เรื่องราวการประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืนนี่หลายๆคนคงเปรียบเทียบกับ ซินเดอเรลลานะ
แต่ซินเดอเรลลาที่จะมีเจ้าชายเอารองเท้ามาให้เพื่อที่จะได้อยู่อย่างมีความสุขต่อไปมันมีน้อยเหลือเกิน!
อย่างในสมัยปลายทศวรรษ 80 มีวงดนตรีจำพวกแฮร์แบนด์ ประสบความสำเร็จกันชั่วข้ามคืน แล้วก็หล่นหายไปในกาลเวลา
ทั้งที่บางวงมีฝีมืออยู่ในระดับที่น่าจะประคับประคองตัวเองได้นานๆ
อย่างวงดนตรีที่ชื่อซิลเดอเรลลาเป็นต้น
วงนี้ก็เป็นซินเดอเรลลาสมชื่อ พวกเขาเหมือนกับคนใช้ในครัวที่จู่ๆ ก็กลายเป็นเจ้าหญิง แต่แล้วก็ต้องกลับไปเป็นคนรับใช้เหมือนเดิม ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งเจ้าชายก็ถือรองเท้าแก้วมาตามหาให้กลับไปใช้ชีวิตในพระราชวัง แต่สำหรับวง ซิลเดอเรลลา ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีวันนั้น!!!
ทอม คีเฟอร์ คงจะรำพังรำพันในบางคืนว่าคนซื้ออัลบั้มเดี๋ยวนี้ไม่มีพวกที่รสนิยมชอบวงดนตรีฮาร์ดร็อกที่มีรากฐานจากบลูส์ กันบ้างหรือไง หรือว่ามันกลายเป็นของตกเมนูไปแล้ว…
หลังจากออกสตูดิโออัลบั้มในปีค.ศ. 1994 แล้วพวกเขาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีอัลบั้มใหม่ออกมา มีเพียงงานรวมเพลงและงานบันทึกการแสดงสด ซึ่งล่าสุดคือ ไลฟ์ แอท เดอะ โมฮีแกน ซัน (Live at the Mohegan Sun) ปลายปีค.ศ. 2009
ซิลเดอเรลลา เป็นวงดนตรีที่มีพื้นเพมาจากฟิลลาเดเฟีย แต่กลับทำดนตรีไปคล้ายกับวงแอโรสมิธ (จาก บอสตัน) และเอซี/ดีซี (จาก ออสเตรเลีย)
“ในตอนแรกที่เราตระเวนเล่นกันตามคลับ เราก็อยากจะนำเสนอเพลงของเราเอง ซึ่งนั้นทำให้เราหาที่เล่นลำบากเพราะว่าพวกคลับเหล่านั้นต้องการวงที่เล่นคัฟเวอร์มากกว่า” ทอม คีเฟอร์ รำลึกความหลังให้เราฟัง
ทอม คีเฟอร์ ตั้งวงดนตรีขึ้นมาในปีค.ศ. 1983 ร่วมกับ อีริค บริททิงแฮม (มือเบส) แล้วก็มี ไมเคิล เคลลี สมิธ มือกีตาร์ กับ โทนี เดรสตรา มือกลอง
พวกเขาสร้างชื่อเสียงกันมากพอตัว จนกระทั่งในปีค.ศ. 1985 จอน บอง โจวี แห่งวงบองโจวีที่กำลังเริ่มจะมีชื่อเสียงบ้าง(ในตอนนั้นบองโจวีเพิ่งออกอัลบั้ม 7800° ฟาห์เรนไฮต์ ) ได้ไปเจอซิลเดอเรลลาเล่นในเอ็มไพร์ร็อกคลับ และเขาก็ช่วยเหลือให้ซิลเดอเรลลาได้มีโอกาสเซ็นสัญญาทำอัลบั้มกับเมอคิวรีเร็คคอร์ด
แต่ในการเซ็นสัญญาครั้งนั้น ไมเคิล เคลลี สมิธ กับ โทนี เดรสตร้า ไม่ได้เซ็นด้วย (มีการบอกเล่าในภายหลังทำนองว่า มีบางคนจากบริษัทไม่ค่อยชอบทั้งคู่เท่าไหร่) ทั้งสองคนจึงไปร่วมมือกันทำวงบริทนีฟ็อกซ์
คนที่เข้ามาแทนที่คือ เจฟ ลาบาร์ มือกีตาร์ กับ จิม เดอร์เนค มือกลอง แต่ว่าในการทำงานอัลบั้มแรก จิม เดอร์เนค ก็ออกไปเสียก่อน ปล่อยให้เป็นฝีมือของนักดนตรีรับจ้างในห้องบันทึกเสียงที่ชื่อ โจดี คอเทซ ก่อนจะได้ เฟรด คูรี มาเป็นมือกลองประจำวง
แล้วงานชุดแรก ไนท์ซองค์ส (Night Songs) ก็ออกมาในปีค.ศ. 1986 และทำยอดจำหน่ายได้ถึง 3 ล้านแผ่นไปได้สบายๆ ทอม คีเฟอร์ เล่าให้ถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นให้ฟังว่า “ช่วงนั้นมันเหมือนพายุลูกใหญ่ที่โหมกระหน่ำเข้ามาเร็วมาก นั่นล่ะงานชุดแรก” พูดจบเขาก็หัวเราะ “นั่นคือสิ่งที่เราตั้งความหวังว่ามันจะเกิดหลังจากเราทำงาน และเราก็ได้เห็นมันเกิดขึ้นในชีวิตเราจริงๆ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีจริงๆ”
ไนท์ซองค์ส เป็นส่วนผสมที่ยอดเยี่ยมระหว่างเอซี/ดีซีกับแกล็มเมทัล พูดถึงในด้านดนตรียังไม่ค่อยมีอะไรน่าประทับใจในความโดดเด่นมากนัก แต่ทางด้านภาพลักษณ์พวกเขากินขาดหลายวง
และเมื่องานชุด ลองโคลวินเทอร์ (Long Cold Winter) ออกมาในปีค.ศ. 1988 พวกเขาก็ได้รับทั้งคำชม และยอดจำหน่ายมหาศาล กับงานเมทัลที่มีรากฐานมาจากดนตรีบลูส์ ชุดนี้คือความลงตัวที่หาได้ยาก จัดอยู่ในระดับมาสเตอร์พีซได้สบายๆ
พอถึงงานชุดที่ 3 ฮาร์ทเบรก สเตชัน (Heartbreak Station) ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้รับคำชมว่าเติบโตและมีพัฒนาการอันยอดเยี่ยม ยอดขายได้เกิดล้านชุด แต่กระแสดนตรีได้เปลี่ยนไป รวมทั้งพวกเขาเองก็มีความขัดแย้งกันภายใน
เฟร็ดดี คูรี มือกลองลาออกในช่วงทัวร์ ฮาร์ทเบรก สเตชัน เพื่อไปร่วมงานกับวงอาเขต (ของสตีเฟน เพียร์ซีนักร้องนำวงแรตต์) ทางวงได้ เควิน วาเลนไทน์ มาเป็นมือกลองแทน
และช่วงนั้นเองที่ ทอม คีย์เฟอร์มีปัญหาเรื่องหลอดเสียง ทำให้ไม่สามารถร้องเพลงต่อไปได้ การทำงานในอัลบั้มถัดมาต้องเสียเวลาและมีการเปลี่ยนมือกลองเป็น เคนนี อโรนอฟ
“หลังจากเราออกงานชุดที่ 4 สตีล ไคล์มบิง (Still Climbing) ในปี 1994 ทาง Mercury ก็เขี่ยเราทิ้ง” ทอม คีเฟอร์ เล่าเหตุการณ์ต่อมา ชีวิตที่น่าเศร้าที่ไม่เพียงแต่ซิลเดอเรลลาต้องประสบพบเจอแต่มันหมายถึงวงดนตรีแฮร์แบนด์ ทั้งหลายที่ดูเหมือนว่าร้านจำหน่ายซีดีจะไม่มีที่ให้กับดนตรีของพวกเขาไปเสียแล้ว
และด้วยเหตุผลหลายประการทำให้ซิลเดอเรลลาเงียบหายไปจากวงการดนตรีเป็นเวลานาน วงซิลเดอเรลลาอยู่ในสถานะเงียบงัน ตั้งแต่ปีค.ศ. 1995 เพื่อให้สมาชิกคนอื่นไปทำงานอย่างอื่นบ้าง ในขณะที่ทอม คีเฟอร์ ใช้เวลาหมดไปกับการบำบัดรักษา ผ่าตัดเส้นเสียงและเรียนรู้การร้องเพลงใหม่
แต่ ทอม คีเฟอร์ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เขาบอกว่าชอบงานของแม็ทชบ็อกทเวนตี้ และ เชอริง โครว์ ในยุคหลัง ๆ นี้
“สิ่งที่ทำให้ดนตรีของวงดนตรีเหล่านี้โดดเด่นขึ้นมาก็คือการเขียนเพลงที่ยอดเยี่ยม และที่สำคัญก็คือมันเป็นงานที่มี ‘สีสัน’ เมื่อผมได้ฟังงานดนตรีใหม่ๆในทุกวันนี้มันเป็นพวกปราศจากแก่นสารเสียเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะในส่วนของกีตาร์หนัก ๆ ถ้าคุณฟังการเล่นของ จิมมี เพจ จากงานของเลดเซพพลินคุณจะพบการการเล่นกีตาร์ที่แตกต่างหลากหลายในเพลงหนึ่งเพลง ซึ่งมันสร้างมิติเข้าไปในเพลง และผมก็คิดถึงสิ่งนี้มากในเพลงที่ผมได้ฟังในปัจจุบัน มันเหมือนกับว่านี่เป็นโลกของพวกพังก์และการาจซึ่งบางวงในพวกนี้ทำได้ดีและมีสไตล์ แต่ว่านอกนั้นแล้วมันขาดสีสันและความลุ่มลึก ซึ่งมันจะเก่าเร็ว”
หลังจากแน่ใจว่ารักษาเรื่องกล่องเสียงได้เรียบร้อยแล้ว ทอม คีเฟอร์ก็ระดมพรรคพวกร่วมวงซิลเดอเรลลาให้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วงปีค.ศ. 1997 เพื่อออกทัวร์
“เราห่างกันมากหลังจากแยกย้ายกันไปตอนที่บริษัทเดิมบอกเลิกสัญญา และสิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้เรากลับมาเขียนเพลงและเริ่มทำงานอัลบั้มใหม่อีกครั้ง” ทอม คีเฟอร์ เล่าถึงสถาการณ์ขณะนั้น ที่เหนืออื่นใดก็คือทางโซนีให้โอกาสซิลเดอเรลลากลับมาออกงานชุดใหม่โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีสมาชิกในยุคโด่งดังมาร่วมงานกัน ซึ่งนั่นทำให้มีการพูดคุยกับเฟร็ดดี คูรี่ ถึงความเป็นไปได้ ซึ่งเฟร็ดดี คูรีก็ไม่ขัดข้อง
แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่อะไรคืบหน้ามากเท่าใดนัก ได้แต่ปล่อยงานรวมเพลง วัน อัพพอน…(One Upon…) กับ บันทึกการแสดงสด ไลฟ์ แอท เดอะ คีย์ คลับ (Live at the Key Club) ซึ่งยอดจำหน่ายไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่ งานลำดับถัดไปจึงชะงัก
“หลังจากที่บริษัทอนุมัติงบประมาณให้เราสำหรับทำงานชุดใหม่เพียงแค่สัปดาห์เดียว พวกเขาก็ตัดสินใจว่าจะไม่มีอัลบั้มใหม่” คีเฟอร์ รำลึกความหลังอย่างขมขื่น เมื่อ Sony ตัดสินใจตัดหางปล่อยวัด
สภาพปัจจุบันของ ซิลเดอเรลลา ก็คือการทัวร์ ซึ่งก็ไปได้สวยทีเดียว อย่างทัวร์ในปี 2006 ร่วมกับวง Poison นั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง แต่ในปี 2008 ปัญหาเรื่องเสียงของคีเฟอร์ก็ตามมาเล่นงานจนต้องพักรักษาตัว จนกระทั่ง ปี 2010 ซิลเดอเรลลา ก็เริ่มออกแสดงสดอีกครั้ง
ส่วนอัลบั้มใหม่ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า….
Discography
Studio Album
- Night Songs (1986)
- Long Cold Winter (1988)
- Heartbreak Station (1990)
- Still Climbing (1994)
Live Album
- Live Train to Heartbreak Station (1991)
- Live at the Key Club (1999) (15,000+ in the US)
- In Concert (2004)
- Extended Versions (2006)
- Gypsy Road: Live (2006)
- Authorized Bootleg: Live at the Tokyo Dome – Tokyo, Japan Dec. 31 1990 (2009)
- Live at the Mohegan Sun (2009)
Compilations
- Looking Back (1997)
- Once Upon A… (1997) (140,000+ US)
- 20th Century Masters – The Millennium Collection: The Best of ซิลเดอเรลลา (2000)
- Rocked, Wired & Bluesed: The Greatest Hits (2005)
- Gold (2006)
- Best Ballads (2008)
2 ความเห็นบน “Cinderella”