ไม่ว่าใครจะมองไมเคิล แจ็กสันอย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงเขาในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ต้องยอมรับกันโดยไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าเขาคือความเจิดจรัสที่ยากจะหาคนมาเทียบเคียงได้ ในฐานะของคนผิวสี เขาคือคนที่ฝ่ากำแพงอคติของคนผิวขาว และก้าวขึ้นมาครองความนิยมในใจแฟนเพลงได้ทั่วโลก
หลายครั้งที่เขาทำอะไรที่คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเขาไม่เคยสัมผัสกับวัยเด็กเหมือนคนอื่นเพราะเขาคือคนที่เกิดมาเพื่อที่จะเป็นซูเปอร์สตาร์และฉายแววออกมาตั้งแต่เขายังเด็กในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของวงเดอะแจ็กสันไฟฟ์
Part I: The Jackson 5
วงเดอะแจ็กสันไฟฟ์เป็นวงดนตรีของพี่น้องในตระกูลแจ็กสัน 5 คนคือแจ็กกี ตีโต้ เจอร์ไมน์ มาร์ลอน และไมเคิล ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของโจเซฟ แจ็กสันผู้เป็นบิดา ซึ่งนำพวกเขาก้าวมาสู่การศิลปินภายใต้ชายคาบริษัทโมทาวน์ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ทางโมทาวน์ ฟอร์มทีมเดอะคอร์เปอเรชันขึ้นมาทำหน้าที่ประพันธ์ เรียบเรียงและดูแลการผลิตให้กับศิลปินในค่ายโมทาวน์โดยเฉพาะ สมาชิกของทีมประกอบด้วยเบอรี กอร์ดี้ เฟรดดี เพอเรน เดก ริชาร์ดส์ และ อัลฟองโซ ไมเซลล์ ได้จับงานชุดแรกคืองานของเดอะแจ็กสันไฟฟ์ และประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถผลักดันเดอะแจ็กสันไฟฟ์ ให้เป็นขวัญใจวัยรุ่นได้ จนเกิดกระแสแจ็กสันมาเนีย ขึ้นมาได้
ชื่อเดอะแจ็กสันไฟฟ์ ต้องมาสะดุดลงในปีค.ศ. 1975 เมื่อทางวงย้ายค่ายจากโมทาวน์ มาสู่ซีบีเอส แต่ปรากฏว่าชื่อเดอะแจ็กสันไฟฟ์กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของโมทาวน์ ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนชื่อวงเป็นเดอะแจ็กสันแทน
Diana Ross Presents the Jackson 5
Released December 18, 1969
Label: Motown
Producer Bobby Taylor, The Corporation
อัลบั้มแรกของเดอะแจ็กสันไฟฟ์ได้ชื่อไดอานา รอสส์ศิลปินที่โด่งดังมากในขณะนั้นมาประทับอยู่บนปกอัลบั้ม พร้อมเขียนแนะนำวงเล็กน้อยในปกอัลบั้ม จนหลายคนคิดว่านี่คือวงเด็กปั้นของไดอานา รอสส์หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นแผนการตลาดของเบอรีเจ้าของโมทาวน์ที่ต้องการอาศัยชื่อเสียงไดอานาเพื่อโฆษณาวงเท่านั้น
เพลงในอัลบั้มนี้จะแตกออกเป็นสองทิศทาง กล่าวคือถ้าเป็นเพลงที่นำเพลงของคนอื่นมาร้อง ซึ่งบ็อบบี เทย์เลอร์เป็นคนควบคุมการผลิตจะออกมาทางโซลเข้มข้น แต่ในเพลง “โนบอดี” กับ “ไอวอนท์ยูแบ็ก” เป็นเพลงที่ประพันธ์และดูแลการผลิตโดยทีมเดอะคอร์เปอเรชันจะออกไปทางป็อปมากกว่า
Killer Tracks:
“ไอวอนท์ยูแบ็ก” บทเพลงผลผลิตของเดอะคอร์เปอเรชันได้สร้างแนวทางบับเบิลโซลขึ้นมา เพื่อจะนำเอาดนตรีของคนผิวดำเข้าสู่ตลาดคนผิวขาวได้ง่ายขึ้น และเพลงนี้มันก็ติดหูคนง่ายในความเป็นป็อปแต่ก็ไม่ทิ้งการแสดงความสามารถในการร้องของเหล่าสมาชิกเดอะแจ็กสันไฟฟ์ ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตอันดับ 1 เพลงแรกของพวกเขา
ABC
Released May 1970
Label: Motown
Producer: The Corporation
เดอะคอร์เปอเรชันเข้ามาควบคุมการทำงานในอัลบั้มนี้เต็มที่ ส่งผลให้อัลบั้มนี้มีเพลงโดดเด่น ในสไตล์บับเบิลโซล โดยเน้นเสียงร้องของไมเคิล แจ็กสัน มากขึ้น (เขาร้องนำเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพลง “ไอฟาวนด์แด็ตเกิร์ล” ที่ร้องโดยเจอไมน์) ความเข้มข้นของดนตรีโซลในงานชุดแรกจางหายไป กลายเป็นดนตรีในแบบ โมทาวน์เต็มตัว
Killer Tracks:
“เอบีซี” ออกมาในสไตล์ไม่ต่างไปจาก “ไอวอนท์ยูแบ็ก” ในอัลบั้มแรก และมันก็กลายเป็นเพลงฮิตอันดับหนึ่งไปอย่างไม่ยากเย็น
Third Album
Released September 1970
Label: Motown
Producer: The Corporation & Hal Davis
หลังจากออกอัลบั้มเอบีซีได้ไม่นานพวกเขาก็ออกอัลบั้มลำดับที่ 3 ตามมาติด ๆ ฉวยจังหวะที่เดอะแจ็กสันไฟฟ์กำลังเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเต็มตัว แต่ว่าด้วยความสามารถของทีมจัดการที่ยอดเยี่ยมและตัวพี่น้อง แจ็กสันก็อยู่ในสภาพที่กำลังสดและใหม่อยู่ ทำให้อัลบั้มนี้ไม่ได้ออกมาแบบสุกเอาเผากิน และจะว่าไปแล้วเป็นอัลบั้มที่ค่อนข้างเข้มข้นทีเดียว ตัวอัลบั้มสามารถขึ้นไปถึงอันดับที่ 4 และทำยอดจำหน่ายได้มากกว่า 6 ล้านแผ่นมากกว่าสองอัลบั้มก่อนหน้านั้น
Killer Tracks:
“ไอล์บีแดร์”หลังจากที่เดอะแจ็กสันไฟฟ์ ประสบความสำเร็จกับเพลงอันดับ 1 ในอัลบั้มก่อน พวกเขากลับลำมาทำเพลงบัลลาดโดยอาศัยน้ำเสียงที่เยี่ยมยอดของเจอไมน์กับไมเคิลช่วยกันเสริมความงดงามของบทเพลง และทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิตอันดับ 1 อีกเพลง
“ดาร์ลิงเดียร์” เพลงมิดเทมโปที่กลับไปสู่รูปแบบเดิมของบับเบิลโซลกับเบสไลน์ที่ติดหู
“โกอิงแบ็กทูอินเดียนา” เนื้อเพลงนี้พูดถึงความเป็นมาและรากฐานของเหล่าเดอะแจ็กสันไฟฟ์ โดยเฉพาะ
The Jackson 5 Christmas Album
Released October 15, 1970
Label: Motown
Producer: The Corporation
เป็นอัลบั้มพิเศษ ที่ทำออกมาเพื่อเทศกาลคริสมาสต์โดยเฉพาะ ไมเคิล แจ็กสัน รับหน้าที่เป็นตัวชูโรงเด่นชัดมากขึ้น
Maybe Tomorrow
Released April 1971
Label: Motown
Producer:The Corporation & Hal Davis
อาจจะเป็นผลจากความสำเร็จของ “ไอล์บีแดร์” ก็เป็นได้ ทำให้อัลบั้มนี้เป็นเพลงบัลลาดเสียหลายเพลง ต่างจากงานชุดก่อนที่จะเน้นเพลงจังหวะสนุกติดหูง่ายเป็นหลัก กลายเป็นเพลงที่ขายเสียงของสมาชิก (โดยเฉพาะ ไมเคิล แจ็กสัน) แทน ซึ่งดูเหมือนว่าการหันมาจับตลาดแบบนี้ไม่ค่อยถูกใจแฟนเพลงมากนัก เพราะถึงกระแสความนิยมในตัวเดอะแจ็กสันไฟฟ์จะยังคงอยู่ แต่ยอดจำหน่ายอัลบั้มเริ่มจะลดน้อยถอยลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
Killer Tracks:
“เนเวอร์แคนเซย์กู้ดบาย” เพลงบัลลาดที่ขึ้นไปถึงอันดับ 2 และกลายเป็นเพลงฮิตด้วยน้ำเสียงที่สุดยอดของไมเคิล แจ็กสัน
“เมย์บีทูมอร์โรว์” เพลงนี้ทำเอาไว้สำหรับให้แซมมี เดวิส จูเนียร์ร้อง แต่ว่าเขาไม่มีเวลามาร้องทำให้ โมทาวน์ตัดสินใจยกเพลงนี้ให้กับเดอะแจ็กสันไฟฟ์ ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวังเมื่อเพลงบัลลาดเพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 20 และกลายเป็นเพลงที่แฟนเพลงหลายคนจดจำอยู่เสมอ
Goin’ Back to Indiana
Released September 1971
Label: Motown
Producer: Berry Gordy
อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มเพลงประกอบรายการทีวีของพวกเขาซึ่งนำเสนอคอนเสิร์ตคืนสู่เหย้าของเดอะแจ็กสันไฟฟ์ ที่พวกเขาไปเล่นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1971 มีเพลงคัฟเวอร์หลายเพลงที่น่าสนใจ อย่าง “สแตนด์!” ของสไลแอนด์เดอะแฟมิลีสโตน
Lookin’ Through the Windows
Released May 1972
Label : Motown
Producer: The Corporation & Hal Davis
อัลบั้มนี้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องดนตรีต่างไปจากเดิมบ้าง เมื่อเสียงร้องของ ไมเคิล แจ็กสัน เริ่มแตกหนุ่ม ทำให้ไม่สามารถร้องเพลงเสียงใสแบบในงานชุดก่อนหน้าได้ จากเสียงในระดับโซปราโน กลายเป็นเสียงในระดับเทเนอร์แทน แต่ว่า ไมเคิล แจ็กสัน ก็ยังไม่ทำให้แฟนเพลงผิดหวัง
ลุกกิงธรูห์เดอะวินโดวส์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างเดอะแจ็กสันไฟฟ์และโมทาวน์ อันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางด้านดนตรีไม่ตรงกัน และพวกเขาก็เลยเลือกเพลงที่เดอะคอร์เปอเรชันประพันธ์ให้น้อยลง
Killer Tracks:
“ด็อกเตอร์มายอายส์” เพลงนี้เป็นเพลงของแจ็กสัน บราวน์ที่เดอะแจ็กสันไฟฟ์นำมาขับร้องใหม่ เป็นเพลงจังหวะสนุก ๆ ที่ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างจากทิศทางบับเบิลโซลที่เดอะคอร์เปอเรชันอยากให้เดอะแจ็กสันไฟฟ์ทำ
Skywriter
Released March 1973
Label: Motown
Producer Hal Davis & The Corporation
ในงานชุดนี้เสียงร้องของไมเคิล แจ็กสันออกทางเทเนอร์เต็มตัวตามวัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้เขาไม่สามารถที่จะร้องโน้ตสูง อย่างที่เคยทำตอนออกอัลบั้มแรกได้อีกต่อไป แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นแค่ความเปลี่ยนแปลงทางเสียงร้องอย่างเดียว เพราะในขณะนั้นไมเคิล แจ็กสัน เริ่มโตขึ้นและไม่ค่อยชอบเพลงในสไตล์ บับเบิลโซลที่โมทาวน์ยัดเยียดให้เขาร้อง ขณะนั้นสมาชิกแต่ละคนของเดอะแจ็กสันไฟฟ์เริ่มเขียนเพลงของพวกเขาเองขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ว่าไม่ได้รับการยอมรับจากโมทาวน์ให้นำมาใช้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายมากขึ้น
อัลบั้มนี้เรียกได้ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะการโปรโมทอัลบั้มนี้น้อยมาก และทางเดอะแจ็กสันไฟฟ์หันไปเดินสายออกทัวร์รอบโลก และกลายเป็นงานชุดสุดท้ายที่เดอะแจ็กสันไฟฟ์ยอมร้องเพลงในสไตล์บับเบิลโซล
Killer Tracks:
“ทัช” เพลงเก่าของวงเดอะซูพรีมส์ที่เสียงและวิธีการร้องของไมเคิลและเจอไมน์ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาโตเกินกว่าจะร้องเพลงแบบบับเบิลโซลอีกต่อไป
The Jackson 5 in Japan
Released 1973 (Japan only), October 31, 2004 (5000 copy limited re-issue)
Label: Motown/Hip-O Select
อัลบั้มแสดงสดที่บันทึกและจัดจำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถึงแม้กระแสในอเมริกาจะเริ่มตกลงไปจากเดิม แต่พวกเขาก็ได้แฟนเพลงจากมุมอื่นของโลกมากขึ้น
G.I.T.: Get It Together
Released September 1973
Label: Motown
Producer: Hal Davis and Norman Whitfield
หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจเลิกร้องแนวดนตรีบับเบิลโซล หรืออย่างน้อยก็ให้มีน้อยที่สุด และไม่ต้องการให้เดอะคอร์เปอเรชันเข้ามาควบคุมพวกเขาอีก ผลก็คืออัลบั้มที่ออกมาก่อนกาลเวลา เพราะในงานชุดนี้มีทั้งฟังก์ โซล และดนตรีที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อดิสโก! และด้วยอิทธิพลของนอร์แมน ไวท์ฟิลด์ที่ช่วยสร้างชื่อให้กับวงเดอะเทมเทชันมาแล้ว
ที่สำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลงสไตล์ดนตรีก็คือการที่พี่น้องแจ็กสันหันมาแบ่งปันเพลงกันร้องแทนที่จะพึ่งพาอาศัยเสียงร้องของไมเคิลเป็นหลักเหมือนงานก่อนหน้านี้ ทำให้เพลงมีความหลากหลายมากขึ้น
Killer Tracks:
“แดนซิงแมชีน ” เพลงออกป็อปที่มีจังหวะสนุกของฟังก์ซึ่งไมเคิล แจ็กสัน เริ่มฉายแววการเป็นนักเต้นมากกว่าจะร้องเพลงอย่างเดียว โดยริเริ่มการเต้นแบบโรโบติกสร้างความสนใจให้กับแฟนเพลงเป็นอย่างมาก และเพลงนี้ทำให้เดอะแจ็กสันไฟฟ์กลับมาประสบความสำเร็จเท่ากับสมัยแรกอีกครั้ง
Dancing Machine
Released September 1974
Label: Motown
Producer: Hal Davis
ความสำเร็จของเพลง “แดนซิงแมชีน ” ในอัลบั้มที่แล้วทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะนำเสนอดนตรีแบบ ฟังก์และดิสโกมากขึ้นกว่าเดิม และงานชุดนี้ก็กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอีกชุดหนึ่งของพวกเขา แม้ว่าจะไม่ได้รับการโปรโมทจากบริษัทเท่าที่ควร แต่ด้วยบทเพลงและการแสดงของพวกเขาทำให้อัลบั้มนี้มียอดจำหน่ายที่น่าพอใจ
Killer Tracks:
“ว็อตเอเวอร์ยูก็อต, ไอวอนท์” เพลงฟังก์จังหวะแรงสนุกทำให้เห็นทิศทางดนตรีที่พวกเขานำเสนอชัดเจนว่าจะไปในทิศทางไหน
Moving Violation
Released May 1975
Label: Motown
Producer: Hal Davis
ดนตรียังคงดำเนินรอยตามอัลบั้ม แดนซิงแมชีน เน้นความเป็นฟังก์ขัดเจน แต่ความขัดแย้งระหว่าง เดอะแจ็กสันไฟฟ์และโมทาวน์ดำเนินมาจนถึงขีดสุด ทำให้พวกเขาตัดสินใจอำลาโมทาวน์ ไปหลังจากทำอัลบั้มนี้เสร็จสิ้นลง