ชาวร็อกทั่วโลกต่างรอคอยอัลบั้มไชนิสเดโมเครซี
เขียนเกินความจริงไปหรือไม่… เอาเป็นว่าแฟนเพลงกันส์แอนด์โรเซสต่างรอคอยอยากฟังอัลบั้มที่ซุ่มทำมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1995 กันถ้วนหน้า แอ็กเซิลปล่อยให้แฟนเพลงคอยเก้อมาปีแล้วปีเล่าราวกับว่าชาตินี้อาจจะไม่มีโอกาสได้ฟังกันเสียแล้ว ขนาดเมื่อปีค.ศ. 2006 แอ็กเซิลเคยให้สัญญาว่าจะวางจำหน่ายอัลบั้มนี้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 แต่ก็อย่างที่รู้กันดีอยู่ว่ามันเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
แล้วจู่ ๆ ซิงเกิลเพลง “ไชนีสเดโมเครซี” ก็ปล่อยมาในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2008 พร้อมกับข่าวว่าอัลบั้มเต็มจะออกวางจำหน่ายวันที่ 23 พฤศจิกายน ผ่านทางเบสต์บาย แฟรนไชน์ร้านขายปลีกชื่อดังในอเมริกา ก่อนหน้านั้นก็มีการกระตุ้นความสนใจจากแฟนเพลงด้วยการปล่อยเพลง “แช็กเลอรส์รีแวนจ์” ให้กับเกมร็อกแบนด์ส 2 (เกมส์ออกจำหน่ายวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2008) และเพลง “อีฟเดอะเวิล์ด” ก็นำไปใช้เป็นเพลงช่วงเครดิตปิดท้ายภาพยนตร์เรื่องบอดีออฟไลย์ในเดือนตุลาคม (แต่ไม่อยู่ในอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์)
จินตนาการไม่ออกเลยว่าแอ็กเซิลจะเครียดและกดดันขนาดไหน เชื่อว่าที่เขาหายไปสองเดือนก่อนอัลบั้มจะออกวางจำหน่ายน่าจะเป็นผลมาจากความกดดันที่เกิดขึ้น บางทีความล่าช้าของอัลบั้มนี้อาจจะมาจากความกดดันในฐานะสมาชิกยุคก่อตั้งที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว และอัลบั้มก่อนหน้านั้นทำยอดขายได้มากมายมหาศาล โดยเฉพาะผลงานสุดคลาสสิค แอ็ปปิไทท์ฟอร์เดสทรักชัน แต่มาถึงทุกวันนี้อะไรต่อมิอะไรมันก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว
แน่นอนว่างานนี้ฝ่ายการตลาดคงต้องวางแผนให้ถ้วนที่ เพราะอัลบั้มนี้เป็นงานชุดแรกในรอบ 15 ปี นับจากอัลบั้ม เดอะสปาเก็ตตีอินซิเดนต์? ในปีค.ศ. 1993 แต่ถ้านับในแง่วัตถุดับของตัวเองแล้วมันเป็นงานแรกในรอบ 17 ปีหลังจาก ยูสยัวร์อิลลูชัน ในปีค.ศ 1991 คำถามก็คือ ไชนิสเดโมเครซี จะคุ้มค่ากับการรอคอยยาวนานขนาดนี้หรือไม่? และคำถามต่อไปก็คือ มันจะยังเป็นกันส์แอนด์โรเซสอยู่หรือเปล่าในเมื่อเหลือแอ็กเซิล โรสเพียงคนเดียว?
การเปิดตัวที่อันดับ 3 ในบิลบอร์ด 200 และตกลงมาอยู่ที่อันดับ 29 ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์คงสร้างความผิดหวังให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องพอสมควร อาจจะเป็นเพราะมันนานเกินไปจนแฟนเพลงหายไปหมด หรืออาจจะเป็นเพราะเดโมที่หลุดออกมาทำให้แฟนเพลงคลายความกระหายใคร่ฟัง?
ต้องยอมรับว่าฟังเดโมเทปที่หลุดรอดออกมาไปแล้วหลายรอบ จนรู้สึกหมดความตื่นเต้นที่จะได้ฟังอัลบั้มนี้ไปมากพอดู ซึ่งบอกได้เลยว่าไม่ค่อยประทับใจในสิ่งที่ได้ยินเท่าไหร่ อันนี้ไม่เกี่ยวกับกับภาคการผลิตเพราะรู้ว่าเป็นแค่เดโม ในอดีตก็เคยฟังเดโมเพลง “โนเวมเบอร์เรน” ก่อนที่จะออกมาจริง 3 – 4 ปี มีแต่เสียงร้องของแอ็กเซิลกับเสียงเปียโนอัดแบบดิบ ๆ ยังรู้สึกเลยว่าเพลงนี้มันเจ๋ง แต่สำหรับ ไชนิสเดโมเครซี นี้ไม่ค่อยประทับใจในบทเพลงเท่าไหร่
มีหลายอย่างที่แตกต่างไปจากเดโมที่เคยฟัง อย่าง “ไออาร์เอส” จากที่ฟังเดโมมันดูหนักและดิบกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นแรก ๆ ที่หลุดมาในปีค.ศ. 2003 หรือเดโมเวอร์ชั่นสุดท้ายเมื่อปี 2006 แต่อาจจะเป็นเพราะการเพิ่มเสียงคีย์บอร์ดเพิ่มเติมช่วยโอบอุ้มบทเพลงให้ลดความร้อนแรงลง จริง ๆ ก็ไม่ใช่เพลงแรงอยู่แล้ว แต่ภาคริธึ่มกีตาร์ที่หนักแน่นมันช่วยให้เพลงนี้ฟังดูแรงขึ้นหน่อย แต่เป็นเพลงที่รู้สึกว่าเวอร์ชั่นเดโมที่ทำออกมาดิบๆ ฟังได้อารมณ์กว่าเวอร์ชั่นสุดท้ายนี้
เพลงไตเติลแทร็ก “ไชนิสเดโมเครซี” เป็นเพลงเปิดอัลบั้มแสดงศักยภาพด้านเสียงร้องของแอ็กเซิลยอดเยี่ยม เสียงร้องของเขายังคงไว้ใจได้…อย่างน้อยก็ในสตูดิโอ ส่วนการแสดงสดจริงจะโหนเสียงสูงได้แบบที่ร้องในอัลบั้มหรือเปล่าก็ต้องดูกันอีกที เพราะในช่วงทัวร์อุ่นเครื่องก่อนอัลบั้มนี้จะออกมา เสียงร้องของเขามีปัญหาอยู่พอสมควร
ท่อนโซโล่หลายเพลงยังมีอารมณ์แบบเดียวกับที่สแลชเคยทำเอาไว้ อย่างเช่น “เบ็ตเตอร์” ด้วยจังหวะและลีลาการเล่นกีตาร์ในเพลงนี้ฟังดูดีและชอบเป็นการส่วนตัวตั้งแต่ได้ฟังเวอร์ชั่นเดโม ยังมีอารมณ์แบบอินดัสเทรียลหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ว่าในช่วงท้าย ๆ โรบินโซโล่ได้เฉียบคมในลีลาไม่ต่างไปจากสแลชเท่าไหร่ และที่โดดเด่นอีกเพลงคือ“สตรีตออฟดรีมส์” เพลงบัลลาดที่ใช้เสียงเปียโนเป็นตัวเดินเรื่อง เปิดขึ้นมานึกถึงบัลลาดร็อกที่เน้นเปียโนอย่างบิลลี โจลกับเอลตัน จอห์นก่อนที่เสียงกีตาร์จะเข้ามากระหน่ำในช่วงกลางตามสไตล์เพาเวอร์บัลลาด เป็นเพลงเดียวในอัลบั้มนี้ที่ฟังแล้วอยากให้สแลชมาเล่นกีตาร์ แต่เท่าที่โรบินทำไว้ก็ไม่เลยทีเดียว
ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือเพลง “แช็กเลอรส์รีเวนจ์” เพลงนี้มันผสมปนเประหว่างฮาร์ดร็อก อินดัสเทรียล ฉีกหนีไปจากยุคเดิมอย่างสิ้นเชิง เป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าและห่างไกลจากยุคแรกจนน่าใจหายสำหรับคนที่ชอบความคลาสสิคของ แอ็ปปิไทท์ฟอร์เดสทรักชัน แต่มันคงสะใจคนที่ชอบเสียงกีตาร์หนา ๆ และใช้เทคโนโลยี่ในสตูดิโออย่างโปรทูลส์ในการตัดต่อเสียง
เพียงแค่ริฟฟ์ขึ้นต้นมาก็ไม่ใช่สไตล์เดิมแล้ว เป็นริฟฟ์แบบพวกเมทัลสมัยใหม่มากกว่า ถ้าเป็นสแลชหรืออิซซีจะไม่สร้างริฟฟ์สไตล์นี้ ยิ่งถ้าคิดถึงสมัยเริ่มแรกแทบจะเป็นคนละวงไปเลย การใส่สำเนียงอินดัสเทียลเข้ามาในอัตราส่วนที่มากเอาการ ในหลายเพลงน่าจะเป็นสิ่งแสลงหูสำหรับแฟนเพลงรุ่นเก่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะคนที่เคยฟัง “มายเวิลด์” และ “โอมายก็อด” มาก่อน (แล้วแฟนเพลงคนไหนจะไม่เคยฟังบ้าง?) รับรองว่ามันไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการ
แต่เพลงอื่นทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันใช่เพลงของกันส์แอนด์โรเซสหรือเปล่า? อย่าง “อีฟเดอะเวิลด์” มันออกสไตล์เก่าปนป็อปพร้อมกับเสียงกีตาร์ฟลาเมนโก้ กับจังหวะโยน ๆ แบบฟังก์ ผสมกับอินดัสเทรียลบาง ๆ เพลงแบบนี้ต่างไปจากเคยได้ยินมาก่อน เสียงกีตาร์ฝีมือบักเก็ตเฮดทำออกมาได้ยอดเยี่ยมสมกับเป็นเชรดเดอร์ที่น่าจับตามองในรอบทศวรรษ ผสานไปกับเสียงกีตาร์หนัก ๆ
“แดร์วอสอะไทม์” เป็นหนึ่งในร็อกที่ให้อารมณ์เก่า ๆ แต่เสียงกีตาร์ที่หนักเอาการ เพลงนี้มีคนเล่นกีตาร์ถึง 6 คน (รวมตัวแอ็กเซิลเองด้วย) ตามมาด้วย “แคตเชอร์อินเดอะไร” กลายเป็นเพลงในแบบที่แตกต่างไปจาก ยุคเดิมที่เคยฟังกันมาก เพลงนี้ออกคล้ายกับร็อกในสไตล์วงควีน สองเพลงนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแอ็กเซิลกำลังเจริญรอยตามวงดนตรีเก่า ๆ ที่เขาชื่นชอบ แต่ที่ฉีกไปเลยก็คือ “ซอรรี” เพลงที่ดูแปลกไปเลยจากอัลบั้มและกลายเป็นเพลงแปลกแยกจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กึ่งพิงก์ฟรอยด์แต่ก็ไม่ใช่พิงก์ฟรอยด์เสียทีเดียว จะบอก่ว่าคล้ายควีนสไรซ์ ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว ถ้าไม่นับว่ามันคือเพลงกันส์แอนด์โรเซสแล้วมันก็เป็นเพลงที่น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน แต่พอเอาชื่อ กันส์แอนด์โรเซสมาใส่ ทำให้เพลงนี้ฟังดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางอย่างไรพิกล
คิดว่า ไชนิสเดโมเครซี เป็นอัลบั้มที่มีเพลงดี ๆ เพียงแต่ว่าไม่ค่อยฟังอัลบั้มนี้จนจบอัลบั้ม แต่ถ้าฟังรายละเอียดของแต่ละเพลงแล้ว ต้องยอมรับว่าชอบอยู่ไม่น้อยเหมือนกันถึงแม้ว่ามันจะแตกต่างไปจากอดีตจนแทบจำไม่ได้ว่าเป็นกันส์แอนด์โรเซส
Track listing
- “Chinese Democracy” 4:43
- “Shackler’s Revenge” 3:37
- “Better” 4:58
- “Street of Dreams” 4:46
- “If the World” 4:54
- “There Was a Time” 6:41
- “Catcher in the Rye” 5:53
- “Scraped” 3:30
- “Riad n’ the Bedouins” 4:10
- “Sorry 6:14
- “I.R.S.” 4:28
- “Madagascar” 5:38
- “This I Love” 5:34
- “Prostitute” 6:15