Aerosmith

Permanent Vacation: The Real Comeback Album of Aerosmith

Permanent Vacation สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 9 จาก Aerosmith เป็นอัลบั้มที่ทำให้เด็กเสเพลแห่งบอสตันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งในทศวรรษ 80

 หมายเหตุ เรื่อง  อัลบั้ม Comeback ของ Aerosmith ในปีค.ศ.1987 นี้ เรียบเรียงจาก podcasts เรื่อง  การกลับคืนสู่สถานะซูเปอร์สตาร์ของ Aerosmith ในปีค.ศ. 1987

 การกลับคืนสู่สถานะซูเปอร์สตาร์ของ Aerosmith ในปีค.ศ. 1987 Friday I'm in Rock

อัลบั้ม Permanent Vacation อัลบั้มที่ประสบความสำเร็จหลังจากอัลบั้ม Done with The Mirror ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น Comeback Album ไม่ประสบความสำเร็จ

The Real Comeback of Aerosmith in 1987

วันหนึ่ง นั่งดูยูทูปอยู่ก็รู้สึกสะดุดกับคำว่า “comeback” ของกลุ่มศิลปินเกาหลีกลุ่มหนึ่ง คือ พวกน้อง ๆ เขากำลังจะออกอัลบั้มใหม่ ในข่าวใช้คำว่า comeback album (หรือ single ก็จำไม่ค่อยได้) ซึ่งก็เข้าใจอยู่ว่านี่คือคำที่ใช้ในการตลาดของบริษัทเกาหลี แต่จากใจคนที่ไม่ค่อยติดตามอะไรจากเกาหลีมากนัก ฟังแล้วก็แปลก ๆ เพราะรู้สึกว่าน้องเขาก็ทำงานปกติ ไม่ได้หายไปไหน ยังเห็นอยู่ตลอด อัลบั้มที่แล้วก็เพิ่งออกปี 2020 นี่เอง ยังเห็นในข่าว ในสื่อสังคมออนไลน์เกือบจะตลอดเวลา ก็เลยออกจะรู้สึกแปลก ๆ กับศัพท์การตลาดของศิลปินเกาหลีอยู่บ้าง

โดยส่วนตัว เวลาพูดถึง comeback album จะหมายถึงศิลปินรายนั้นห่างหายไปนานมาก อย่างเช่น Guns N’ Roses ตอนที่ออกอัลบั้ม Chinese Democracy นั่นห่างหายไปจากอัลบั้มก่อนหน้าถึง 15 ปี แบบนี้จะเรียกว่า comeback album

(แต่หลังจากออกงานชุดนั้นแล้วเงียบหายไปเลย ผ่านมา 13 – 14 ปีไม่มีวี่แววจะมีอัลบั้มใหม่  ไม่รู้ว่าต้องรอ 15 ปีถึงจะได้ฟังอัลบั้มต่อไปหรือเปล่า?)

หรือ ถึงจะไม่ได้ทิ้งช่วงการออกอัลบั้มนานอย่างพลพรรคกุหลาบปลายปืน แต่ถ้าก่อนหน้านั้นเคยประสบความสำเร็จแล้วเงียบหายไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเดิมจนแฟนเพลงลดน้อยลง แล้วจู่ ๆ วันหนึ่งกลับมาสร้างอัลบั้มที่ได้รับความนิยมมหาศาล ก็ถือว่าเป็น comeback album เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น Supernatural ของ Santana ที่ทำให้พวกเขากลับมาดังและประสบความสำเร็จทางการตลาดอีกครั้งหลังจากไม่ประสบความสำเร็จมาร่วม 2 ทศวรรษ

เหล่านี้คือ comeback ในนิยามของ FR!DAY ! AM !N ROCK ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และ…มีเสียงบ่นจากแฟนเพลง อย่างเช่น Different Kind Of Truth ของ Van Halen ผลงานชุดนี้เป็น comeback album ในความหมายของการกลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้งในรอบ 14 ปี และถ้านับว่าเป็นการกลับคืนสู่คณะอย่างเต็มตัวของ David Lee Roth ซึ่งออกจาก Van Halen ไปร่วม 3 ทศวรรษ  แต่ Different Kind Of Truth ทำให้หลายคนผิดหวังเพราะเป็นการขุดเอาเพลงเก่าที่เคยทำไว้สมัยแรกมาบรรเลงแก้คิดถึงและเงินเข้ากระเป๋ามากกว่า

ในบรรดา comeback album ต่าง ๆ นี่ มีหลายอัลบั้มที่อยากพูดถึง แต่ในตอนนี้ขอนำเสนอผลงานของ Aerosmith ที่ชื่อ Permanent Vacation ออกเมื่อปีค.ศ. 1987 ความจริงแล้ว พวกเขาตั้งใจจะ “comeback” กันในอัลบั้ม Done With Mirrors

โอเค เดี๋ยวจะเล่าความเป็นมากของอัลบั้มนี้ก่อน ต้องท้าวความย้อนไปไกลหน่อย

Aerosmith

Aerosmith

Aerosmith เป็นฮาร์ดร็อกจากอเมริกาที่โด่งดังมากในทศวรรษ 70 ถึงแม้ว่าตอนออกอัลบั้มแรกจะโดนนักวิจารณ์สับเละเทะเพราะว่ามีอะไรชวนให้นึกถึง The Rolling Stones เป็นอย่างมาก ทั้งดนตรี ตัวนักร้องนำ มือกีตาร์ แต่พวกเขาก็พิสูจน์ตัวเองว่ามีดีพอจะโด่งดังได้เหมือนกัน

แต่ความโด่งดังของพวกเขาก็เริ่มเสื่อมทรามในช่วงปลายทศวรรษ 70 นั่นเอง อาจจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนในช่วงอัลบั้ม Night in the Ruts ซึ่งในตอนแรกพวกเขาตั้งใจจะให้ชื่ออัลบั้มนี้ว่า Off Your Rocker แต่ระหว่างการบันทึกเสียงมีปัญหามากมาย ตั้งแต่ Jack Douglas โปรดิวเซอร์คู่บุญบารมีที่ช่วยให้วงประสบความสำเร็จมาหลายชุด ต้องโบกมือลา เพราะมีปัญหากับสมาชิกวงด้วยเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา นั่นคือ เขาเลิกกับภรรยา แต่ภรรยาของเขาเป็นเพื่อนกับภรรยาและสมาชิกวง Aerosmith มันก็เลยเหมือนมีการ “เลือกข้าง” แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ อัลบั้ม Draw The Line ที่ออกมาก่อนหน้านั้นไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่บริษัทโคลัมเบียคาดหวังไว้Jack จึงกลายเป็นแพะในสายตาผู้บริหาร

เรื่องนี้ Jack ไม่ได้เก็บมาใส่ใจนัก เขาบอกว่า “ผมคิดว่าตอนนั้นพวกเขาโดนกดดันให้ทำอัลบั้มที่มีเพลงฮิตไม่แพ้ชุดก่อน วันหนึ่ง David ก็เข้ามาบอกผมว่า พวก Aerosmith จะทำอัลบั้มใหม่โดยไม่มีผมละนะ หลังจากนั้น Steven กับ Joe มาบอกผมว่า Gary Lyons จะมาทำงานแทน แต่ผมว่าผมไม่ได้ทำงานชุดนั้นก็ดีแล้ว เพราะตอนนั้น Joe แทบจะหมดใจกับ Aerosmith ไปแล้ว เขามีเพลงดี ๆ ในมือที่น่าจะออกมาสวยหลายเพลง แต่เขาก็ไม่เอาเพลงให้วง เพราะวางแผนที่จะออกงานเดี่ยว แต่ผมว่า Joe ไม่ได้มองตัวเองเลยว่า เขาร้องเพลงได้แย่มาก แถมยังติดยาจนทำอะไรไม่ได้เรื่อง แต่ Elissa ภรรยาเขานั่นแหละ ที่ยุให้เขามาออกงานเดี่ยว”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่า Joe Perry เริ่มโฟกัสไปที่การทำอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองมากกว่าจะทำงานกับวง แต่เรื่องนี้ Joe บอกว่ามีความจำเป็นทางการเงินค้ำคออยู่

“ช่วงเตรียมทำอัลบั้ม Night In the Ruts อยู่ดี ๆ David (- Krebs ผู้จัดการวง) ก็มาบอกว่าผมเป็นหนี้อยู่ 80,000 เหรียญ เฮ้ย มันเป็นไปได้ยังไง…”  Joe รำลึกความหลังช่วงนั้น “…หลังจากอัลบั้มที่ 3 ออกมา ผมถามเขาอยู่เรื่อย ๆ ว่าเราทำเงินได้เท่าไหร่กันแน่ แต่ไม่เคยไม่รับคำตอบ ผมเลยลองให้ Cosmo ญาติของ Elyssa (ภรรยาของโจ) เข้ามาดูเรื่องรายได้ ผมคิดว่ามันมีเรื่องทะแม่ง ๆ เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็เอาเถอะ ผมถามเขาว่าจะมีวิธีจัดการกับหนี้ก้อนนี้อย่างไร ก็ได้คำแนะนำว่าน่าจะลองออกอัลบั้มเดี่ยวดู”

และนั่น ทำให้เขา “กั๊ก” เพลงดี ๆ ไว้ใช้กับ The Joe Perry Projects

แต่ปัญหาที่แท้จริง น่าจะเป็นสมาชิกวง ที่ติดยากันอย่างหนัก ถึงขนาดที่ Joe Perry มือกีตาร์ของวงออกความเห็นว่า “เราไม่ใช่นักดนตรีติดยา แต่เป็นคนติดยาที่เล่นดนตรี” 

และที่ติดยาหนักก็คือ Steven Tyler นักร้องนำของวงที่จะต้องเขียนเนื้อร้องให้กับบทเพลง แต่กลับเขียนเพลงไม่ได้สักเพลงเพราะว่าติดยาจนหมดสภาพ!

และด้วยเหตุผลการทำงานที่มีปัญหา ทางวงตัดสินใจออกทัวร์ระยะสั้นทั้งที่ยังทำอัลบั้มไม่เสร็จ โดยหวังว่าจะทำให้ทางวงเกิดไฟในการทำอัลบั้มใหม่ขึ้นมาบ้าง แต่ในช่วงทัวร์นั้นElyssa กับ Terry (Hamilton ภรรยาของ Tom Hamilton ) เกิดทะเลาะกันรุนแรง Joe ก็ส่งสัญญาณกวน teen เพื่อนฝูงบนเวทีเป็นระยะ จนเกิดปัญหากับ Steven บ่อย ๆ จนครั้งหนึ่งมีปัญหากับ Steven บนเวทีและลามต่อเนื่องมาหลังเวที และเหมือนว่าจะไม่มีทีท่าจะสงบจนกระทั่ง Joe ตะโกนว่า “เออ ก็ได้ ผมจะออกจากวง” แล้ว Steven ตะโกนตามมาว่า “นั่นแหละ สิ่งที่คุณ (มึง) ควรจะทำนานแล้ว” 

เมื่อ Joe Perry ออกจากวงขณะกำลังบันทึกเสียง ต้องให้ Jimmy Crespo มาช่วยเล่นกีตาร์แทน หลังจากนั้นก็คือช่วงเวลาตกต่ำในอาชีพการงานของ Aerosmith ยอดจำหน่ายลดลง ความนิยมลดลง จากที่เคยเล่นในสนามกีฬา ต้องมาเล่นคลับเล็ก แล้วการแสดงสดในช่วงนั้นก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะตัว Steven มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ถึงขั้นหมดสติตอนกำลังแสดงสดก็มีหลายครั้ง 

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงทุกที Brad Whitford มือกีตาร์ ก็ตัดสินใจแยกตัวไปอีกคนในปีค.ศ. 1981 เพื่อทำวงของตัวเองในชื่อ Whitford/St. Holmes ร่วมกับ Derek St. Holmes อดีตนักร้องนำประจำวงของ Ted Nugent ออกอัลบั้มมาชุดเดียวไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ภายหลัง Brad ตัดสินใจไปรวมวง The Joe Perry Projects แทน

แต่ทั้ง The Joe Perry Project และ Aerosmith ไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่

The Re-Union

ปีค.ศ. 1984 Tim Collins ผู้จัดการส่วนตัวของ Joe Perry พยายามชักนำให้ Joe ลองพูดคุยกับ Steven Tyler อีกครั้ง เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่าหนทางที่ดีที่สุดสำหรับ Joe Perry ก็คือการกลับคืนสู่วงดนตรีที่สร้างชื่อให้กับตัวเขาเท่านั้น

 Brad เป็นคนเริ่มสานสัมพันธ์กับเพื่อนเกล่า จนนำไปสู่การชักชวนให้ Joe Perry ไปเยี่ยมชมการแสดงสดของ Aerosmith ที่ Auphium Theater ในวันวาเลนไทน์ปีค.ศ. 1984 และได้พูดคุยกันหลังเวทีกับสมาชิกวง Aerosmith และมีการนัดแนะให้มาพูดคุยเป็นกิจจะลักษณะที่บ้านของ Tom Hamilton ในเวลาต่อมา 

ปัญหาแรกที่น่าหนักใจคือจะให้ใครเป็นผู้จัดการวง เพราะในเวลานั้น David Krebs เป็นผู้จัดการวงAerosmith แต่ว่า Joe ไม่อยากจะร่วมงานกับ David เขาวางใจตัว Tim Collins ผู้จัดการของเขามากกว่า ส่วนทางด้าน David ก็รู้ตัว จึงพยายามเร่งรัดให้ Aerosmith เข้าสตูดิโอเพื่อทำอัลบั้มใหม่ เป็นการเก็บ Jimmy Crespo กับ Rick Dufay ไว้ในวงเพื่อกันไม่ให้ Joe กับ Brad กลับมา

แต่ Steven Tyler ก็ดึงเกมส์ เพราะเขาก็คงอยากได้เพื่อนเก่ากลับมามากกว่า จึงอ้างว่าเพลงยังไม่เสร็จ และไม่ยอมเขียนเนื้อเพลงให้เรียบร้อย

แต่ คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้สมาชิกยุคแรกเริ่มสุดแสนคลาสสิกกลับมารวมตัวกัน กลับเป็นคนภายนอกที่ชื่อ John Kalodner 

John Kalodner

John เป็น Artists and Repertoire (A&R ภาษาไทยใช้คำว่า ฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน) ของ GEFFEN เขาเป็นคนที่มีบทบาทในแวดวงดนตรีร็อกมากในยุค 70 – 80 โดยเฉพาะในยุค 80 นี่ บรรดาวงดนตรีฮาร์ดร็อกเก่า ๆ หรือ ซูเปอร์กรุ๊ปมากมายเกิดขึ้นจากการผลักดันของเขา

เอาเป็นว่า ถ้าเป็นคนอื่นเวลามีชื่อปรากฏบนปกอัลบั้มศิลปิน อาจจะต่อด้วยตำแหน่งหน้าที่ เช่น Producer, Executive Producer, Sound Engineer, Manager หรืออะไรทำนองนั้น

แต่สำหรับ John Kalodner จะใช้เครดิตว่า John Kalodner: John Kalodner

อันนี้จริง ๆ เป็นมุกของ Mick Jones แห่งวง Foreigner  ตอนทำอัลบั้ม Double Vision แล้วใส่เครดิต John Kalodner  ไว้แบบนี้ แต่เจ้าตัวคงชอบใจเลยใช้ต่อ

แต่เขาก็คู่ควรจริง ๆ เพราะความสำเร็จของวงดนตรีหลายคณะ เช่น Foreigner,  AC/DC, Cher, Phil Collins, Whitesnake, Jimmy Page, White Zombies, Damn Yankees และอีกมากมายหลายคณะเกิดจากการผลักดันและวางแผนของเขาคนนี้

รวมทั้ง Aerosmith ด้วย

ก็อย่างที่บอกว่าช่วงต้นทศวรรษ 1980 นี่ Aerosmith แตกสลายฮะมุง Aeromsith แตกสลายเป็นล้าน ๆ ชิ้นเลย แล้วแต่ละชิ้นก็แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ แต่โชคดีที่ก่อนจะโดนบดขยี้แต่ละเสี่ยงให้แหลกเป็นผุยผง ก็ดลบัลดาลให้ John Kalodner  อยากเซ็นสัญญากับพวกเขาให้ออกอัลบั้มกับบริษัท Geffen 

แต่การที่จะเอา Aerosmith ที่ปราศจาก Joe Perry กับ Brad Whitford มันก็ดูเหมือนเป็นหมาสามขา คือ หมาสามขาก็เป็นหมา แต่มันจะวิ่งแช่งหรือจะถ่ายรูปให้ออกมางามสง่าเหมือนหมาสี่ขาก็ยังห่าง

John ยื่นข้อเสนอเซ็นสัญญากับ Geffen แต่ต้องเป็น Aerosmith ในยุคคลาสสิกไลน์อัป อันประกอบด้วย Steven Tyler (นักร้องนำ) Joe Perry (กีตาร์) Brad Whitfors (กีตาร์) Tom Hamilton (เบส) และ Joey Kramer (กลอง) เท่านั้น

ในที่สุด Aerosmith ก็กลับมาร่วมทำคอนเสิร์ต Back In the Saddle Tour ในปี 1984 ซึ่งประสบความสำเร็จพอประมาณ  โดยมี Tim Collins เป็นผู้จัดการวง ส่วน David Krebs ก็ได้แต่ดำเนินการทางกฎหมายกับทางวงในข้อหาฉีกสัญญา

Aerosmith-Done With Mirrors

และอัลบั้มที่ได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าเป็น “Comeback Album” ของ Aerosmith ก็คือ Done With Mirrors ในปีค.ศ. 1985 ได้ Ted Templeman โปรดิวเซอร์คนดังมาเป็นคนดูแลการผลิต และเขาเลือกที่จะจดจำความดิบเถื่อน สดใหม่ของ Aerosmith ในยุคแรก จึงขอให้พวกเขาลองเล่นกันแบบดิบ ๆ และบันทึกเสียงโดยไม่บอก Aerosmith ว่ากำลังบันทึกเสียงอยู่ ซึ่งเทคนิคนี้เคยได้ผลตอนที่ทำงานกับ Van Halen ในยุคแรก 

ทว่าผลงานชุดนั้นแทบไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วาดหวังเอาไว้

“บางคนชอบอัลบั้มนั้น แต่บางคนไม่ชอบ ส่วนตัวผม…ไม่ชอบมันมาก ๆ” Joe Perry มือกีตาร์มองความผิดพลาดของอัลบั้มไว้อย่างนั้น

Ted Templeman แก้ตัวว่า วิธีที่เขาทำกับ Aerosmith ในชุดนี้เป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพียงแต่เขาต้องย้ายไปทำงานในสถานที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เกิดความผิดพลาดเวลาเลือกอุปกรณ์และการจัดวางไมโครโฟน แอมป์ ต่าง ๆ นานา 

ความเห็นส่วนตัวก็คือ Done With Mirrors เป็นผลงานที่เหมือนงานในยุคแรกของพวกเขา ซึ่งแห้งแล้ง ปราศจากความสดใหม่ใดใดทั้งสิ้น ถ้าหากพวกเขาอยู่ในสภาพสดใหม่แบบต้นทศวรรษ 70 มันคงออกมาดี แต่นี่คือพวกเขาในสภาพย่ำแย่ และ Tad ก็บันทึกตัวตนของพวกเขาแบบตรงไปตรงมา

จำได้ว่าอัลบั้มนี้ทำยอดจำหน่ายไปหลักแสนต้น ๆ เท่านั้นเอง กว่าจะเข็นให้ถึงห้าแสนเพื่อจะได้แผ่นเสียงทองคำก็หืดขึ้นคอ อัลบั้มนี้ออกปี 1985 แต่กว่าจะได้แผ่นเสียงทองคำก็ตอนที่อัลบั้ม Get A Grip ออกแล้ว น่าจะร่วม ๆ 8 – 9 ปีเห็นจะได้ 

Permanent Vacation

John Kalodner แมวมองของ GEFFEN ผู้เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีในการดึงสมาชิกยุคแรกกลับมารวมตัวกันใหม่ ยอมรับตามตรงว่าเขาผิดหวังกับเพลงใน Done with Mirrors มาก จนรู้สึกว่านี่คือการตัดสินใจผิดพลาดเสียแล้ว เขายื่นข้อเสนอผ่านทาง Tim Collins ให้ Aerosmithยอมรับนักแต่งเพลงมืออาชีพจากภายนอกมาช่วยขัดเกลา ไม่งั้นอนาคตของวง Aerosmith ใน GEFFEN จะมีปัญหาแน่นอน

“ผมไปหาพวกเขาระหว่างการซ้อมสำหรับทำอัลบั้มใหม่ พวกเขาเล่นเพลง Dude (Look Like a Lady) ให้ผมฟัง แต่มันออกมาไม่ดีเลย” John กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องหาคนอื่นมาช่วยเขียนเพลง “ผมย้อนกลับไปหาพวกเขาอีกหลังจากผ่านไปสองอาทิตย์ มันยังไม่มีอะไรดีขึ้น นั่นล่ะ เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าพวกเขาต้องหาใครสักคนที่ช่วยปรับแต่งเพลงให้เข้าที่”

ตอนแรก เสนอให้ Jim Steinman ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Meat Loaf มาช่วยจัดการเรื่องเพลง แต่ Jim สร้างเงื่อนไขว่า Aerosmith จะต้องเดินทางไปหาเขาที่อังกฤษเท่านั้น John ก็เลยล้มเลิกความคิดนั้นไป

คนต่อมาที่ John ติดต่อก็คือ Desmond Child ซึ่งเพียงแค่เพลงแรกที่ Desmond ลองปรับปรุงใหม่คือ “Angel” ก็ทำให้ John เกิดความรู้สึกว่าเพลงจะต้องฮิตแน่ ๆ และไม่เพียงแต่John คิดคนเดียว แม้แต่สมาชิก Aerosmith และทีมบริหารก็ยอมรับว่า Desmond ช่วยได้จริงนอกเหนือจาก Desmond แล้วก็ยังมี Jim Vallence ซึ่งเป็นคนร่วมแต่งเพลงให้ Brian Adams มายาวนานร่วมงานด้วย

และที่ยิ่งไปกว่านั้น John Kalodner ก็ยังเป็น John Kalodner ที่พร้อมจะเข้าไปจัดการทุกส่วนที่เขาเห็นว่าเป็นสิ่งขัดขวางความสำเร็จ (ทางการตลาด) ของวงดนตรีที่เขาดูแล อย่างเช่น เขาเป็นคนเจรจากับ Ted Templeman ให้ดูแลการผลิตออกมาตามแบบที่เขาอยากได้ยิน แทนที่จะเป็นซาวด์ดิบ เหมือนไม่ได้ผ่านการขัดเกลาแบบ Done with Mirrors แต่การเจรจาไม่สำเร็จ เพราะ Ted ก็มีความคิดเห็นของตัวเองที่มีเอกลักษณ์พอตัว (อย่าลืมว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร็อกสตาร์หลายราย เช่น Van Halen) 

เมื่อ Ted มีความเห็นต่าง John ก็ไล่ Ted ออก และดึง Bruce Fairbairn  ซึ่งตอนนั้นกำลังมีชื่อเสียงจากการดูแลการผลิตงานชุด Slippery When Wet ของ Bon Jovi  มาทำหน้าที่แทน

แต่ช่วงนั้น ได้จังหวะพอดีกับ Rick Rubin กำลังทำงานกับแรปเปอร์ RUN-DMC ได้แนะนำให้ RUN-DMC แซมปลิงเพลง “Walk This Way” ของ Aerosmith มาใช้ ซิงเกิลนี้ให้เครดิตว่า RUN-DMC ft Aerosmith แต่คนที่ร่วมงานจริง ๆ มีแค่ Joe Perry กับ Steven Tyler สองคนเท่านั้น เพราะว่า RUN-DMC ไม่มีเงินจ่ายเงินจ้าง Aerosmith แบบครบวง ถ้าสังเกตในมิวสิกวิดีโอ ตอนที่จับภาพ Aerosmith ในห้องซ้อม จะเห็นแต่ Joe กับ Steven เท่านั้น อีกสามคนที่เห็นอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่สมาชิก Aerosmith แต่อย่างใด

ปรากฏว่า “Walk This Way” ประสบความสำเร็จมหาศาล ซึ่งส่งผลดีกับ Aerosmith เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเพลงนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากแฟนเก่าแก่จะกลับมาสนใจพวกเขา ยังได้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสความเก๋าของพวกเขาสมัยทศวรรษ 70 มาเพิ่ม

บทพิสูจน์ความสำเร็จของ Aerosmith ก็คืออัลบั้ม Permanent Vacation วางจำหน่าย 25 สิงหาคม ค.ศ. 1987 เป็นงานที่แฟนเพลงรุ่นเก่าบอกว่ามันละเมียดละไมเกินไป ไม่ดิบเท่างานชุดก่อน แต่นี่คือผลงานที่ทำให้ Aerosmith กลับมาสู่สถานะร็อกสตาร์อีกครั้ง อัลบั้มนี้มีเพลงฮิต เช่น “Dude (Looks Like a Lady)”, “Rag Doll” และ “Angel” ที่ติด top 20 หลังจากที่ไม่มีเพลงขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดมาเป็นเวลานาน

ทีมงานฝ่ายผลิตล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ทั้งสิ้น การที่ Aerosmith ยอมอ่อนข้อให้กับ John Kalodener โดยยอมใช้บริการเขียนเพลงจากมืออาชีพคือ Desmond Child กับ Jim Vallance ยอมทำงานกับ Bruce Fairbairn ซาวด์เอนจิเนียร์ในงานนี้ก็คือ Bob Rock ที่ฝากฝีมือเอาไว้ก่อนที่จะขึ้นแท่นโปรดิวเซอร์มือทองอีกคนหนึ่งของวงการฮาร์ดร็อก/เมทัล อาจจะเรียกว่าแต่ละคนกำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ของอาชีพตัวเองก็ได้

Permanent Vacation ปรับซาวด์ใหม่ ให้ออกมาร่วมสมัยแฮร์แบนด์มากขึ้น แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ละทิ้งรากฐานความเป็น Aerosmith ในอดีต อย่างเช่น “Rag Doll” ยังมาในแนวทางบลูส์ร็อก ฮูชีคูชี ตามแบบฉบับ Cab Calloway แล้ว Bruce โปรดิวเซอร์มือทองก็เพิ่มสัมผัสอัศจรรย์ด้วยเสียงเครื่องเป่าคลอเคล้าไปกับเสียงสไลด์กีตาร์ของ Joe Perry การยังคงรากเหง้าบลูส์เหนียวแน่นใน “Hangman Jury” ที่ผ่านการขัดเกลาของ Jim Vallance กลายเป็นความสดใหม่ร่วมสมัยโดยไม่ทิ้งตัวตนของ Aerosmith ไปแต่อย่างใด หรือเพลงร็อกเก๋า ๆ “St. John” ยังคงมีเอกลักษณ์ของ Aerosmith ยุค 70 ที่เข้มข้นเหมือนเดิม เพียงแค่ปรับสำเนียงให้เข้ายุคสมัยเท่านั้น

และที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็คือ ซิงเกิ้ล “Dude (Looks Like A Lady)” ที่บ่งบอกความเป็น Aerosmith โฉมใหม่ในยุค 80 เพลงนี้ Steven เขียนตอนที่เขาได้เห็น Vince Neil หรือ พลพรรค Motley Crue แล้วเกิดประโยคแรงบันดาลใจขึ้นมา สร้างสรรค์ดนตรีแนวฮาร์ดร็อกจากบอสตันและจิตวิญญาณของเมมฟิสที่มีท่อนฮุกป็อปติดหู แล้วก็มีเพลงบัลลาด “Angel” เอาไว้เรียกความสนใจจาก MTV อีก

จะว่าไป MTV ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของ Permanent Vacation สีสันของแกลมเมทัลและแฮร์แบนด์ทั้งหลายไปได้สวยบนจอโทรทัศน์ และตัวตนของ Steven Tyler ก็ไปได้ดีเวลาปรากฎตัวในมิวสิกวิดีโอ จนอาจกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในอัลบั้มนี้มีการวางแผนอย่างดีที่จะกู้ชื่อเสียงของ Aerosmith ให้ได้หลังจากล้มเหลวใน Done With Mirrorและมันก็ประสบความสำเร็จ อัลบั้ม Permanent Vacation เป็นผลงานที่ทำให้ Aerosmith กลับมายิ่งใหญ่อย่างสมศักดิ์ศรีมาก ทีมงานชุดนี่เยี่ยม และคิดมาเพื่อให้ผลงานประสบความสำเร็จ โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเองมากนัก

หลังจากนั้น Aerosmith ก็ยึดเอาสไตล์ดนตรีในอัลบั้มนี้เป็นแนวทางไว้ต่อมาอีกหลายอัลบั้มจนทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างมากจนถึงกลางทศวรรษ 90

2 thoughts on “Permanent Vacation: The Real Comeback Album of Aerosmith

Leave a Reply

Scroll to top
%d bloggers like this: