วงลาสต์อินไลน์เกิดขึ้นเมื่อวิเวียน แคมป์เบลล์อยากหาลำไพ่พิเศษหลังรอนนี เจมส์ ดีโอเสียชีวิต โดยรวบรวมอดีตสมาชิกยุคแรกของวงดีโอคือ วินนี อะพีชี (มือกลอง) จิมมี เบน (มือเบส) และ คล็อด ชเนลล์ (มือคีย์บอร์ด) ตั้งชื่อวงว่าลาสต์อินไลน์ตามชื่ออัลบั้มลำดับที่ 2 ของวงดีโอ (แต่เป็นอัลบั้มแรกที่คล็อดเป็นสมาชิกวงอย่างเป็นทางการ) โดยดึงแอนดรู ฟรีแมนอดีสมาชิกวงเฮอริเคนและลินซ์ม็อบมาเป็นนักร้องนำ
ตอนแรกแค่ทำวงเล่นเพลงของดีโอช่วงสามอัลบั้มแรก แต่แล้วก็ทำอัลบั้มออกมาโดยให้คล็อดออกจากวง อ้างว่าต้องการเขียนเพลงโดยเป็นวงสี่ชิ้นเหมือนตอนทำอัลบั้มแรกของดีโอ (แต่บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าอยากให้ตัวหารส่วนแบ่งน้อยลง…)
เกิดความคาดหวังว่าอัลบั้มเฮฟวีคราวน์จะมีสำเนียงดีโอ (เพราะสมาชิก 3 คนมีส่วนร่วมเขียนเพลงดีโอด้วย) แม้แต่โปรดิวเซอร์ยังเลือกเจฟฟ์ ฟิลสัน ซึ่งเคยเป็นมือเบสของดีโอมาดูแลการผลิต แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะสามเพลงแรก “เดวิล อิน มี” “มาร์ไทร์” และ “สตาร์เมกเกอร์” ฝังท่วงทำนองและสำเนียงดีโอมาเป๊ะมาก เสียงกีตาร์ของวิเวียนโหดดุดันอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาร่วม 30 ปี (นับจากที่เขาออกจากดีโอ) ยิ่งเสียงกลองของวินนียังคงสไตล์การเล่นที่หนักแน่น แรง เบสก็ไม่มีอะไรให้ห่วง มีเพียงเสียงร้องของแอนดรูที่ไม่พยายามเลียนสำเนียงรอนนี ซึ่งเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่ยากที่สุดของลาสต์อินไลน์คือจะหานักร้องนำคนไหนมาเป็นตัวตายตัวแทนรอนนีในเมื่อไม่มีใครเทียบรอนนีได้แน่นอน พวกเขาเลือกแอนดรูซึ่งโทนเสียงต่างจากรอนนีน่าจะช่วยเรื่องตัดการเปรียบเทียบกับดิโอไปได้ระดับหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังพูดถึงดีโออยู่ดี อย่างสามเพลงแรกนี้เป็นต้น ถ้าเป็นเสียงของรอนนีรับรองว่าจะเป็นเพลงคลาสสิกของดีโอได้แน่นอน
ถ้าตัดมุมมอง (อคติ) ว่านี่คือวงดีโอที่ปราศจากรอนนี คิดว่าเป็นวงดนตรีอีกวงหนึ่งที่รับอิทธิพลจากดิโอมาเต็มที่ ก็มีดีพอจะอวดตัวเองได้เหมือนกัน เช่น “ออเรนจ์โกรว์” แสดงศักยภาพของแอนดรูออกมาได้ดี เสียงร้องของเขาเหมาะกับฮาร์ดร็อกดิบกร้านสำเนียงบลูส์แบบเมทัลยุค 80 แม้ว่าบางครั้งรู้สึกเขาจะพยายามใช้เสียงมากเกินไป ยิ่งเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้เป็นเพลงจังหวะช้า เลยพยายามใช้เสียงเพื่อลากเพลงให้มีพลังไม่ให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย แต่กลายเป็นว่าใช้เสียงเกินไป เพลงของดีโอหลายเพลงก็ออกช้าแบบนี้ แต่เสียงของดีโอไม่ได้ตะเบ็งเพื่อให้เสียงตัวเองกระโดดออกมาแบบนี้ (รอนนีร้องปกติก็มีพลังในตัวเองอยู่แล้ว) ตรงนี้เป็นสไตล์ของแอนดรูที่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่
กลองกับเบสเล่นดีอย่างที่คาดหวัง เสียงกลองนี่คือดีโอ (หรือจะบอกว่าแบล็กซับบาธยุคดีโอก็ไม่ผิด) ตีกลองหนักแน่น มีลูกเล่นแทรกเข้ามาเป็นระยะ เบสก็คุมไปตามกลอง แต่ที่น่าสนใจคือเสียงกีตาร์ของวิเวียนที่ไม่ได้เล่นริฟฟ์โหดห้าวมานาน รวมทั้งไม่ได้แสดงศักดานุภาพเวลาโซโลมานานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ออกจากดิโอก็ไม่ได้เล่นกีตาร์แรง ๆ อีกเลย เพราะตอนอยู่กับไวต์สเน็กก็เป็นมือรองเอเดียน แวนเดนเบิร์ก แถมต้องเล่นกีตาร์ตามที่จอห์น ไซคส์วางเอาไว้ และวงดนตรีที่เขาไปร่วมงานต่อมาก็ไม่ได้มีสไตล์การเล่นกีตาร์โหดห้าวเท่าไหร่ พอมาอัลบั้มนี้เลยได้ปล่อยของเต็มที่ในเพลงที่เดินตามรอยดีโอ แต่บางเพลงที่ออกนอกรอยดีโอมาเป็นฮาร์ดร็อกออกบลูส์เสริมส่งเสียงร้องของแอนดรูกลายเป็นว่าเสียงกีตาร์กลับไม่น่าสนใจเท่าที่ควร
เป็นงานที่ไม่สนองตัณหาและความคาดหวังอย่างที่คิด ปัญหาคือพวกเขานำเสนอตัวเองว่าเป็น “อดีต” สมาชิกวงดีโอยุคคลาสสิก ช่วงที่ออกทัวร์ก็เล่นเพลงของดีโอ แม้แต่ตอนทำอัลบั้มแรกก็ยังให้สัมภาษณ์อ้างอิงดีโอ พอมาเป็นเพลงก็ยังมีอะไรคล้ายคลึงกับดีโอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหายเพราะสมาชิกสามคนเคยร่วมเขียนเพลงกับดีโอ กลายเป็นว่าพวกเขาไม่อาจดึงความเป็นดีโอมาได้หมด ขณะเดียวกันก็ยังสลัดภาพดีโอออกไม่ได้ เลยเป็นงานที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เรียกความทรงจำจากแฟนเพลงดีโอในอดีตพอแก้กระหาย แต่สานต่อให้หลุดเงาดีโอไม่ได้
แม้จะมีอะไรดีตามมาตรฐานเฮฟวีเมทัลจากยุค 80 แต่ไม่มีอะไรโดดเด่นอย่างที่นึกหวัง
Line-Up:
- Andrew Freeman (vocals)
- Vivian Campbell (guitar)
- Jimmy Bain (bass)
- Vinny Appice (drums)
Track Listing: –
- Devil In Me
- Martyr
- Starmaker
- Burn This House Down
- I Am Revolution
- Blame It On Me
- In Flames (bonus track)
- Already Dead
- Curse The Day
- Orange GLow
- Heavy Crown
- The Sickness