เมทัลแฮมเมอร์กับคลาสสิกร็อกอาจปิดตัวในเวลาไม่ช้านี้
เป็นข่าวเศร้าสำหรับคนชอบอ่านนิตยสารเกี่ยวกับดนตรีร็อกเมื่อ เว็บไซต์เดลีเร็คคอร์ดรายงานว่าบริษัททีมร็อก ผู้ผลิตนิตยสารเมทัลแฮมเมอร คลาสสิกร็อก พร็อก บลูส์ กำลังมีปัญหาหนีสิ้นถึงขึ้นล้มละลาย นั่นหมายถึงว่านิตยสารอาจถึงจุดจบในเวลาไม่นานนัก
จากเว็บ http://www.dailyrecord.co.uk/business/business-news/73-jobs-lost-publisher-team-9486316 ระบุว่า หลังจากที่ทีมร็อกได้ซื้อคลาสสิกร็อกและเมทัลแฮมเมอร์จากบริษัทฟิวเจอร์พับลิชชิงในปีค.ศ. 2013 ในราคาสิบล้านสองแสนปอนด์ แต่ผลประกอบการไม่สู้ดีนัก รายได้ของทีมร็อกในปีค.ศ. 2015 มีเพียงหกล้านห้าแสนปอนด์ ลดจากปีค.ศ. 2014 มีรายได้เจ็ดล้านห้าแสนปอนด์ ทำให้ปีค.ศ. 2015 บริษัทขาดทุนถึงสิบเอ็ดล้านเจ็ดแสนปอนด์ เพิ่มจากปีค.ศ. 2014 มีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ห้าล้านเก้าแสนปอนด์
ก่อนหน้านั้นบริษัททีมร็อกพยายามหาผู้ร่วมทุน อย่างเช่นนอร์ธแอตแลนติกสมอลเลอร์คัมปานีส์อินเวสเมนต์ทรัสต์เข้ามารับภาระหนี้แปดล้านเก้าแสนปอนด์แลกกับการถือหุ้นและล่าสุดได้ตกลงกับบริษัทสก็อตติชเอนเตอร์ไพร์สอีกทางหนึ่ง
สำหรับพนักงานบริษัททีมร็อกที่ดูแลนิตยสารจำนวน 80 คน จะโดนให้ออกจากงานถึง 73 คนในปีนี้ เพื่อดูแลงานให้ต่อเนื่อง (แต่อนาคตก็คงไม่ดีนักเพราะใช้คำว่า ดูแลระยะสั้น)
ช่วงหลังทีมร็อกปรับตัวมาเน้นทางเว็บแทน อย่างเช่นทีมร็อกพลัสที่คิดค่าบริการสำหรับเนื้อหาบางส่วน (เช่นเนื้อหาที่เคยตีพิมพ์ในฉบับเก่า)
ดูเหมือนว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั่วโลกไม่ดีเหมือนกันหมด ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป บางคนก็พร้อมจะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด อย่างเช่นนิวยอร์กไทม์และวอชิงตันโพสต์ที่ปรับเปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิทัลโดยไม่ทิ้งสิ่งพิมพ์ จนปีค.ศ. 2016 หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมีฐานคนอ่านออนไลน์แซงหน้าฮัฟฟิงตันโพสต์ที่ยึดหัวหาดครองใจคนอ่านออนไลน์มานานได้สำเร็จ
เรื่องนี้น่าเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทยได้บ้าง ไม่นับหนทางรอดจากทำฟรีก็อปปีหาโฆษณาสนับสนุน
สุมิตรา จันทร์เงาเขียนถึงเรื่องหนังสือว่า
ส่วนคำ ผกา สวนว่า “การขอรัฐบาลเผด็จการให้ส่งเสริมการอ่าน มันน่าขำพอๆกับการภาวนาให้ ไก่เลิกขัน นกหยุดร้องเพลง ลิงเลิกปีต้นไม้” http://shows.voicetv.co.th/inherview/442758.html
แต่อันนี้ออกจะงงที่เธอชี้ว่า หนังสือตายเพราะรัฐบาลเผด็จการ หายนะของเสรีภาพประชาชน คือหายนะของนักเขียน เหมือนยิงกันคนละทิศกับที่คุณสุมิตราเขียนถึง ตรรกะเดียวกับฉลามเขียวในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเลย โทษนั่นโทษนี่ โทษยันระบบปกครองตั้งแต่ม็อบยังรัฐบาล ไม่ได้ดูตัวเองว่าหนังสือพิมพ์เริ่มตายมาตั้งแต่ต้นพุทธทศวรรษ 2540 เพราะไม่ยอมปรับตัวเองและขาดทักษะการนำเสนอข่าวเหมือนเมื่อก่อน ช่วงคุณมานะ แพร่พันธ์ ปรับเปลี่ยนจนหนังสือพิมพ์บ้านเมืองขึ้นแท่นหนังสือพิมพ์ลำดับสามรองจากไทยรัฐและเดลินิวส์)
ลดอคติเรื่องการเมือง เผด็จการ เสรีชน อะไรออกไปก่อน ประเด็นการเรียกร้องให้รัฐบาล (ทุกรัฐบาล) เป็นเรื่องที่ทำกันมานานแล้ว และไม่ใช่เรื่องน่าขำ แต่เป็นเรื่องควรเอาใจช่วย อย่างคุณมกุฎ อรดี เสนอ ‘ระบบหนังสือของชาติ’ มานานนักหนา จำได้ว่าตั้งแต่สมัยก่อนคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเสียอีก จนบัดนี้ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนเราในฐานะคนอ่านก็เริ่มเหนื่อยแทนพูดซ้ำ ๆ และได้แต่คำพูด เพราะไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลใดทั้งสิ้น (แต่ถ้าจำไม่ผิด นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสมัยรัฐบาลคุณทักษิณเคยพูดถึงอยู่ แต่ก็เงียบไป)
ในฐานะคนอ่านหนังสือมานาน รู้สึกชัดเจนว่า ณ ปัจจุบันเนื้อหาหนังสือ นิตยสารไม่หลากหลายเหมือนก่อน เมื่อก่อนเคยมีหนังสือเฉพาะทาง เช่น มายากล ศิลปะ เครื่องร่อน ไซไฟ แฟนตาซี เหล่านี้แทบไม่เหลือพื้นที่มากนัก เลยคิดว่า ทุกวันนี้ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่คนไม่อ่านหนังสือ แต่อยู่ที่ไม่มีหนังสือที่อยากอ่าน หรือไม่มีให้อ่าน มากกว่า
และแนวทางการขอให้รัฐบาลยื่นมือมาดูแลธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังเช่นบทความใน http://theliteraryplatform.com/magazine/2013/07/publishing-and-government-intervention-in-the-digital-era/
เรื่องนี้คงจะได้เขียนถึงอีกหลายครั้ง