คงไม่ต้องแนะนำอะไรมากสำหรับวงเมทัลลิกาถ้าคุณเป็นใครคนที่อ้างว่าตัวเองฟังดนตรีเมทัลเป็นประจำก็คงจะเคยได้ยินชื่อวงนี้มาบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่เคยฟังเพลงของพวกเขาก็ตาม
เมทัลลิกาเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่มีบทบาทสูงในช่วงทศวรรษ 80 ในฐานะวงหัวหอกที่ช่วยดึงแธรชเมทัลจากแวดวงใต้ดินให้ขึ้นมาสูดอากาศหายใจในกลุ่มดนตรีกระแสหลัก ทุกวันนี้แฟนเพลงรุ่นเก่าส่ายหน้าไปกับผลงานใหม่แต่เมทัลลิกาก็ยังไม่สนใจ
ก็จะสนใจไปทำไมเล่า ในเมื่อยอดขายอัลบั้มและการทัวร์ยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อยู่ในระดับที่วงจากยุค 80 ด้วยกันส่วนใหญ่ได้แต่ใฝ่ฝันถึงความสำเร็จแบบนี้ แต่ไม่อาจจะทำได้แบบนี้
- Metallica: The Ecstasy of Gold
- Metallica: Chapter 2 – Hit the Light
- Metallica: Chapter 3 – Kil ‘Em All
- Metallica: Chapter 4 – Ride the Lighting
- Metallica: Chapter 5 – Master of Puppets
- Metallica: Chapter 6 – and Metallica for All
- Metallica: Chapter 7 – Don’t Tread on Me
- Metallica: Chapter 8 – Live Shits
- Metallica: Chapter 9- LOAD
- Metallica: Chapter 10 – Re-Load
- Metallica: Chapter 11 – We are Garage Band
- Metallica: Chapter 12 – S&M and Napster Lawsuit
- Metallica: Chapter 13: Some Kind of Anger
- Metallica: Chapter 14 – In Their Own Words “In the Begining”
- Metallica: Chapter 15 – In Their Own Words “Kill Em All” and “Ride the Lightning”
- Metallica: Chapter 16 – In Their Own Words “Master of Puppets” “…And Justice for All” “Metallica”
- Metallica: Chapter 17 – Death Magnatic
- Metallica: S&M 2
แต่ก่อนที่พวกเขาจะมาเป็นวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ได้ในทุกวันนี้ มันก็ต้องเริ่มจากการเป็นวงดนตรีเล็ก ๆ แทบมองไม่เห็นอนาคตสักเท่าไหร่
ตอนนั้นมันปีค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) เด็กหนุ่มผู้หลงใหลคลั่งไคล้ดนตรีเมทัลคนหนึ่งอยากจะตั้งวงดนตรีของตัวเอง
เด็กหนุ่มคนนั้นชื่อ ลาร์ อัลริช (Lars Ulrich)
“ผมโดนครอบงำด้วยดนตรีนิวเวฟ ออฟ บริทิช เฮฟวี เมทัล” – ลาร์ อัลริช
นิวเวฟออฟบริทิชเฮฟวีเมทัล (New Wave of British Heavy Metal หรือเขียนอย่างย่อ NWOBHM) ที่ลาร์ อัลริชกล่าวถึง เป็นขบวนดนตรีที่เฟื่องฟูอยู่ระยะหนึ่งในเกาะอังกฤษ
ย้อนกลับไปในช่วงปีค.ศ. 1978 – 1980 เป็นช่วงที่ดนตรีเมทัลกำลังฟื้นตัวหลังจากอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปพักใหญ่หลังจากดนตรีดิสโกและพังก์เข้ามาครองพื้นที่แทน แต่ว่าการกลับมาของดนตรีในสองฝั่งแอตแลนติกมันแตกต่างกัน วงดนตรีในฝั่งอเมริกาฟื้นในรูปแบบของปาร์ตี้แบนด์ คือทำดนตรีเน้นเอาสนุกสนานร่าเริงเมามันส์ อย่างเช่นแวนเฮเลนที่กำลังถล่มอเมริกากับอัลบั้มแรกในปีค.ศ. 1978 ยิ่งในแอลเอก็กำลังมีวงหน้าใหม่อย่างด็อกเคน แรตต์ มอตลีครู กำเนิดขึ้นมามากมาย
แต่ในฝั่งอังกฤษ ดนตรีเฮฟวีเมทัลกับเลือกที่จะแรงขึ้น หนักแน่นขึ้น หลายวงเอาส่วนผสมของพังก์เข้ามาใช้
ในขณะที่อเมริกากำลังจะได้รู้จักกับดนตรีแกลมเมทัลหรือว่าแฮร์แบนด์แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นอย่าง ลาร์ส อัลริชกลับไม่ค่อยชอบใจนัก อาจจะเป็นเพราะว่าลาร์ส อัลริชเป็นเด็กเดนมาร์กที่อพยพมาอยู่ในแอลเอ เขาเลยไม่ค่อยประทับใจกับดนตรีของอเมริกาและถวิลหาความหนักหน่วงของดนตรีเมทัลสำเนียงยุโรป ดังนั้นเขาก็เลยหันไปสนใจพวก NWOBH
คงต้องขอคั่นเวลาท่านผู้อ่านซึ่งสนใจเมทัลลิกาเพื่อลดเลี้ยวไปแนะนำ NWOBH สักเล็กน้อย
New Wave of British Heavy Metal
ดนตรีสายเลือดใหม่ของเมทัลจากเกาะอังกฤษ รับเอาความกราดเกรี้ยวรุนแรงของดนตรีพังก์ เข้ามาปรับใช้กับดนตรีเมทัล ผลก็คือความกราดเกรี้ยวบ้าคลั่งที่รุนแรงมากกว่าเมทัลรุ่นก่อนหน้า วงดังในยุคนั้นก็มี ไทเกอร์สออฟแพนแทงค์ วีนอม อีธาลเดอะฟล็อก แทงก์ ราเวน สเลดแฮมเมอร์ เทรสแพส สวีตซาเวจ โฮโลคอสต์ บลิตซ์เครก แองเจลวิตช์ แซ็กซัน ไอออนเมดเดน และไดมอนด์เฮด เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่าง NWOBHM กับดนตรีเมทัลก่อนหน้านั้นที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือในเรื่องของริธึ่ม ถ้าฟังวงเก่าอย่างเลดเซพพลิน แบล็กซับบาธ จะได้ยินสำเนียงบลูส์ติดมาบ้าง แต่ NWOBHM จะลดความเป็นบลูส์ลงและเพิ่มความแรงแบบตรงไปตรงมามาขึ้น จนกลายเป็นลักษณะที่เรียกว่าสเตรตอะเฮด (straight ahead) คือเดินหน้าบุกตะลุยไม่ถอย มีวงดนตรีในกลุ่ม NWOBHM ที่อยากแนะนำเป็นพิเศษในฐานะอิทธิพลสำคัญต่อดนตรีของเมทัลลิกาดังนี้
Motörhead
(สิ่งที่เราได้จากวงมอเตอร์เฮดในปี 81 ก็คือความก้าวร้าวกับพลังที่ล้นเหลือและการเร่งความเร็วในบทเพลงอย่างที่พวกเขาทำในอัลบั้มโอเวอร์คิลและเอซออฟสเปดส์ – ลาร์ส อัลริช)
วงมอเตอร์เฮดก่อตั้งในปีค.ศ. 1975 โดยเลมมี อดีตสมาชิกวงฮอว์กวินด์ เขาผสมผสานทัศนคติแบบพังก์เข้ากับดนตรีเมทัลเป็นวงแรก (หรืออย่างน้อยก็เป็นวงแรกที่ผู้คนรู้จักและจดจำได้) ในช่วงที่มอเตอร์เฮด ออกอัลบั้มช่วงแรกได้แฟนเพลงทั้งทางกลุ่มฮาร์ดคอร์พังก์และเมทัล และในสมัยนั้นไม่มีวงดนตรีคณะไหนที่จะทำเสียงอึกทึกและทำให้ะดีนาลีนพุ่งพล่านได้เท่าพวกเขาอีกแล้ว
ลาร์ อัลริชยอมรับว่าเขาหันมาเล่นกลองสองกระเดื่องก็เพราะประทับใจเสียงการเบิ้ลกระเดื่องของฟิล เทย์เลอร์ มือกลองมอเตอร์เฮดนี่เอง และเพลง “มอเตอร์เบรธ” ในอัลบั้ม คิลเอ็มออล ของเมทัลลิกาก็เป็นการสดุดีมอเตอร์เฮด
Iron Maiden
(พวกเขาทำได้เหนือกว่าวงดนตรีทุกวงและสมควรได้รับเกียรติในฐานะผู้เปิดประตูเฮฟวีเมทัลของทศวรรษ 1980 พวกเขาไม่เคยลดราวาศอกและนั่นก็คือแรงบันดาลใจให้กับวงอย่างพวกเรา คือต้องยึดมั่นกับสิ่งที่เราเชื่อ และต้องไม่ยอมทำอะไรงี่เง่าเพื่อที่จะขายอัลบั้มหรือว่าให้เพลงได้เปิดทางสถานีวิทยุ – ลาร์ส์ อัลริช)
ไออนเมดเดนมีกีตาร์คู่อันดุดันทรงพลังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ชื่นชอบของลาร์ส อัลริช เจมส์ เฮตฟิลด์ และไลน์การเล่นเบสของสตีฟ แฮริชที่เป็นขุมพลังขับเคลื่อนบทเพลงของไอออนเมดเดนก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคลิฟฟ์ เบอร์ตัน (มือเบสอีกคนที่คลิฟฟ์ชอบก็คือพีต เวย์แห่งวงยูเอฟโอ) อัลบั้ม นัมเบอร์ออฟเดอะบิสต์ (Number of the Beast) จัดเป็นอัลบั้มที่วางรากฐานการเขียนเพลงเมทั่ลสำหรับทศวรรษ 80s ขึ้นมาใหม่
แต่ที่เมทัลลิการับอิทธิพลจากไอออนเมดเดนมามากที่สุดคือการเขียนเพลงที่ไม่ว่าจะมีความซับซ้อนหรือรุนแรงขนาดไหนก็ไม่เคยขาดท่วงทำนอง
Diamond Head
(ฟังเพลงของพวกเขากี่ครั้ง ก็ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผมได้ทุกครั้ง – ลาร์ส อัลริช)
เมทัลลิกาเอาเพลงของไดมอนด์เฮดมาเล่นใหม่หลายเพลง (ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงแถมไปกับแผ่นซิงเกิ้ล) โดยเฉพาะ “แอมไออีวิล” ที่แฟนเพลงเมทัลลิกาต้องรู้จักแน่ หรือถ้าฟังเพลง “เซิร์ชแอนด์เดสทรอย” ของเมทัลลิกาแล้วมาฟังเพลง “เดดเรคคอนนิง” ของไดมอนด์เฮดอาจจะรู้สึกว่าคล้ายกันอย่างน่าสงสัย
ไดมอนด์เฮดตั้งวงในปีค.ศ. 1976 โดยสองคู่หู ไบรอัน แทตเลอร์ กับ ฌอน แฮริส ได้สร้างท่อนริฟฟ์เยี่ยม ๆ มากมาย นิตยสารบางฉบับเคยยกย่องว่าการสร้างริฟฟ์ของไบรอัน แทตเลอร์ยอดเยี่ยมที่สุดนับจากโทนี ไอโอมีแห่งแบล็กซับบาธ พวกเขาประสบความสำเร็จพอสมควรกับอัลบั้ม ไลต์นิงเดอะเนชัน (Lightning the Nation, 1981) ก่อนที่ความนิยมจะเสื่อมลงตามลำดับ
ช่วงที่เมทัลลิกาก่อตั้งวงใหม่ ๆ และยังหานักร้องนำไม่ได้ ลาร์ส อัลริชเคยทาบทามฌอน แฮรีสให้มารับหน้าที่นักร้องนำในวงเมทัลลิกา แต่ฌอนปฏิเสธ
Venom
(ผมรู้ว่าบางคนยกย่องให้ คิลเอ็มออล เป็นจุดเริ่มต้นของแธรชเมทัล แต่ว่าผมยกเครดิตให้กับวีนอม พวกเขาเป็นคนเริ่มมันทั้งหมด อัลบั้มแรกของพวกเขา เวลคัมทูเฮล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากและเมทัลลิกาก็รับอิทธิพลอย่างมากจากพวกเขา – ลาร์ส อัลริช)
วีนอมก่อตั้งด้วยความคิดที่ว่าจะต้องทำดนตรีที่หนักกว่าแบล็กซับบาธ ก้าวร้าวกว่ามอเตอร์เฮด และเครื่องแต่งกายประดับโลหะมากกว่าจูดาสพรีสต์! และผลขก็คือจุดกำเนิดของดนตรีเมทัลอีกรูปแบบหนึ่งที่ก้าวร้าวรุนแรงเขียนเนื้อร้องเน้นเรื่องเร้นลับภูติผีปิศาจซาตานโดยตรง ความรุนแรงของพวกเขาได้สร้างดนตรีแบล็กเมทัลในเวลาต่อมา
NON NWOBHM
แต่ถ้าจะบอกว่าเมทัลลิการับอิทธิพลจากเกาะอังกฤษอย่างเดียวก็คงไม่ได้ อย่างน้อยก็มีวงดนตรีอเมริกาที่เมทัลลิกาชื่นชอบอย่างเช่นมิสฟิตส์เป็นต้น มิสฟิตส์เป็นวงพังก์ที่ทำดนตรีออกมามืดมัวสยองขวัญราวกับภาพยนตร์เกรดบี เล่นได้รุนแรงกระชับ และเสียงร้องสไตล์เอลวิส เพรสลีย์ที่โดนเอาใช้ในแบบสั่นประสาทของเกล็น แดนซิก ทำให้พวกเขากลายเป็นวงโปรดของคลิฟฟ์ เบอร์ตันมือเบสของเมทัลลิกา
วงดนตรีเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสำเนียงของเมทัลลิกาในเวลาต่อมา