เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีคอนเสิร์ตที่น่าสนใจสำหรับมือกีต้าร์อยู่สองงาน คืออิงเว เจ มาล์มสทีน กับเอมเอสจี สองงานนี้ถ้าใครเล่นกีตาร์ร็อกก็น่าจะรู้จักกันดีพอสมควร
ไมเคิล เชงเกอร์คราวนี้แทบจะหมดสภาพ คือเล่นกีตาร์หลุดมากจนผิดสังเกต ขณะที่อิงเว จะเล่นกีตาร์ได้โดดเด่นเป็นเลิศอย่างที่คาดคิดเอาไว้ แต่ว่าทีมของอิงเวเล่นกันแบบไม่ให้อารมณ์ของวง ขณะที่เอ็มเอสจีนี่แต่ละคนเล่นกันเหมือนว่าเป็นวงดนตรีวงหนึ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะนักร้องนำ (ขออภัยจำชื่อไม่ได้) ร้องได้ดีกว่าดูกี ไวต์มาก
ก็ต้องถือว่าสองงานนี้มีจุดดีไปคนละอย่าง แต่ถ้าพูดถึงกีตาร์อยากจะพูดถึงอิงเวด้วยความประทับใจมากกว่า
อย่างที่รู้กันว่าอิงเวเป็นมือกีตาร์ในสายนีโอคลาสสิคัลเมทัล และเขาใช้สคัลลอปด์เฟร็ดบอร์ด (scalloped fretboard คือขุดคอกีตาร์) ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เล่นเทคนิคจำพวกดันสายได้ดีขึ้น ซึ่งอิงเวเป็นคนบอกเองว่าถ้าใครคิดว่าใช้กีตาร์สคัลลอปด์เฟร็ดบอร์ดแล้วคิดว่าจะเล่นได้เร็วขึ้นเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง อันที่จริงแล้วถ้าใช้สคัลลอปด์เฟร็ดบอร์ดจะทำให้เล่นเร็วได้ยากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป (แล้วถ้าลองเล่นจริง คนที่ไม่คุ้นกับคอกีตาร์แบบนี้อาจจะเล่นคอร์ดเพี้ยนไปด้วยซ้ำ) แต่อิงเวต้องการควบคุมการดันสายให้ดีขึ้นเขาจึงลองขุดคอกีตาร์ โดยได้ไอเดียมาจากสมัยเด็กที่เห็นลูตจากศตวรรษที่ 16
สำหรับกีตาร์ซิกเนเจอร์ของอิงเวจะเป็นกีตาร์เฟนเดอร์รูปร่างแบบเดียวกับเฟนเดอร์รุ่นปลายทศวรรษ 1960 และปิ๊กอัปดิมาร์ซิโอที่เป็นซิกเนเจอร์ของเขาเช่นกัน ส่วนสายกีตาร์เป็นเบอร์ 0.08 ถึง 0.048 ส่วนพวกเอ็ฟเฟ็กซ์เป็นของดิจิเท็ก มีพวกนอยส์เกตของบอส ซึ่งตัวนี้ขาดไม่ได้ ใครเล่นกีตาร์คงทราบดีว่าพวกปิ๊กอัปซิงเกิลคอยด์มักจะมีเสียงจี่มากกว่าฮัมบัคกิง ดังนั้นเจ้านอยส์เกตจึงเป็นสิ่งที่ควรมีเพื่อกรองเสียงรบกวนออกไป และแน่นอนแอมป์มาร์แชลล์ที่ยกมาเป็นกำแพงเสียงหนาแน่นทรงพลัง (ดูกีพยายามเล่นมุขว่าอยากเห็นกำแพงเมืองจีนต้องไปถึงจีน แต่เรายกกำแพงมาให้คุณดูถึงที่…กำแพงมาร์แชล!)
การเล่นอย่างหนึ่งที่เห็นกันได้ทุกเพลง แทบทุกวลีของการเล่นก็คือการไล่โน้ตกับอาร์เปจิโอ ลองดูตัวอย่างโน้ตที่นำมาฝากกัน ดูที่บาร์ 1 – 2 จะเป็นการไล่โน้ตขึ้นลงตามสเกล (ตัวอย่างนี้ใช้ A minor) ส่วนในบาร์ที่ 3 – 6 ให้สังเกตตัวโน้ตที่แบ่งเป็นกลุ่มละ 4 ตัวโน้ต ตรงนี้คือโมทีฟของการเล่น ซึ่งอิงเวจะสร้างโมทิฟขึ้นมาหนึ่งชุด (อาจจะ 4 ตัวโน้ตหรือ 6 ตัวโน้ต ก็ตามแต่) จากนั้นเขาก็ไล่สเกลด้วยโมทีฟที่สร้างขึ้น โดยเลื่อนไปทีละสเต็ป ตรงนี้ถ้าไล่สเกลได้คล่องมือก็จะเล่นแบบนี้ได้สบาย ส่วนในสองบาร์สุดท้ายเป็นการเล่นอาร์เปจิโอโดยใช้เทคนิคสวีปปิกกิง เทคนิคและวิธีการเล่นเหล่านี้พบได้ในทุกเพลงของอิงเว
ถ้าดูการเล่นของอิงเวในตอนนี้อาจจะเห็นว่าเป็นเทคนิคพื้นฐาน แต่ถ้าลองย้อนกลับไปสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน การนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเล่น โดยที่เน้นความเร็วที่ลื่นไหล สะอาดชัดเจน มันเป็นสิ่งที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการกีตาร์ร็อก
และจะว่าไปแล้ว ถึงจะเป็นตอนนี้ก็ตาม การเล่นของอิงเวยังคงมนต์ขลังอยู่ตลอด ถึงแม้ว่าจะมีคนกระแนะกระแหนเรื่องที่เขาเล่นสไตล์เดิมไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้คาดเดาแล้วก็ตาม