จอห์น แม็กลาฟลิน สร้างชื่อเสียงมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 60 โดยเฉพาะเมื่อเขาเล่นกีตาร์ให้กับไมล์ เดวิส ตำนานแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่ในอัลบั้มอินอะไซเลนต์เวย์กับบิตชส์บรูว์ซึ่งเป็นอัลบั้มบุกเบิกงานแจ๊สร็อก (และในอัลบั้ม บิตชส์บรูว์ มีเพลงชื่อจอห์น แม็กลาฟลินด้วย!!) หลังจากนั้นเขาก็มาตั้งวงแจ๊สร็อกของตัวเองในชื่อมหาวิษณุออเคสตรา ชื่อมหาวิษณุนี้เป็นชื่อที่กูรูอินเดียที่เขาเคารพนับถือตั้งให้คู่กับเทวทิพย์ (คาร์ลอส ซานตานา) และในช่วงที่ทำวงมหาวิษณุออเคสตรานี่เองที่เป็นจุดสูงสุดของชื่อเสียงของเขา
หลังจากนั้นชื่อเสียงของจอห์นก็จางลงไป แต่ก็ยังโด่งดังมากในแวดวงแจ๊สร็อก เวลาผ่านไป เขาก็ชราขึ้น (แหงล่ะ มีใครหนุ่มขึ้น?) การเล่นกีตาร์ไม่ค่อยเน้นความดุดันปราดเปรียวอย่างสมัยแรก แต่ความเขี้ยวในฝีมือยังเต็มเปี่ยม เยี่ยมยอดเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเขาหันไปหาดนตรีที่หลายหลายแนวทางมาก ทำงานทั้งอคูสติก (ยังจำจีทรีภาคอคูสติกที่มาก่อนสมัยจีทรีของรุ่นใหม่นี่ได้มั้ย?) งานในแบบเวิลด์มิวสิกก็ออกมาต่อเนื่อง สลับกับการไปเล่นกับวงออเคสตรา ความหลากหลายของการเล่นของเขาเป็นสิ่งที่แฟนเพลงคุ้นเคยเป็นอย่างดี
อินดัสเทรียลเซนเป็นงานแบบฟิวชั่นแจ๊สที่ยังคงกลิ่นอายดนตรีภารตะแทรกเข้ามาเล็กน้อย แต่เมื่อฟังทุกเพลงจบครบถ้วนแล้ว กลับนึกไปถึงว่านี่คือบทสรุปความโดดเด่นของจอห์น แม็กลาฟลินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าเขาจะใช้เสียงซินธ์และลูปจากอิเล็กทรอนิกมาใช้ร่วมด้วยก็ยังคงมีความกลมกลืนไม่บาดหูให้เสียความรู้สึก
จุดเด่นจุดหนึ่งของอัลบั้มนี้อยู่ที่บรรดาแขกรับเชิญ อย่างเช่นเพลงแรก “ฟอร์จาโค” (ไม่ต้องสงสัยว่าจาโคไหน) เขารำลึกถึงความหลังสมัยร่วมงานกับจาโค โดยเพลงนี้ฮาเดรียน เฟราวด์ทำหน้าที่มือเบสได้โดดเด่นไม่เสียชื่อจาโค แถมด้วยบิล อีวานส์วาดลวดลายแซ็กโซโฟนได้จับใจ งานทริบิวท์ยังไม่จบง่ายๆ ใน “เวนยส์เวย์” ก็เป็นการสดุดี เวนย์ ชอร์ตเตอร์ “เดียร์ดาไลลามะ” ก็สดุดีให้กับองค์ดาไลลามะ “ทูบ็อปออร์น็อตทูบี” อุทิศให้กับไมเคิล เบร็กเกอร์
ความน่าทึ่งของบทเพลงไม่ใช่เรื่องที่จะอธิบายผ่านตัวอักษรได้ง่าย ๆ อย่างใน “นิวบลูส์โอลด์บรูส ” ที่ได้อิริก จอห์นสันมาช่วยเล่นดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายมันยากมาก ในรอบหลายปีที่ผ่านมาหลายคนอาจจะคิดว่าจอห์น แม็กลาฟลินลดความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ลง เพราะเขาหันไปเล่นดนตรีในรูปแบบเดิมที่หลายคนคาดเดาได้ แต่ใน อินดัสเทรียลเซน น่าจะเป็นการตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนว่าเขายังมีความคิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเป็นการสร้างในส่วนของรายละเอียดอย่างการเรียบเรียงและการวางโครงสร้างดนตรี
คงจะไม่ผิด หากจะบอกว่า อินดัสเทรียลเซนคืออัลบั้มที่สรุปสิ่งที่จอห์นทำมาในรอบสี่ทศวรรษ !!
Musician:
- Gary Husband (Drums and keyboards)
- Vinnie Colaiuta (Drums)
- Dennis Chambers (Drums)
- Mark Mondesir (Drums)
- Hadrian Feraud (Bass)
- Matthew Garrison(Bass)
- Tony Grey (Bass)
- Zakir Hussain (Tablas)
- Shankar Mahadevan (vocals)
- Ada Rovatti (Soprano and Tenor Sax)
- Marcus Wippersberg (Drum Programming)
- Otmaro Ruiz (Synthesizer)
- Bill Evans(Soprano Sax)
- Eric Johnson (guitar)
Track Listings
- For Jaco (Bill Evans, Hadrien Feraud, Gary Husband, Mark Mondesir)
- New Blues Old Bruise( Eric Johnson, Vinnie Colaiuta, Gary Husband)
- Wayne’s Way (Ada Rovatti, Gary Husband, Tony Grey, Zakir Hussain, Dennis Chambers)
- Just so Only More So ( Bill Evans, Matt Garrison, Marcus Wippersberg)
- ..To Bop Or Not to Be ** For Michael Brecker ( Otmaro Ruiz,Matt Garrison, Dennis Chambers, Zakir Hussain)
- Dear Dalai Lama (Shankar Mahadevan, Ada Rovatti, Dennis Chambers, Zakir Hussain)
- Senor C.S (Mark Mondesir, Gary Husband, Hadrien Feraud)
- Mother Nature (Shankar Mahadevan, Tony Grey)