ความจริงจะนำเสนออัลบั้มธริลเลอร์มาหลายหนแล้ว เพราะด้วยศักดิ์ศรีของงานที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในโลกคงจะหลงลืมงานชุดนี้ไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เขียนถึงด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่ถึงตอนนี้ หลังจากที่ไมเคิล แจ็กสันเสียชีวิต ก็หยิบงานชุดนี้ขึ้นมาฟังรำลึกความหลังคู่กับอัลบั้ม ดิเอสเซนเชียล
บอกตรง ๆ เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ที่ได้ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของ ไมเคิล แจ็คสัน ยังคิดอยู่เลยว่านี่คงจะเป็นเรื่องอำกันเล่น เพราะอีกหนึ่งสัปดาห์เขาจะเปิดคอนเสิร์ตที่ว่ากันว่าจะเป็นการคมแบ็กอย่างยิ่งใหญ่ และ…รู้สึกว่าเขายังอายุไม่เท่าไหร่เลย…
“ไมเคิล แจ็กสันผู้ไม่เหมือนใคร แม้แต่ตัวเอง” หรือแว็กโคแจ็คโคเป็นถ้อยคำเสียดสีพฤติกรรมแปลก ๆ ของเขา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าเขาเป็นคนที่บุกเบิกและสร้างอะไรทิ้งไว้ให้กับดนตรีของ “คนสีผิว” ค่อนข้างมาก
ไมเคิลเริ่มต้นอาชีพนักร้องในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของเดอะแจ็กสันไฟฟ์ วงดนตรีของพี่น้องตระกูลแจ็กสัน ภายใต้การกำกับของโจเซฟ แจ็กสัน ผู้เป็นบิดา ซึ่งเปลี่ยนผันจากวงดนตรีท้องถิ่นเล็ก ๆ มาสู่ร่มเงาของอาณาจักรโมทาวน์อันยิ่งใหญ่ของเบอรี กอร์ดี ซึ่งผลักดันให้วงเดอะแจ็กสันไฟฟ์กลายเป็นวงดนตรีระดับประเทศที่ออกงานมาถึง 13 ชุดในเวลา 7 ปี แน่นอนว่าจุดเด่นของวงตกอยู่กับเด็กน้อยที่ชื่อไมเคิล แจ็กสัน แต่ภายหลังจากที่เดอะแจ็กสันไฟฟ์แยกตัวออกจากบริษัทโมทาวน์ ความนิยมก็ตกต่ำลงไป (ช่วงที่ออกจากโมทาวน์มาออกงานกับอีพิก พวกเขาเปลี่ยนชื่อเป็นเดอะแจ็กสัน และเปลี่ยนตัวสมาชิกคนหนึ่ง เพราะเจอร์ไมน์ แจ็กสันตัดสินใจที่จะทำงานกับโมทาวน์ ต่อ ทางเดอะแจ็กสันเลยนำแรนดี แจ็กสันน้องคนสุดท้องเข้ามาแทน แต่จุดเด่นของทางคณะก็ยังอยู่กับ ไมเคิลเหมือนเดิม
จนกระทั่งปีค.ศ. 1979 เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของไมเคิลซึ่งมีอายุครบ 21 ปี เป็นช่วงที่เขากำลังกังวลกับเสียงของตัวเองที่ไม่แหลมใสเหมือนเดิมเพราะโตเป็นหนุ่มเต็มตัว ขณะเดียวกันเขาก็อยากปลดแอกตัวเองจากบิดาจอมบงการ และตัดสินใจที่จะมาใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระที่นิวยอร์ก หลังจากที่ได้ทราบความจริงว่าบิดาของเขาแอบไปมีความสัมพันธ์ลับกับหญิงสาวคนหนึ่งนานหลายปีและมีลูกด้วยกัน
และไมเคิล ได้ก้าวเดินต่อไปด้วยการทำอัลบั้มเดี่ยว งานชุดแรก ออฟเดอะวอล ได้ควินซี โจนส์ เป็นคนดูแลภาคการผลิต และกลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จมากกว่างานในนามเดอะแจ็กสันเสียอีก เมื่อบวกกับเหตุผลอีกหลายอย่าง (คงไม่ใช่เพียงแค่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องถึงพาคนอื่นแล้วไม่อยากแบ่งความสำเร็จกับใคร) ทำให้เขาตัดสินใจที่จะมุ่งหน้าสู่การเป็นศิลปินเดียวเต็มตัว ในอัลบั้ม ธริลเลอร์ โดยทำงานร่วมกับ ควีนซี โจนส์ อีกครั้ง
ตอนที่ออกอัลบั้ม ออฟเดอะวอล นั้นก็ได้สร้างความเป็นซูเปอร์สตาร์ให้กับไมเคิลอยู่แล้ว ตอนนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่า ธริลเลอร์ จะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ถึงแม้ว่า ออฟเดอะวอล จะเป็นงานที่ขายได้ดี แต่ธริลเลอร์ทำยอดขายระดับ 100 ล้านชุดมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครก็ตาม แม้แต่ตัว ไมเคิลเอง
พยายามฟังงานนี้หลายรอบก่อนที่จะเขียน อยากจะรู้จริง ๆ ว่าอะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของงานชุดนี้ เพราะฟังอย่างไร มันก็เป็นงานที่เจริญรอยตาม ออฟเดอะวอล มีทั้งเพลงบัลลาดอย่าง “เดอะเลดีอินมายไลฟ์” “ฮิวแมนเนเจอร์” และ “เดอะเกิร์ลอิสมายน์” มีเพลงฟังก์อย่าง “บีลลี จีน” “วอนนาบีสตาร์ติงซัมติง” มีเพลงดิสโกอย่าง “เบบีบีมายน์ ” กับ “พีวายที (พริตตียังธิง)”
ทั้งหมดนี้มันก็ไม่ได้ต่าง ออฟเดอะวอล แต่อย่างใด บางทีจุดเด่นของงานชุดนี้ที่เรียกแฟนเพลงได้กว้างมากขึ้น อาจจะมาจากการร่วมงานกับศิลปินคนอื่นอย่างพอล แม็กคาร์ตนี ในเพลง “เดอะเกิร์ลอิสมายน์” กลายเป็นเพลงที่นำพาดนตรีของคนผิวสีไปสู่อีกระดับหนึ่ง หรือการทำลายกำแพงอคติที่คิดว่าดนตรีของคนผิวดำจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เนื้อหา “เดอะเกิร์ลอิสมายน์” ไม่มีอะไรมากไปกว่าชายสองคนแย่งหญิงคนเดียวกัน เพลงนี้ตอนแรกแฟนเพลงของไมเคิลไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เพราะรู้สึกเหมือนว่าลดตัวลงไปทำเพลงป็อปและร้องเพลงร่วมกับพอลเพื่อหวังผลทางการตลาด ซึ่งถ้าไมเคิลคิดแบบนั้นจริงๆผลลัพธ์ทีได้มันก็คงจะตรงกับความตั้งใจของเขา

หรือการเชิญเอ็ดดี้ แวน เฮเลน มาร่วมโซโลกีตาร์ในเพลง “บีตอิต” ก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคิดว่ามือกีตาร์ในสายฮาร์ดร็อกจะมาร่วมเล่นกับดนตรีดิสโก แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และทำให้เพลงนี้แพร่กระจายไปสู่หูคนฟังเพลงร็อกโดยที่ไม่ทิ้งแฟนเพลงดั้งเดิม เนื้อหาของเพลงพูดถึงการต่อสู้บนท้องถนนของเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มาก
อิทธิพลของเพลงฟังก์จะครอบคลุมงานชุดนี้มาก อย่าง “พีวายที (พริตตียังธิง)” ก็ทำได้เด่นและคึกคัก มีพี่สาวและน้องสาวมาร่วมคอรัสให้ความรู้สึกสนุกสนานอย่างเดียวกับเพลงเปิดอัลบั้มนี้ด้วย “วอนนาบีสตาร์ติงซัมติง” เป็นเพลงฟังก์แรง สนุกในแบบดิสโก ที่ในช่วงนั้นถึงกาลเวลาแตกดับไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ไมเคิลนำกลับมาใช้ใหม่อีกรอบอย่างรู้จักดัดแปลงเอาดนตรีฟังก์มาเพิ่ม เพลงนี้ เขียนสมัยทำอัลบั้ม ออฟเดอะวอล แต่ไม่ได้เอาไปใช้ เลยนำมาบันทึกเสียงลงในอัลบั้มนี้แทนท่อนคอรัสปิดท้ายเพลงมาจากเพลงของมานู ดิแบงโก เป็นลักษณะการร้องแบบคนอัฟริกันที่ติดหูและทำให้เพลงโดดเด่นขึ้นมามากทีเดียว
เพลงฮิตของงานชุดนี้ “บิลลี จีน” นั้นเป็นเพลงอิงแอบฟังก์อย่างไม่ต้องสงสัย การใส่เสียง ฟอลเซตโตเป็นเอกลักษณ์ของเขาก็เข้ามาได้อย่างเหมาะเจาะ เนื้อหาได้แรงบันดาลใจมากจากแฟนเพลงที่คลั่งไคล้จนเกินเหตุ ถึงขนาดเขียนจดหมายไปถึงไมเคิลว่าเป็นพ่อของลูกเธอ เขาเลยเอามาเขียนเป็นเพลง
Billie Jean is not my lover
She’s just a girl who claims that I am the one
But the kid is not my son
She says I am the one
But the kid is not my son
ว่ากันว่าเพลงที่ลองเอามาทำร่วมกันก่อนจะเป็น ธริลเลอร์ นั้นราว 300 เพลง และเลือกเอามาเพียงแค่ 9 เพลง ในจำนวนนี้มีเพลงที่ไมเคิลเป็นประพันธ์เพลง 4 เพลงคือ”วอนนาบีสตาร์ติงซัมติง” “เดอะเกิร์ลอิสมายน์” (ร่วมกับพอล แม็กคาร์ตนี) “บีตอิต” และ “”บีลลี จีน”
ระหว่างการบันทึกเสียงเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างควินซีกับไมเคิลเป็นระยะ อย่างเพลง “บิลลี จีน” ที่ไมเคิลคิดว่ามันยอดเยี่ยม แต่ควินซีคิดว่าเพลงมันอ่อนเกินไปและไม่มีเป้าหมายทางการตลาดที่ชัดเจนจนอยากจะคัดเพลงนี้ออกจากอัลบั้ม แต่ไมเคิลไม่ยอม และเมื่อควินซีต้องการตัดท่อนอินโทรที่เขาคิดว่ามันยาวเกินไปออก ตัวไมเคิลยืนกรานที่จะเก็บท่อนไว้ เพราะเขารู้สึกว่าเมื่อได้ฟังท่อนอินโทรแบบนี้แล้วอยากจะเต้นรำ
อัลบั้ม ธริลเลอร์ กลายเป็นงานประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีไปในเวลาต่อมา ด้วยการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าของเอ็มทีวีทำให้เพลง “บีตอิต” และ “บิลลีจีน” กลายเป็นเพลงฮิต และท่าเต้นมูนวอล์กกลายเป็นท่าเต้นสุดฮิตของโลก ไม่ทราบว่าเด็กรุ่นนี้จะยังรู้จักท่านี้หรือเปล่า คือเป็นท่าที่เหมือนจะเดินไปข้างหน้าแต่ว่าจริง ๆ แล้วถอยหลัง สมัยเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนจะเป็นท่าฮิตมาก ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะทางเอ็มทีวีส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอย่างดี
ไมเคิล แจ็กสันเคยพูดถึงเรื่องการทำเพลงที่ “ฮิตทุกเพลง” ก่อนหน้าที่จะออกอัลบั้มนี้ออกมา ในตอนนั้นหลายคนคงคิดว่าเป็นความมุ่งมั่นที่ออกจะเพ้อฝันเกินไปหน่อย แต่อัลบั้มนี้มีเพลงฮิตขึ้นท็อป 10 ถึง 7 เพลง จากเพลงในอัลบั้มนี้ที่มีเพลงทั้งหมดเพียง 9 เพลง
ฟังอัลบั้มชุดนี้จบจะไม่แปลกใจเลยที่เขาเป็นคิงออฟป็อปเพราะถ้าเขาไม่คู่ควรกับคำนี้ ก็คงไม่มีใครในโลกที่คู่ควรกับคำนี้อีกแล้ว
Track Lists:
- Wanna Be Startin’ Somethin’
- Baby Be Mine
- Girl Is Mine
- Thriller
- Beat It
- Billie Jean
- Human Nature
- Y.T. (Pretty Young Thing)
- Lady in My Life
Special Edition Bonus Material:
- Someone in the Dark
- Billy Jean (Home Demo)
- Voice and Interview
- Carousel
Cradit:
- Michael Jackson (vocals, percussion)
- Paul McCartney (vocals)
- Vincent Price (spoken vocals)
- Steve Lukather (guitar, bass)
- Larry Williams (flute, saxophone)
- Jerry Hey (trumpet, flugelhorn)
- Bill Reichenbach (trombone)
- David Paich (piano, synthesizer)
- Greg Phillinganes (Fender Rhodes piano, synthesizer, programming)
- Steve Porcaro (synthesizer, programming)
- David Foster, Rod Temperton (synthesizer)
- Tom Bahler (Synclavier)
- Louis Johnson (bass)
- Ndugu Chancler, Jeff Porcaro (drums)
- Paulinho Da Costa (percussion)
- Brian Banks (programming)
- Eddie Van Halen, Dean Parks, Paul Jackson (guitar)
- LaToya Jackson, Julia Waters, Maxine Waters, Oren Waters, Becky Lopez, Janet Jackson (background vocals).
One thought on “Michael Jackson: Thriller”