ช่วงสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี วงการดนตรีไทยเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความจริงมีการเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้านั้นพอสมควรแล้ว เช่นความสำเร็จของวงชาตรี กับแกรนด์เอ็กซ์ดังระเบิดกับอัลบั้ม ลูกทุ่งดิสโก้ แกรนด์เอ็กซ์โอ (พ.ศ. 2524) และบรรดานักดนตรีอาชีพเริ่มได้ออกแผ่นเสียง/เทป เช่น เพรสซิเดนต์ ช่วงนั้นน่าจะเป็นจังหวะเปิด มีวงแปลกใหม่ขายไอเดียหลายคณะได้ออกเทป อย่างอัลบั้มแรกของเฉลียงก็วางจำหน่ายปีพ.ศ. 2525 วงสาวสาวสาว เอ็กซ์วายแซด เรวัติ พุทธินันท์และวงคีตกวี (อัลบั้มนี้เยี่ยมมาก) ก็โด่งดังในช่วงเวลานั้น อาร์เอสซาวนด์ แกรมมี นิธิทัศน์ ก่อตั้งเป็นรูปร่างและกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการดนตรีไทย “ยุคใหม่” (สามบริษัทนี้ก่อตั้งช่วงปีพ.ศ. 2524 – 2526)
มีวงดนตรีร็อกได้ออกเทปในช่วงนี้เหมือนกัน คาไลโดสโคป ยุคที่มีกิตติ กาญจนสถิตย์ออกเทปเมดเลย์สโม้ก เอาเพลงร็อกฝรั่งมาคัฟเวอร์ แหลม มอริสัน ออกเทปบันทึกการแสดงสดก็เป็นเพลงฝรั่งล้วน ๆ บัตเตอร์ฟลายออกอัลบั้มแรกก็เอาเพลงสากลมาทำใหม่ ส่วนชุดสองก็เป็นเพลงภาษาอังกฤษ
แล้วดนตรีร็อกภาคภาษาไทยทำไมยังไม่เกิด? เอาเนื้อเพลงไทยใส่ดนตรีร็อกมันยากลำบากหรือไร?
ก่อนหน้านั้นมีเพลง “นางแมวผี” ฝีมือวงเดอะฟ็อกซ์ผู้ห้าวหาญ (แต่เนื้อร้องทำนองเขียนโดยสุรพล โทณะวณิก) ใช้ประกอบละครวิทยุนางแมวผี เมื่อปีพ.ศ. 2523 อยู่

ต้องรอถึงปีพ.ศ. 2527 นั่นล่ะ ร็อคเคสตร้าได้ออกอัลบั้ม เทคโนโลยี เพลงร็อกภาษาไทยให้คนฟังเพลงร็อกได้ชื่นชม ปีนั้นวงเนื้อกับหนังก็ออกอัลบั้มร็อก (ออกแนวเฮฟวีเมทัล) ภาษาไทยด้วยเหมือนกัน แต่จำไม่ได้ว่าใครออกก่อนกัน แต่ที่แน่ ๆ ร็อคเคสตร้าประสบความสำเร็จด้านยอดจำหน่ายมากกว่า เพลง “เงา” กับ “โลง” กลายเป็นเพลงฮิตตามสถานีวิทยุ ได้ออกโทรทัศน์บ่อยพอสมควร
ร็อคเคสตร้าเคยออกอัลบั้มมาก่อนหน้านี้แล้วชื่อ เมดเลย์ท็อปฮิตส์ แต่มีปรับเปลี่ยนสมาชิกวง โดยคนสำคัญคือชัคกี้ ธัญญรัตน์มาเป็นมือกีตาร์ ชัคกี้เป็นคนเล่นกีตาร์ทันสมัยมาก น่าจะเป็นคนใช้เทคนิคแท็ปปิ้งในการบันทึกเสียงเพลงเป็นคนแรกในไทย ในเพลง “เพลง” อัลบั้มเทคโนโลยี นี่แหละ เนื้อเพลง “เพลง” นี้มีแซะวงการดนตรีช่วงนั้นด้วย หรั่ง ร็อคเคสตร้าจงใจเขียนแซววงการดนตรีในช่วงนั้นที่มีเพลงเกี่ยวกับนกมากมาย “ดังนกเจ็บ” “นกเจ้าโผบิน” “เหมือนนกไร้ปีก” เขาเลยเขียนเพลงว่า …ไม่มีเพลงหวานเช่นเพลงรัก ไม่มีนกปีกหักหรือปีกงอ…
แค่เสียงอินโทรคีย์บอร์ดเพลง “เทคโนโลยี” เพลงเปิดอัลบั้มก็รู้สึกถึงความร่วมสมัยในตอนนั้น ซาวนด์คีย์บอร์ดออกจะล้ำและใช้เป็นตัวสร้างสีสัน
ต่อด้วยเพลง “โลง” อินโทรราวกับเพลงเฮฟวีเมทัล เพลงนี้ค่อยได้ยินเสียงกีตาร์เทพหน่อย การโซโลกีตาร์ทำได้เฉียบขาดจริง ๆ แล้วสังเกตเสียงเบสเดินไลน์ได้งดงามโดดเด่น ไม่ถึงกับขโมยซีนแต่ก็มีตัวตนชัดเจน
และเพลง “เงา” ที่โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้
5 เพลงแรกหน้าเอ (สมัยออกเป็นเทป) เป็นร็อกชั้นเยี่ยม ฝีมือกีตาร์ของชักกี้กำลังเข้าฝัก สดใหม่มีพลังแพรวพราวอยากปล่อยของ เรียบเรียงดนตรีไม่หนักเกินไปเป็นป็อปร็อก การเรียบเรียงดนตรีการการสร้างเสียงเป็นพระเอกของอัลบั้มนี้ เสียงเบสไม่บวม เดินไลน์เบสได้ลื่นไหล คีย์บอร์ดเป็นตัวสร้างสีสันบรรยากาศ การบันทึกเสียงก็ดีเด่นเกินหน้าอัลบั้มอื่น ๆ ร็อคเคสตร้าเหมือนวีรบุรุษผู้มาจุดประกายดนตรีร็อกภาษาไทยในวงการเพลงบ้านเรา
แต่พอพลิกไปหน้าบีเข้าเพลงที่ 6 “หวย” เริ่มกลับกลายเป็นป็อปไปเสียแล้ว กลายเป็นเพลงสนุก ๆ ซึ่งไม่น่าจะเข้ากับร็อคเคสตรา ถ้าเอาไปให้วงอื่นเช่นแกรนด์เอ็กซ์ หรือ รอยัลสไปร์ท บรรเลงอาจจะไม่สะดุดใจ
จากที่เคยอ่านสัมภาษณ์ของหรั่ง ร็อคเคสตร้า กับ ชัคกี้ บอกตรงกันว่าอัลบั้มนี้ต้องประนีประนอมกับค่ายเทป (นิธิทัศน์) ระดับหนึ่ง แต่นี่มันน่าจะออกครึ่ง ๆ เพราะหลังจากเพลง “เพลง” แล้วกลายเป็นป็อปไปเลย หมดความร็อกที่เร่าร้อนมาใน 5 เพลงแรก หลายเพลงกลายเป็นเพลงลูกกรุงไปเลย อันนี้ก็น่าสงสัยเหมือนกัน ขณะที่หน้าเอทำเพลงโฉบเฉี่ยวเป็นร็อกเต็มตัว อาจจะไม่ใช่ร็อกหนักมากแต่ก็ยังร็อกมีสำเนียงสากล แต่พอกลับมาหน้าบีกลายเป็นไทยป็อปไปเสียอย่างนั้น แล้วหลายเพลง เช่นเพลง “กรรม” “รัก” หรือ “เหงา” กลับไปทำเพลงตามแบบเพลงไทยป็อป เพียงแต่แทรกความเป็นมืออาชีพเข้าไปทำให้ไม่ดูขัดกันมาก อย่างเช่น “กรรม” เพลงนี้แปลกตรงที่ท่อนอินโทรกับเอาต์โทรออกมาเนี้ยบทันสมัย มีซาวนด์ซิตาร์ (แต่เล่นด้วยกีตาร์) แต่พอพ้นท่วงอินโทรกลายเป็นเพลงลูกกรุงไปเสียอย่างนั้น เอาไปให้สุเทพ วงศ์กำแหง หรือธานินทร์ อินทรเทพร้องได้สบาย ๆ แล้วพอเอาต์โทรกลายเป็นอีกเรื่องไป เสียงกีตาร์ลีดโฉบเฉี่ยวมาก
อันนี้เป็นเพราะเขียนเนื้อเพลงมีสัมผัสนอกสัมผัสในก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
ก้มหน้ารับกรรมที่ทำก่อนนั้น
ไม่เคยนึกหวั่นต่อกรรมที่ตามสนอง
ครั้งแล้วครั้งเล่าปวดร้าวหม่นหมอง
ความดีที่ทำนั้นต้องกลับกลายเป็นความผิดไป
พอโดนคำบังคับท่วงทำนองมันก็เลยออกมาดังนี้เป็นธรรมดา แต่เพลงธรรมดา ๆ ดูไม่ธรรมดาเพราะการแทรกเสียงอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าไป อย่าง ใน “อดีต” ก็มีท่อนลีดกีตาร์บาดใจคลอมาจาง ๆ ในตอนท้าย หรือเพลง “เหงา” ที่เป็นอคูสติกีตาร์ แต่มีลีดกีตาร์เป็นอิเล็กทริกเข้ามาท่อนท้าย
น่าเสียดายที่ว่า พอหลังจากนี้ชัคกี้ก็แยกตัวไป อ่านที่เขาให้สัมภาษณ์เหมือนตอนตกลงกันจะเป็นโปรเจ็คท์ทำอัลบั้มนี้เหมือนเป็นมือปืนรับจ้างแต่ได้อิสระในการทำงาน อัลบั้มนี้ไม่ใช่แค่เป็นอัลบั้มร็อกภาษาไทยในยุคบุกเบิก แต่ยังมีการเรียบเรียงและบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ด้วยประสบการณ์ของชัคกี้ที่แทรกสิ่งละอันพันละน้อย บวกกับความละเอียดในการวางเสียงเครื่องดนตรีของกฤษฎา ตันติเวชกุล มือคีย์บอร์ดที่กุมบังเหียนเป็นโปรดิวเซอร์ และฝีมือนักดนตรีแต่ละคนที่ยอดเยี่ยมช่วยสร้างสรรค์ผลงานดนตรีที่มีรายละเอียดน่าสนใจมากขึ้น
ตัวอย่างเพลงอื่น
นักดนตรี
- ชัชชัย สุขาวดี – ร้องนำ
- ภาสกร หุตะวนิช – คีย์บอร์ด, แซกโซโฟน, ฟลุ๊ต
- ธรรมนูญ หะยีสาและ – กลอง
- กฤษฏา ตันติเวชกุล – คีย์บอร์ด ( โปรดิวเซอร์ )
- สมโชค เล้าเปี่ยมทอง – กีตาร์เบส
- ชัคกี้ ธัญญรัตน์ – กีตาร์
เพลง
- เทคโนโลยี
- โลง
- เงา
- คิด
- เพลง
- หวย
- กรรม
- มนุษย์
- อดีต
- รัก
- เหงา
One thought on “Rockestra: Technology”