Detroit Rock City (Film)

Detroit Rock City (film) คือภาพยนตร์เมื่อปีค.ศ 1999 ว่าด้วยกลุ่มเด็กวัยรุ่น 4 คนที่ทำวงสดุดีคิส (KISS) แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ตัดสินใจว่าจะร่วมเดินทางไปดูคอนเสิร์ตของคิสด้วยกัน

วงสดุดีก็ tribute นั่นแหละ นั่งคิดอยู่ว่าจะใช้คำอะไรแทนคำว่า tribute ดี เคยใช้คำว่า สดุดี ไปตรง ๆ ก็มีคนบอกว่าแปลก ๆ เหมือนจะขำ ๆ กัน แต่ลองหาคำอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยได้อย่างใจ ใช้ วงสดุดี แทน tribute band ไปละกัน บางคนก็บอกว่า ให้ใช้ทับศัพท์ ทริบิวต์แบนด์ ไปเลย แต่ช่วงนี้ FR!DAY ! AM !N ROCK เกิดกระแดะอยากใช้คำไทยแบบไม่น่าเชื่อ

นอกเรื่องไปซะยาว กลับเข้าเรื่องดีกว่าเนอะ 

จะว่าไปแล้ว ดีทรอยต์ร็อกซิตี เป็นภาพยนตร์ในสายเปลี่ยนผ่านอายุ (coming of age) ที่ธรรมดาสามัญมาก เราคงเคยชมภาพยนตร์ว่าด้วยการเดินทาง หรือว่า การมีส่วนร่วมในเหตุการณ์บางอย่างร่วมกันซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิต หรือเป็นการเรียนรู้อะไรสักอย่าง แล้วก็คิดในใจว่า แล้วมันจะมีอะไรให้น่าติดตามล่ะ ถ้ามันเป็นเรื่องราวที่ “คิดว่าน่าจะคาดเดาโครงเรื่องง่าย ๆ”

เด็กวัยรุ่นสี่คน ดิ้นรนเดินทางไปดูวงโปรดของตัวเองเล่นคอนเสิร์ต อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ถ้าไม่มีโฆษณาว่า “หนังที่ทำโดยแฟนเพลงคิส เพื่อแฟนเพลงคิส” ดังนั้นถึงแม้ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์จะไม่ดึงความสนใจจากคนหมู่มาก แต่สำหรับคนที่เป็นแฟนวงคิสก็คงจะต้องหันมามองบ้าง

พักสักครู่…ถ้าหากว่าท่านเข้าใจผิดคิดว่าบล็อกนี้จะพูดถึงตัวภาพยนต์เจาะจงไปโดยเฉพาะ โปรดข้าม เพราะใจความส่วนใหญ่จะพูดถึงวงคิสเป็นหลัก นะจ๊ะ

คิสเป็นใคร?   

คิสไม่ใช่วงดนตรีที่เขียนเนื้อเพลงลุ่มลึก เนื้อหาของบทเพลงเวียนวนอยู่กับแนวคิดหลักของร็อกแอนด์โรล นั่นคือ ไตรลักษณ์ว่าด้วย เซ็กซ์ ยาเสพติด และ ร็อกแอนด์โรล ใช้คำที่คนจำง่าย มีท่อนฮุกร้องตามได้สะดวก ถ้าพูดถึงฝีมือทางด้านการเล่นดนตรีก็ฝีมือธรรมดา สมาชิกแกนหลักของวงไม่เคยได้รับการยกย่องในแง่ของฝีมือการเล่นดนตรีว่าเลิศเลอประดุจเทพจุติ อาศัยเพียงทีมเวิร์กที่เข้าขาและร็อกกันสนั่นหวั่นไหว พวกเขาไม่เคยมีเพลงหรือว่าอัลบั้มขึ้นอันดับหนึ่งในบิลบอร์ดชาร์ต แต่พวกเขามีฐานแฟนเพลงเหนียวแน่น และเป็นวงดนตรีทีทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ อยู่ในลำดับต้นของวงการร็อกโดยไม่จำเป็นที่จะต้องออกอัลบั้มใหม่เสียด้วยซ้ำ

จุดเด่นที่เป็นเสน่ห์อย่างเดียวของคิส (ในสายตาของ FR!DAY ! AM !N ROCK) ก็คือพวกเขามองดนตรีเป็นเรื่องความบันเทิง สองผู้นำของวงคือ พอล สแตนลี กับ จีน ซิมมอนส์ ฉลาดในการนำเสนอความบันเทิงแน่วแน่มาตั้งแต่ตั้งวงเมื่อปีค.ศ. 1971 (ตอนนั้นยังใช้ชื่อวงว่า วิคเก็ดเลสเตอร์ (Wicked Lester) คือถ้าพูดถึงดนตรีว่า “เล่นดนตรี” ต้อง “ยึดถือดนตรีเป็นสรณะ” วงคิสอาจไม่ใช่วงดนตรีด้วยซ้ำ

สองหัวหอกของคิสยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ไม่เคยคิดจะทำดนตรียิ่งใหญ่ซับซ้อนเหนือมนุษย์ แม้ว่าช่วงที่พวกเขาตั้งวงจะเป็นช่วงที่วงดนตรีเช่น แบล็กซับบาธ เล็ดเซพพลิน กำลังดัง แถมดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกที่หลงใหลความลึกล้ำของเสียงดนตรีกำลังผลิบาน พลพรรคคิสคงคิดใคร่ครวญกันแล้วว่าถ้าให้นำเสนอออกมาแบบนั้นมันคงไม่รุ่ง แน่ ทักษะและความสร้างสรรค์เทียบชั้นวงระดับเทพเหล่านั้นลำบาก ดังนั้นต้องนำเสนอร็อกพื้น ๆ ที่เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก

ตรงนี้ก็เข้ากับหลักการตลาด คือ ถ้าคิดจะประสบความสำเร็จ ต้องคิดถึงสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อน แต่ถ้ามีใครทำมาก่อน ก็ต้องทำให้ดีกว่า และถ้าทำให้ดีกว่าไม่ได้ ก็ต้องเลือกที่จะแตกต่าง! คิสเลือกที่จะแตกต่าง  เพราะสิ่งที่พวกเขาสนใจก็คือทำอย่างไรถึงจะให้แฟนเพลงรู้สึกสนุกไปกับพวกเขา และนั่นก็เป็นเคล็ดลับความสำเร็จของคิสที่เล่นกันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยร่วมห้าสิบปี

อย่างแรกที่แตกต่างก็คือการแต่งหน้าและแต่งตัวของพวกเขา อันที่จริงการแต่งหน้าไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในตอนนั้น เพราะในช่วงที่พวกเขาตั้งวงคือประมาณต้นทศวรรษ 70 ก็มีวงแกล็มร็อกทาหน้าทาตากันบ้างแล้ว อย่าง อลิซ คูเปอร์ (Alice Cooper) เจ้าพ่อช็อคร็อกก็แต่งหน้าแต่งตาและมีการแสดงประกอบระหว่างแสดงดนตรี แต่สิ่งที่ อลิซ คูเปอร์ ทำเพียงแค่ทาอายไลน์เนอร์ ขณะที่คิสทำมากกว่านั้นคือ แต่งให้มันหลุดโลกไปเลย! 

คิส จากซ้าย เอซ เฟรห์ลี, ปีเดอร์ คริสส์, พอล สแตนลี และ จีน ซิมมอนส์

นั่นคือพวกเขาได้สร้างบุคลิกที่เป็นแบบอย่างเฉพาะ คือ จีน ซิมมอนส์ มือเบสเป็นอสูรกายพ่นไฟ (The Demon)  สำรอกเลือด พอล สแตนลี มือกีตาร์และร้องนำเป็นเด็กน้อยจากดวงดาว (The Starchild) เอซ เฟรห์ลี มือกีตาร์เป็นมนุษย์จากอวกาศ (The Spaceman) และ ปีเตอร์ คริสส์ มือกลองเป็นแมว (The Catman)

นี่คือการสร้างการรับรู้ที่แตกต่างและแปลกใหม่ แม้แต่เด็กที่ไม่เคยฟังดนตรีร็อกยังสนใจพวกคิส เพราะคิดว่าสมาชิกทั้งสี่หลุดมาจากหนังสือการ์ตูน (อันนี้พูดถึงตัวเองล้วน ๆ) พวกเขาเรียกร้องความสนใจจากผู้คนได้สำเร็จ ทว่าสามอัลบั้มแรกของคิสกลับขายได้ไม่ดีนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการที่พวกเขาใช้วิธีแต่งหน้าทาตาสร้างความสนใจ ได้กลายเป็นหอกย้อนกลับมาทิ่มแทงว่าพวกเขาไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีเลยต้องหาจุดอื่นมากลบเกลื่อน

ทางบริษัทคาซาบลังกาพยายามจะผลักดันพวกเขาให้โด่งดังทุกวิถีทาง (เช่นจัดแข่งจูบมาราธอนก็มี) แต่ยอดจำหน่ายอัลบั้มมันไม่กระเตื้องขึ้น จน นีล โบการ์ต นายใหญ่แห่งคาซาบลังกาที่มองเห็นจุดขายตั้งแต่แรกต้องมาบัญชาการเข้มข้นด้วยตัวเองในอัลบั้ม เดรสเซสทูคิล (Dressed to Kill, 1975) ผลงานลำดับที่สามซึ่งยอดขายแย่กว่าฮอตเตอร์แดนเฮล (Hotter Than Hell, 1974) อัลบั้มที่สองเสียอีก

ถึงแม้ว่ายอดขายจะไม่มากนัก สิ่งที่พอจะขึ้นหน้าขึ้นตาอยู่บ้างก็คือการแสดงบนเวทีอันตระการตาอาศัยของประกอบเวทีเช่นพลุ การพ่นไฟและสำรอกเลือดของจีน (ความจริงเป็นโยเกิร์ตกับสีผสมอาหาร) แสงสีฉูดฉาดและควัน บวกกับการบรรเลงเพลงของคิสเร้าใจคนดู คือเพลงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ว่าฟังแล้วมันส์ ซึ่งความสำเร็จทางการแสดงสดนี้เป็นจุดเริ่มให้ บิล อูคอยน์ ผู้จัดการของวงเริ่มมองเห็นว่าสิ่งที่แฟนเพลงต้องการมันคือการแสดงสด และเขาจึงเสนอให้ทำอัลบั้มแสดงสดออกมาคั่นเวลา

สมัยนั้น (ช่วงกลางทศวรรษ 70) การออกอัลบั้มแสดงสดมีค่าเพียงอัลบั้มค่าเวลาเท่านั้น แต่นีลมองจุดขายตามแบบที่บิลเสนอมาได้ทะลุปรุโปร่ง เลยยอมปล่อยอัลบั้มแสดงสดออกมาเป็นแผ่นคู่แม้ว่าราคาจะแพงกว่าแผ่นเดี่ยว และอีกอย่างคือคาซาบลังกาใกล้ล้มละลายเต็มที การออกอัลบั้มแสดงสดจึงเป็นการลงทุนที่ไม่มากนัก อาจจะพอเก็บเกี่ยวรายได้กลับคืนเข้ากระเป๋าบ้างสักหน่อยก็ยังดี

แต่ผลตอบรับงานชุดนี้เกินความคาดหมายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง อะไลฟ์! (Alive!, 1975) ขายได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ อัลบั้มที่กะว่าทำมาคั่นเวลากลับทำยอดจำหน่ายได้ดีเกินยอดจำหน่ายอัลบั้มที่ออกมาก่อนหน้านั้นรวมกันเสียอีก เพลง “ร็อกแอนด์โรลออลไนท์” ที่เวอร์ชั่นเดิมในอัลบั้ม เดรสเซดทูคิล ไม่ค่อยจะได้รับการเหลียวแลจากทางสถานีวิทยุ แต่เวอร์ชั่นแสดงสดกลับเปิดออกอากาศกันเป็นว่าเล่น รวมไปถึงยอดจำหน่ายขึ้นทะลุไปติดสูงสุดที่อันดับ 9 ของบิลบอร์ดชาร์ตอย่างน่าอัศจรรย์เมื่อเทียบกับความล้มเหลวที่เคยมีก่อนหน้านั้น

งานนี้ พอล สแตนลี อวดว่า ที่มันประสบความสำเร็จแบบนี้เพราะว่าจุดเด่นของคิสอยู่ที่การแสดงสดที่เข้มข้นทรงพลังและสนุกสนาน แต่สามอัลบั้มแรกมันบันทึกเสียงแห้งแล้งสิ้นดี มันเลยไม่ประสบความสำเร็จ แต่พอบันทึกการแสดงสดก็เลยปังเปรี้ยงป้างปิ๊ดปิ้วไปเลย

เดี๋ยวถ้ามีเวลาว่างกว่านี้จะเขียนถึงอัลบั้ม อะไลฟ์ อีกครั้ง เพราะมีอะไรให้พูดถึงมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า “พลังจากการแสดงสด” มันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้ วงคิสตกแต่งเสียงซ่อมแซมในสตูดิโอกันมากทีเดียวเชียวพ่อคุณเอ๊ย

หลังจากคิสประสบความสำเร็จ การตลาดอันเข้มข้นก็เริ่มขึ้น เริ่มจากแฟนคลับที่ใช้ชื่อเก๋ ๆ ว่ากองทัพจูบ (KISS Army) ถัดจากนั้นของสะสมก็เริ่มต้นกันระห่ำ นับจากโปสเตอร์ โมเดล ไปจนถึงกล่องดินสอและกล่องข้าว เอาเพลงเก่าจากสามชุดแรกมารวมขายใหม่ ออกอัลบั้มใหม่ คราวนี้ดูดีผิดหูผิดตา แบบว่าคนมีบารมีหนุนส่ง ต่อให้ปล่อยตดก็ยังมีคนชมว่าหอมน่าดม อัลบั้ม เดสทรอยเยอร์ (Destroyer, 1976) ได้ บ็อบ เอซริน มาเป็นผู้ดูแลการผลิต กลายเป็นผลงานชิ้นเอก ตามมาด้วย ร็อกแอนด์โรลโอเวอร์ (Rock and Roll Over, 1976) และ เลิฟกัน (Love Guns, 1977) ซึ่งในปี 1977 ต้องจารึกไว้ว่าสำนักสำรวจความนิยม แกลลอฟ (Gallop Poll) ประกาศในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1977 ว่า “คิสคือวงดนตรียอดนิยมอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา”

อันนี้ก็อย่าลืมว่า แกลลอฟเป็นเพียงแค่การสำรวจความนิยม ซึ่งเราก็ไม่อาจแน่ใจในเรื่องความเที่ยงตรงแม่นยำของกลุ่มตัวอย่างได้ชัดเจนนัก แต่อย่างน้อย ณ เวลานั้น วงคิสเป็นหนึ่งในวงดนตรีร็อกที่ประสบความสำเร็จที่สุดในสหรัฐอเมริกาแน่นอน

 ความสำเร็จของพวกเขาสูงสุดก็ช่วง 1975 – 1978 พวกเขากลายเป็นวงที่ดังที่สุดของอเมริกา ซึ่งในภาพยนตร์ ดีทรอยต์ร็อกซิตี ได้แสดงถึงความคลั่งไคล้คิสที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นว่าอยู่ในระดับใด และแฟนเพลงของจะหวนรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพวกเขาได้แน่นอน

Detroit Rock City (Film)

และช่วงเวลาประมาณนี้แหละ ที่เป็นช่วงเวลาการดำเนินเรื่องดีทรอยต์ร็อกซิตี ในเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ทำมาขายแฟนคิสโดยเฉพาะ ทุกสิ่งทุกอย่างเลยมีแต่คิสเต็มไปหมด ตั้งแต่ชื่อภาพยนตร์ก็เอามาจากชื่อเพลง “ดีทรอยต์ร็อกซิตี” ของคิสจากอัลบั้มเดสทรอยเยอร์ 

สำหรับเมืองดีทรอยต์เป็นที่รู้จักกันในนามของมอเตอร์ซิตีหรือเมืองรถยนต์ เนื่องมาจากเป็นเมืองศูนย์กลางผลิตรถใหญ่ที่สุดของอเมริกา ในช่วงที่อุตสาหกรรมหนักกำลังเฟื่องฟู ส่วนในด้านดนตรีก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในช่วงปลายทศวรรษ 60 ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษ 70เพราะเป็นแหล่งกำเนิดดนตรีโปรโตพังก์/การาจร็อกออกมามากมาย เช่นเอ็มซีไฟฟ์ (MC5 ชื่อเต็มคือมอเตอร์ซิตีไฟฟ์-Motor City 5) อิกกี ป็อปแอนด์เดอะสตูเกจส์ และแอมบอยดุ้ก เป็นต้น 

แม้จะดูเหมือนเป็นเพลงสดุดีเมืองดีทรอยต์ว่าเป็นเมืองร็อก แต่เนื้อหาของเพลงนี้เป็นเรื่องของคนที่ขับรถประสานงากับรถบรรทุกที่ขับสวนมา ตรงนี้ถ้าจะจับแพะชนแกะให้มันเข้ากับเมืองดีทรอยต์ก็คงจะได้ในแง่ว่าดีทร้อยต์เป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ บทเพลงเลยเกี่ยวกับรถยนต์ 

Detroit Rock City (film)

ภาพยนตร์เรื่องดีทรอยต์ร็อกซิตีไม่เกี่ยวกับเมืองดีทรอยต์ เพราะตามท้องเรื่องจะเป็นที่คลิฟแลนด์, โอไฮโอ เนื้อหาว่าด้วยเด็กวัยรุ่น 4 คน เล็กซ์ (จูเซปเป้ แอนดรูว์) ทริป (เจมส์ เดอ เบลโล) ฮอว์ก (เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง) และแจม (แซม ฮันติงตัน) ที่ชอบวงคิสขนาดตั้งวงสดุดี และได้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตวงโปรดของตัวเอง…แล้วพบว่าทำบัตรหาย! แต่ความจริงคือแม่ของวัยรุ่นคนหนึ่งเผาทิ้ง ทั้ง 4 เลยต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไปดูคอนเสิร์ตของวงสุดรักสุดโปรดให้ได้

เนื้อหาเพียงแค่นั้น นอกนั้นเพียงเติมเรื่องให้เต็ม และจบอย่างมีความสุข…

เว็บมะเขือเทศเน่าให้ 41 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนดูให้ 82 เปอร์เซนต์

โดยส่วนตัว ไม่ได้ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ก็มีครบอย่างที่หนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่งพึงมี ตลก ตรามาซึ้งใจ ความห่าม ทะเล้น ทะลึ่ง แบบติดเรตอาร์ ตามประสาวัยรุ่นขาร็อก และแน่นอน ร็อกแอนด์โรลกับวงคิส

Leave a Reply

Scroll to Top