Sniffin’Glue – สนิฟฟิงกลู เป็นแฟนซีนที่เกิดขึ้นมาในสมัยพังก์
แฟนซีนฉบับนี้มีชื่อยาวเหยียดว่า สนิฟฟิงกลูแอนด์อัตเธอร์ร็อกแอนด์โรลฮาบิตส์… (Sniffin’ Glue and Other Rock ‘N’ Roll Habits…) ก่อตั้งโดย มาร์ก เพอร์รีย์ (Mark Perry) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1976 โดยเขาได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อแฟนซีนมาจากเพลง “นาวไอวอนนาสนิฟซัมกลู” จากอัลบั้มแรกของเดอะราโมนส์ (“Now I Wanna Sniff Some Glue”, The Ramones) สมัยแรกผลิตออกมาเพียง 50 ฉบับ แต่ต่อมาทำยอดสูงถึง 15,000 ฉบับ
สนิฟฟิงกลู เป็นตัวอย่างของแนวคิด DIY – Do It Yourself หรือ ทำด้วยตัวเอง ที่โด่งดังจากสมัยพังก์ครองเมือง มาร์ก เพอร์รีย์ พนักงานธนาคารในเมืองเดปต์ฟอร์ด (ภายใต้นามแฝงเมื่อแรกทำว่า Ballardian Mark P.) ใช้เพียงเครื่องพิมพ์ดีดราคาถูกพิมพ์บนกระดาษธรรมดาที่หาได้ แล้วก็ไปร้านถ่ายสำเนาเอามาเย็บลวดแม็กซ์เอาไปวางขาย หน้าปกก็ใช้ปากกาวาด ๆ เขียน ๆ เอากันง่าย ๆ แบบนั้น

แต่ในความเรียบง่ายคือการนำเสนอเรื่องราวของวงดนตรีพังก์ในยุคนั้น ทั้ง เซ็กซ์พิสทอลส์ เดอะแคลช ตั้งแต่เริ่มต้นจนรุ่งโรจน์กลายเป็นเรื่องเล่าระดับตำนาน…แต่สนิฟฟิงกลูปิดตัวไปหลังจากทำออกมา 12 ฉบับเท่านั้น
แฟนซีนมีมาตั้งแต่สมัยทศวรรษ 50 เริ่มแรกจากกลุ่มผู้นิยมเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ อย่างเช่นกลุ่มผู้สนใจไซ-ไฟ และถ้าในเรื่องพังก์ ก็เคยมีแฟนซีน นิวยอร์กพังก์ ของ เลกส์ แม็กนีล (Legs McNeil) ที่เกิดขึ้นในช่วงพังก์ฟูมฟักตัวเองในมหานครนิวยอร์ก
แต่สนิฟฟิงกลูก็โด่งดังมาก โดยเฉพาะหน้าหนึ่งจากซีนที่เอามาอ้างอิงกันภายหลังกันไปทั่ว “นี่หนึ่งคอร์ด นี่อีกหนึ่งคอร์ด นี่คอร์ดที่ 3 คุณตั้งวงได้แล้ว”
“ผมออกจากโรงเรียนในปี 1974 แล้วก็ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินในธนาคาร ผมชอบซื้อเอ็นเอ็มอีและอ่านเรื่องของพังก์จากนิวยอร์ก เดอะราโมนส์ แพตตี สมิธ เทเลวิชัน ตอนที่ราโมนส์ออกอัลบั้มแรกมามันมีเสียงที่สดใหม่มากน่าตื่นเต้นมาก ผมหลงรักมัน เด็กอย่างผมไม่เคยคิดเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจดนตรี แต่พอฟังราโมนส์คุณจะคิดในใจว่า ผมก็ทำได้”
แต่มาร์กไม่ใช่นักดนตรี เขาไม่คิดจะทำวงดนตรีหรือหัดเล่นกีตาร์ เขาลงมือทำแฟนซีนเกี่ยวกับพังก์ที่เขาชื่นชอบ และเขาก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีดสำหรับเด็ก ที่แม่เขาซื้อให้เป็นของขวัญวันคริสมาสต์เป็นเครื่องมือผลิตเนื้อหา บวกกับปากกาหรือมาร์กเกอร์สำหรับเขียนพาดหัวหรือทำหน้าปก ในเวลานั้นแนวคิดของพังก์เพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างตัว ยังไม่มีใครเรียกมันว่า DIY ออกมาเป็นสนิฟฟิงกลูฉบับแรกที่มีเพียงไม่กี่หน้าและไม่มีรูปภาพประกอบ เน้นเรื่องของราโมนส์ที่เขาชอบ พอสำเร็จออกมา มาร์กก็เอาไปฝากร้านขายแผ่นเสียง
หลังจากทำสนิฟฟิงกลูได้ไม่กี่ฉบับ มาร์กก็ลาออกจากงาน แดนนี เบเกอร์ (Danny Baker) เพื่อนสมัยเรียนมัธยมเข้ามาช่วยเขียนตอนที่สนิฟฟิงกลูออกไปสองสามฉบับแล้ว ตอนแรกเขาคิดว่ามาร์กออกจะบ้าไปหน่อยตอนทำฉบับแรก แต่สักพักก็มาช่วยเขียนเนื้อหาในซีน โดยทั้งคู่ใช้สำนักงานของ สจ๊วต โคปแลนด์ มือกลองเดอะโปลิส (Stewart Copeland, The Police) ที่ให้ใช้สถานที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พอถึงฉบับที่ 8 ก็เริ่มพิมพ์แบบมืออาชีพขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังคงเย็บลวดด้วยมือเหมือนเดิม
สนิฟฟิงกลูประสบความสำเร็จ ทำยอดจำหน่ายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนปีถัดมาก็มีแฟนซีนเกิดขึ้นมากมายเพราะเห็นโอกาส เช่น i-D แต่มาร์กกลับยุติการทำในฉบับที่ 12
“ผมประหลาดใจเหมือนกันตอนที่มาร์กตัดสินใจยุติการทำซีน” แดนนี ผู้ร่วมงานเล่า “…แต่เขาบอกว่า – นี่คือสิ่งที่พังก์เป็น ตอนนี้มันกลายเป็นท็อปออฟเดอะป็อปส์กันหมดแล้ว ไปอยู่กับบริษัทใหญ่กันแล้ว ให้มันจบเถอะ – ตอนนั้นเรามีเงินแค่ 90 ปอนด์ซึ่งเราใช้ในการผลิตฉบับสุดท้ายไปหมด”
ส่วนมาร์กบอกว่า “ฉบับที่ 1 ถึง 7 มันเข้มข้นมาก ออกมาตรงเป้า มีเนื้อหาที่ชัดเจน และไม่เหมือนใคร มันเยี่ยมจริง ๆ”
มาร์กภาคภูมิใจกับ 7 ฉบับแรกและบอกว่ามันคือแม็กกาซีนเกี่ยวกับดนตรีร็อกที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อถึงเวลามันก็ต้องไป
“สำหรับผม พังก์ตายตั้งแต่วันที่แคลชเซ็นสัญญากับซีบีเอสในปี 1977 ผมเขียนแบบนั้นด้วยตอนนั้น กลางปี 77 ผมทำงานที่สเต็ป-ฟอร์เวิร์ดเร็กคอร์ดส์ และตั้งวงดนตรีของผมเอง อัลเทอเนทีฟทีวี ซึ่งมันมีอะไรที่ต้องทำเยอะแยะไปหมด รวมทั้งคิดว่าซีนกำลังเหือดหายไปละ ผมก็เลยคิดว่าทำ 12 ฉบับแล้วหายไปเลยดีกว่า นั่นเป็นสิ่งที่เราทำ เราทำฉบับสุดท้าย 20,000 ฉบับ และแจกไปพร้อมกับซิงเกิลแรกของอัลเทอเนทีฟทีวี สนิฟฟิงกลูได้พูดในสิ่งที่อยากพูดไปแล้ว และจากไปตอนที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุด”
สนิฟฟิงกลูหยุดในเวลาที่ควรจะหยุด นั่นทำให้มันเป็นตำนาน
One thought on “Sniffin’ Glue”