ในที่สุดก็ได้ดูดรีมเธียเตอร์สมใจอยากเสียที ดูแล้วก็ต้องทึ่ง ดูแล้วก็ต้องอึ้ง ได้มาเห็นการเล่นสดรู้สึกทรงพลังกว่าในซีดีเยอะถึงแม้ว่าระบบเสียงจะแย่ไปหน่อยก็ตาม น่าเสียดายที่นั่งไกลไปหน่อยเลยไม่ได้เห็นการเล่นของจอห์น เพทุชชี่ชัดเจนนัก (ตอนไปกะว่า ถ้าเป็นไปได้จะได้เห็นว่าตอนเล่นสดเขาจะวางนิ้วยังไง จะได้เป็นไกด์ไลน์ได้พอสมควร เอาเข้าจริงแล้วนั่งเสียไกลเลยมองไม่เห็น
แต่ถึงจะมองเห็น ก็คิดว่าตัวเองคงไม่ได้สังเกตอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ เพราะสมาธิกระเจิงกับการเล่นเหนือมนุษย์ของสมาชิกทั้งห้า อย่างเพลง “อ็อกตาวาเรียม” (Octavarium) นี่ละ เอาแค่ตอนที่จอน์แดนเล่นคอนตินุม คอร์ดอาจจะไม่แปลกเท่าไหร่ พวก Fsus2 Fm C#m G#m สลับกันไปมา แต่ว่าไทม์ซิกเนเจอร์นี่ลองนับคร่าว ๆ ช่วงแรกเป็น 4/4 อยู่ดี ๆ ก็เป็น 5/4 แล้วกลับมา 4/4 แล้วหลังจากนั้นก็เปลี่ยนกันแทบทุกบาร์ !!! มีทั้ง 2/4 , 4/4, 5/4 , 9/8, 7/8 , 11/8 เล่นเอาคนฟังสุดจะปวดหัว ถ้าคนเล่นสมาธิไม่นิ่งจะเป็นอย่างไร? นี่เปิดซีดีซ้ำไปซ้ำมายังรู้สึกปวดหัว ถ้ามีซีดีอยู่ในมือ ลองเปิดเพลง “อ็อกตาวาเรียม” ประมาณนาทีที่ 4.20 แล้วดูโน้ตที่แนบมานี้
การเล่นกีตาร์ของจอห์นเป็นการเล่นคอร์ดธรรมดา ช่วงแรกเขาเล่นคอร์ด Fm – Cm ทั่วไป แต่ช่วงหลังที่ตัดโน้ตมาให้ดูนี่ เขาใช้แนวคิดคล้ายกับที่เคยอธิบายไปแล้ว หลักคือให้เก็บโน้ตสำคัญของคอร์ดเอาไว้ นั่นคือโน้ตที่เป็นโน้ตสำคัญคือโน้ตที่จะแสดงลักษณะเฉพาะของคอร์ด ตรงนี้ต้องเข้าใจฟังก์ชันของโน้ตในคอร์ด และเรื่องการใช้คอร์ดแทน (Chord Substitution) เอาเป็นว่าลองมาดูโครงสร้างคอร์ด ตามตารางต่อไปนี้
Chord Note
Dominant Seventh 1 3 5 b7
Major Seventh 1 3 5 7
Minor Seventh 1 b3 5 b7
Minor Sixth 1 b3 5 6
Half-Diminished Seventh 1 b3 b5 b7
Diminished Seventh 1 b3 b5 bb7
ดูตัวร่วมของคอร์ดแต่ละชนิด จะเห็นโน้ต 1 คือ Root และโน้ตที่แตกต่างกันในคอร์ดแต่ละแบบก็คือตัวแสดงลักษณะเฉพาะของคอร์ดแต่ละแบบที่แตกต่างกัน สังเกตมั้ยว่าถ้าเป็นคอร์ด seventh จะเป็นโน้ต b7 ถ้าเป็นคอร์ด diminished จะเป็น b5 ทั้งหลายเหล่านี้ก็คือเรื่องของลักษณะเฉพาะของคอร์ดแต่ละแบบที่ต้องเรียนรู้
การบ้าน: ลองเขียนโครงสร้างโน้ตในคอร์ดต่าง ๆ ที่นึกออก แล้วมาทำความเข้าใจกับบทบาทและหน้าที่ของโน้ตในคอร์ดว่ามันใช้บ่งบอกอะไร ถ้าเรื่องนี้ยังไม่เข้าใจ ก็อย่าเพิ่งคิดเล่นให้ได้แบบจอห์น เพทุชชี่