รอคอย รีไวนด์เดอะฟีล์ม ด้วยความหวั่นใจ เมื่อได้อัลบั้มนี้มาอยู่ในมือก็แทบจะอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยเพื่อเป็นศิริมงคลชีวิตก่อนจะเปิดฟัง เพราะนิกกี ไวเออร์ และเจมส์ ดีน แบรดฟิลด์ขู่ขวัญแฟนเพลงเป็นระยะว่าชุดนี้จะเป็น “การก้าวผ่านวัย” อีกครั้งของวงแล้วก็จะแอบอิงอยู่กับเสียงอคูสติก
ตั้งแต่รู้จักเดอะมานิกส์จากรายการเรดิโอแอ็คทีฟที่คุณวาสนา วีระชาติพลีเปิดเพลง “มอเตอร์ไซเคิลเอ็มติเนส” ก็หลงรักเดอะมานิกส์นับจากนั้นมา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ตอนที่ใจหายมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลงในอัลบั้ม ไลฟ์บลัด ที่ออกป็อปจนแทบจะบอกลา แต่ดีว่าอัลบั้มหลังจากนั้น (เซนด์อะเวย์เดอะไทเกอร์ส) ดึงกลับมาทัน เลยยังเป็นแฟนเพลงกันอยู่

สำหรับ รีไวนด์เดอะฟีล์ม คงไม่ทำให้รู้สึกแย่ได้เกินกว่าที่ ไลฟ์บลัด ทำอีกแล้ว และเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานเริ่มทำให้ฟังอย่างปลงชีวิตมากขึ้น ถ้าเดอะมานิกส์จะย่างวัยกลางคนตามวุฒิภาวะ วัยรุ่นอย่างเราก็ต้องเข้าใจ และเมื่อ เดอะมานิกส์ปล่อยเพลง “รีไวนด์เดอะฟิล์ม” ออกมาให้แฟนเพลงลองฟังก่อน ก็บอกตัวเองว่าไม่ผิดหวัง หรืออาจจะไม่ได้หวังไว้ตั้งแต่แรก
เพลงนี้เอาดนตรีมาจากเพลง “A Little Girl Lost” ของเดวิด แอ็กเซิลร็อดศิลปินแจ๊สฟิวชัน อยู่ในอัลบั้ม ซองค์ออฟเอ็กซ์พีเรียนซ์ ปีค.ศ. 1969 (อัลบั้ม ซองค์ออฟอินโนเซนส์ และ ซองค์ออฟเอ็กซ์พีเรียนซ์ ของ เดวิด แอ็กเซิลร็อด ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือภาพของวิลเลียม เบลก)
เพลงนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการย้อนอดีต และเมื่อหยิบอัลบั้มมาฟังพวกเขาก็ย้อนอดีตกันตั้งแรกเริ่มเพลงแรก
I don't want my children to grow up like me It's too soul destroying It's a mocking disease A wasting disease
ประโยคแรกของอัลบั้มบอกเราว่าเรากำลังคนแก่เล่าเรื่อง…หรือ “บ่น” นั่นเอง และเพลงในอัลบั้มนี้ก็ทะยอยแสดงความแก่ในแต่ละด้านออกมาตามลำดับ กึ่งโหยหาอดีตอันรุ่งเรือง กึ่งรำพึงถึงความเดียวดายว่างเปล่า
I can’t fight this war anymore Time to surrender, time to move on
สุดท้ายพวกเขาก็ปล่อยวาง ความรู้สึกตรงข้ามแบบสุดชั้วกับงานสามชุดแรกที่มีริชชี เอ็ดเวิร์ดส์อยู่ด้วย
ความโปร่งบางของดนตรีถ่ายทอดอารมณ์สุขุมลุ่มลึก แม้ใน “โชว์มีวันเดอร์” จะคึกคักขึ้นมาหน่อยจากเสียงเครื่องเป่า แต่ก็แค่หน่อยเดียวไม่มีความดิบหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ถึงตรงนี้เริ่มนึกถึงที่นิกกี ไวเออร์บอกว่าจะเป็นอคูสติกอัลบั้ม มันเป็นเช่นนั้นจริงอย่างที่เขาขู่ ความรู้สึกหลอนแบบสมัยฟัง ไลฟ์บลัด เริ่มมาเยือนอีกรอบ แต่มันต่างกันชัดเจนว่า ไลฟ์บลัด ฟังออกไปทางเยือกเย็น แต่ในงานชุดนี้มีความรู้สึกแบบเดอะมานิกส์ รวมอยู่ด้วย ปรับแต่งเล็กน้อยจะเอาไปรวมไว้ในอัลบั้มไหนของเดอะมานิกส์ก็ได้ทั้งสิ้น
อีกเพลงประทับใจ “(ไอมิสเดอะ) โตเกียวสกายไลน์” ตอนแรกเห็นประโยค ลอสต์อินทรานสเลชัน นึกถึงภาพยนตร์เรื่องนั้นขึ้นมาทันที แต่พอนึกย้อนไปถึงเพลง “มอเตอร์ไซเคิลเอ็มติเนส” ถ่ายทำวิดีโอกันที่ประเทศญี่ปุ่น เวลาที่ได้ยินเนื้อร้อง ไอดรีมออฟเดอะโตเกียวสกายไลน์ ไอมิสเดอะเอ็มติเนสแอนด์เดอะไซเลนซ์ คนฟังบางคนจึงคิดถึงเดอะมานิกส์ยุคแรก เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ที่ผ่านมาพวกเขาล้อเล่นกับความทรงจำเก่า ๆ ของแฟนเพลงเสมอ
เพลงธรรมดาเพลงหนึ่งจะแปรสภาพเป็นเพลงพิเศษทันทีที่คนฟังมีความรู้สึกร่วมกับเนื้อหาของบทเพลง
ถ้าจะหาเพลงการเมือง ในอัลบั้มนี้มี “30-เยียร์วอร์” บทเพลงที่กล่าวถึงแนวคิดแบบท่านมากาเร็ธ แท็ชเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 80
ปิดท้ายด้วยบล็อกนี้ด้วย “แอนเธมฟอร์เดอะลอสต์คอส”
Take this, it's yours An anthem for a lost cause Now ashes, bone and splinter What once was a glittering prize The composition rites
เดอะมานิกส์เคยเปลี่ยนทิศทางดนตรีมาหลายครั้ง มีเพียง ไลฟ์บลัด ที่ออกป็อปและลดบทบาทกีตาร์ลงไปอย่างน่าเสียดาย มาถึง รีไวนด์เดอะฟิล์ม พวกเขาลดดีกรีร็อกลงมา แต่ไม่ได้ลดบทบาทกีตาร์ เพียงแค่เปลี่ยนจากเสียงอิเล็คทริกเป็นอคูสติค อาจจะแปลกไปจากอัลบั้มก่อนหน้านั้น แต่มันมีสิ่งที่แฟนเพลงคุ้นเคยรองรับอยู่ผสมผสานดนตรีและอารมณ์หลากหลายกว่าที่เคย และเป็นมุมมองจากปัจเจกที่มองเข้าไปในตัวเองมากกว่าจะพูดถึงสังคมแบบกว้าง ๆ
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเดอะมานิกส์ตกผลึก หรือว่าคนฟังคนนี้เริ่มแก่ตัวตาม อัลบั้มนี้ไม่ได้ทำให้หงุดหงิดกับความสุขุมลุ่มลึก ถึงจะยังถวิลหาความดิบกร้าวแบบร็อกอย่างอดีตก็ตาม
2 Comments