ดนตรีคงป่วยหนัก (หากว่ามันยังไม่ตายอย่างที่จีน ซิมมอนส์บอก) ตั้งแต่เว็บเนปสเตอร์ถือกำเนิดบนโลกนี้หลังจากเอ็มพีสามและอินเทอร์เน็ทเริ่มยึดครองโลกดนตรีก็เริ่มเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดนับจากโลกนี้สร้างแผ่นเสียงสู่ธุรกิจดนตรี
หลังจากการแบ่งปันไฟล์เพลงดิจิทัลแพร่หลายในอินเทอร์เน็ต ดนตรีกลายเป็นของที่หลายคนคิดว่ามันควรจะเป็นของฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายแผ่นซีดีลดลง บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบีเอ็มจี อีเอ็มไอ ต้องหนียะย่ายพ่ายจะแจ ลามมาถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นอีกหลายแขนง
แต่ธุรกิจดนตรีก็ยังปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด เมื่อบริษัทแอปเปิ้ลผู้ยิ่งใหญ่ได้ส่งไอพอดและไอจูนส์สโตร์ออกมา หลายคนหวังว่ามันจะช่วยเปิดทางให้ธุรกิจดนตรีดิจิทัลได้ ตอนที่แอปเปิ้ลเปิดตัวไอจูนส์สโตร์ปีแรกขายเพลงได้มากกว่า 70 ล้านเพลง และห้าปีผ่านไปกลายเป็นแหล่งขายเพลงใหญ่ที่สุดแทนที่วอลมาร์ท
ไอจูนส์สโตร์โดดเด่นในตอนนั้นเพราะเสนอทางเลือกให้ผู้ฟังซื้อเพลงดิจิทัลได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างสะดวก ง่ายดาย และบริษัทแอปเปิ้ลได้กำไรงามจากไอพอด ซึ่ง ณ เวลาปัจจุบันกลับเกิดคำถามว่าไอพอดยังขายได้ในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ โดยพิจารณาจากการอัปเดทรุ่นใหม่ที่เริ่มทิ้งช่วงห่างอย่างผิดสังเกต ตระกูลไอพ็อดเพิ่งเปิดตัวรุ่นใหม่ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนห่างจากครั้งสุดท้ายราว 3 ปี แต่นอกจากไอพ็อดทัชแล้ว รุ่นอื่นไม่มีอะไรแปลกใหม่
เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะหลายคนเปลี่ยนจากไอพอดไปเป็นไอโฟนเรียบร้อย
ล่าสุดแอปเปิ้ลกระโดดเข้าสู่ตลาดฟังเพลงสด (สตรีมมิง) ซึ่งมีผู้เล่นคนสำคัญอย่างสปอติไฟ กูเกิลเพลย์มิวสิค ไทดัล และแอมะซอนไพร์มมิวสิค พยายามแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดดุเดือดอยู่แล้ว ไอโฟนจะได้เปรียบไอพ็อดตรงการฟังเพลงสตรีมมิงได้ง่ายกว่า เพราะไอพ็อดยังต้องอาศัยไวไฟในการเชื่อมต่อสัญญาณ ซึ่งยอดจำหน่ายของไอพ็อดเริ่มนิ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ยอดจำหน่ายไอโฟนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ http://www.canaccordgenuity.com อ้างว่าปัจจุบันยอดจำหน่ายของไอโฟนครองส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 14 เปอร์เซ็นต์ ยังน้อยกว่าซัมซุงที่ครองตลาด 25 เปอร์เซ็นต์ แต่แอปเปิ้ลก็ยังสร้างค่านิยมให้ผู้หลงใหลความมีสไตล์ของแอปเปิ้ลว่าอย่างในโฆษณาล่าสุดว่า “If it’s not an iPhone, it’s not an iPhone.” (ถ้ามันไม่ใช่ไอโฟน มันไม่ใช่ไอโฟน)
การฟังสตรีมมิง (ไม่รู้จะใช้ภาษาไทยว่าอะไรดี) ก็มีข้อดีอยู่อย่างที่นึกออกคือ ทำหน้าที่เหมือนสถานีวิทยุสมัยก่อน ที่เราได้ลองฟังเพลงก่อนตัดสินใจซื้ออัลบั้มมาฟัง แต่สิ่งที่ทดแทนไม่ได้คือคนจัดรายการคือดีเจ
ไม่รู้ว่ารายการเพลงดี ๆ ที่คนจัดชี้นำคนฟังได้แบบเรดิโอแอ็คทีฟโดยคุณวาสนา วีระชาติพลี ยังคงมีในสถานีวิทยุทุกวันนี้หรือเปล่าเพราะไม่ได้ฟังนานแล้ว ล่าสุดที่เปิดผ่าน ๆ ได้ยินแต่คนเปิดเพลงไร้จินตนาการ ชวนให้สงสัยว่ามีความรู้ความเข้าใจในดนตรีที่ตัวเองเปิดมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นแค่หุ่นยนต์ทำหน้าที่สวัสดีเปิดรายการ พูดเข้าเพลงแบบไม่มีอะไรเกี่ยวกับเพลงไม่มีการนำเสนอความคิดและรสนิยมทางดนตรีของตัวเอง
เรื่องแบบนี้น่าเสียดาย ที่หารายการวิทยุดี ๆ สักรายการหนึ่งเป็นเรื่องยาก เปิดไปฟังเจอแต่ “เพลย์ลิสต์” คือสักแต่ว่าเปิดเรียงกันไป
และหากเป็นอย่างนั้น สปอติไฟตอบสนองเรื่องนี้ได้ดีกว่า
ผู้ครองตลาดใหญ่ขณะนี้คือสปอติไฟ ที่อ้างว่ามีคนใช้งานถึง 75 ล้านคน แต่ตอนนี้กำลังโดนเขย่าโดยแอปเปิ้ลมิวสิค ว่าแต่แอปเปิ้ลมิวสิคจะไปได้สวยมั้ย หรือจะมีปัญหาอย่างไทดัลที่เปิดตัวยิ่งใหญ่ แต่ผ่านไปไม่ถึงเดือนก็เริ่มส่อแววเงียบเหงา
ลองปรับปรุงไอโอเอสให้เป็น 8.4 แล้วรู้สึกว่าแอปเปิ้ลมีจุดเด่นอยู่ที่ เราเอาเพลงลงเครื่องฟังออฟไลน์ได้ แต่ไอพอดชัฟเฟิลกับไอพ็อดนาโนยังไม่สนับสนุนแอ็ปเปิ้ลมิวสิค เพราะแอปเปิ้ลต้องการควบคุมการดาวโหลดไปฟังแบบออฟไลน์ ถ้าใช้ไอพ็อดทัช แอปเปิ้ลวางยาคุณด้วยการล้างเพลงออกทันทีที่คุณยกเลิกการเป็นสมาชิก
ที่น่าสนใจที่สุดคือสถานีวิทยุออนไลน์ บีตส์วัน (ฺBeats 1) จากการวางแผนของเทรนซ์ เรชเนอร์ (แห่งวงไนน์อินซ์เนลซ์) กับ เซน โลว์ อดีตดีเจบีบีซีเรดิโอวัน เทรนซ์อธิบายแนวคิดหลักว่าเขาต้องการรายการวิทยุที่เป็นรายการวิทยุ
แต่ปัญหาข้อแรกคือคุณภาพของเสียงยังต่ำอยู่มาก หรือเพราะอินเทอร์เน็ตที่ใช้อยู่ยังเป็นความเร็วต่ำกว่าที่ควรเลยได้คุณภาพเสียงไม่ได้ ทำไมฟังเพลงสตรีมมิงจากแอปเปิ้ลมิวสิกถึงได้คุณภาพที่ดีกว่าฟังจากบีตส์วันมากนัก?
และเนื่องจากความหลากหลายของบทเพลง ตั้งแต่ป็อป แจ๊ส คันทรี ฮิปฮ็อป ร็อก ต้องยอมรับความความใจแคบไม่เปิดกว้างของตัวเองทำให้รู้สึกว่าเพลงมันสับสน ข้อดีคือการได้รับรู้เพลงใหม่ ร่วมสมัย เรื่องนี้ยังเป็นข้อดีของบีตส์วัน
แต่เมื่อครบระยะฟังฟรีแล้ว คงไม่สมัครต่อเพราะรู้สึกว่ายังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ