเมืองของโรนัลด์ เรแกน ถ้าเป็นอัลบั้มเดวิลส์แอนด์ดัสท์ก็ต้องเข้าใจถึงสังคมอเมริกันยุคหลังเหตุการณ์ 911 ยุคหลังก่อสงครามกับอิรัก
อารมณ์หลักของงานนี้ออกทางโฟล์คและให้ความสำคัญกับเสียงอะคูสติกเป็นพิเศษ เปิดเพลงแรกก็ให้ความรู้สึกเงียบเหงาก หลายเพลงจะให้อารมณ์หม่นเศร้าแบบนี้ เปิดมาอารมณ์ก็รำลึกถึงเนบราสกาทันควัน และนึกถึงสไตล์ของวูดดี กูธรีในเวลาถัดมา คือเพลงจะสื่อถึงสังคมในมุมมองของนักประท้วงด้วยลีลาการเขียนเนื้อเพลงที่ยอดเยี่ยมของเขา และเมื่อถึงจังหวะเน้นย้ำ เสียงกลองตอกย้ำส่งเข้ามา ตามด้วยเสียงคีย์บอร์ดและฮาร์โมนิกา จุดนี้นึกถึงงานชั้นเยี่ยมช่วงแรกของเขาอย่าง “ธันเดอร์ โรด” และ “บอร์น ทู รัน” อารมณ์หดหู่ห่อเหี่ยว
แต่เพลงถัดมา “ออล เดอะ เวย์ โฮม” เริ่มร็อกแบบยุคบอร์นอินเดอะยูเอสเอแต่จุดเด่นของบรูซมักจะไปตกอยู่ที่เนื้อร้องมากกว่า เขาเป็นคนเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม ใช้ภาษาลงลึกถึงจิตใจคนฟัง (ซึ่งโดยส่วนตัวจะมีปัญหาเล็กน้อยเพราะเข้าใจภาษาอังกฤษเพียงเล็กน้อย) และในงานชุดนี้ก็คือแต่ละบทเพลงเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งใน เดวิลส์แอนด์ดัสท์จะรวมเพลงประเภทซึมเศร้าและหม่นหมองเป็นหลัก ที่ว่างานนี้ทำได้ดีกว่าเดิมก็คือในส่วนของสีสันที่มีมากกว่างานสองชุดที่กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็น “เดอะฮิตเตอร์”หรือ “ลองไทม์คัมมิง” ส่วน “แบล็คคาวบอยส์” ให้ความรู้สึกว่าไม่ค่อยน่าเบื่อเท่ากับเนบราสกาเพลงเด่นคือ “มาทาโมรอสแบงค์ส” แสดงอารมณ์และความลุ่มลึก เป็นเพลงรักลุ่มลึกถึงแม้จะดูหม่นหนงแต่ก็ยังดูอบอุ่น อ่านเฉพาะเนื้อหายังงดงาม
ถ้าไม่ชอบเนบราสกากับเดอะ โกสท์ ออฟ ทอม โจด โอกาสที่จะชอบงานชุดนี้มีน้อยมาก เพราะนอกจากท่วงทำนองหดหู่ แล้วมันยังมีบรรยากาศความหวาดระแวงและไม่มีความสุขแฝงอยู่เกือบทุกเพลง ถ้าชอบ เดอะบอสในด้านของเนื้อหามุมมอง รับรองจะไม่ผิดหวังแต่ทางด้านดนตรีอาจจะรับกันลำบากสำหรับคนที่ชอบ เดอะบอสอย่างชุดบอร์น อิน เดอะ ยูเอสเอ
Track listing
All songs are written by Bruce Springsteen.
- “Devils & Dust” – 4:58
- “All the Way Home” – 3:38
- “Reno” – 4:08
- “Long Time Comin'” – 4:17
- “Black Cowboys” – 4:08
- “Maria’s Bed” – 5:35
- “Silver Palomino” – 3:22
- “Jesus Was an Only Son” – 2:55
- “Leah” – 3:32
- “The Hitter” – 5:53
- “All I’m Thinkin’ About” – 4:22
- “Matamoros Banks” – 4:20