Tattooed Millionaire: เมื่อ บรูซ ดิกคินสัน อยากจะป็อป

Tattooed Millionaire เป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของ บรูซ ดิกคินสัน (Bruce Dickinson) วางจำหน่ายเมื่อปีค.ศ. 1990 จำได้ว่าฟังครั้งแรกก็อุทานในใจ พี่บรูซอยากจะป็อปขนาดนี้เลยเหรอ?

ทิ้งอัลบั้มนี้ไปร่วมทศวรรษถึงได้กลับมาหยิบอีกครั้ง พอกลับมาฟังอีกครั้งแล้วรู้สึกว่า เออ มันก็ไม่เลวร้ายอะไรนะ เริ่มกลับไปมองว่าสิ่งที่บรูซต้องการในอัลบั้มนี้ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าฉีกตัวเองให้ออกจากเงาทะมึนของเอ็ดดีปิศาจเหล็กกล้า เป็นอัลบั้มที่ทำออกมาเพราะว่าเขาอยากจะทำอะไรให้โลกรู้ว่าบรูซทำได้ หรืออะไรทำนองนั้น มันเลยออกจะไม่มีทิศทางและไม่ค่อยเข้มข้นสักเท่าไหร่

ก็คงต้องย้อนกลับไปหลังจบทัวร์ World Slavery Tour ในช่วงปีค.ศ. 1985 – 1986 การทัวร์ที่ยาวนานเป็นปี ทำให้บรูซรู้สึกเหนื่อยล้าและเขาต้องการทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป และนั่นเป็นผลให้อัลบั้มถัดมา Somewhere In Time ในปีค.ศ. 1986 ไม่มีเพลงจากฝีมือการประพันธ์ของบรูซแม้แต่เพลงเดียว

“สิ่งที่บรู๊ซคิดขึ้นมาไม่ใช่พวกเราเลย” สตีฟ แฮร์ริส (Steve Harris) มือเบสเคยให้เหตุผลที่ทำให้เขาไม่ยอมรับเพลงของบรู๊ซไปใช้ในอัลบั้ม

แต่ในอัลบั้มถัดมา Seventh Son of a Seventh Son (1988) เขามีโอกาสร่วมเขียนเพลงถึง 4 เพลง

ต่อมา บรูซ ดิกคินสัน ได้รับการติดต่อให้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Nightmare on Elm Street 5: The Dream Child (1989) เขาก็เลยเขียนเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่งชื่อ “Bring your Daughter…to the Slaughter” โดยมี ยานิก เกอรส์ (Janick Gers) อดีตมือกีตาร์ของวง กิลแลน เป็นผู้รับหน้าที่บรรเลงกีตาร์และร่วมเขียนเพลง

ปรากฏว่าคงจะเข้าขากันได้ดี จากทำเพลงเดียวเลยขยายต่อมาจนทำเพลงได้เป็นอัลบั้ม โดยมี แอนดี คารร์ (Andy Carr, มือเบส) และ ฟาบิโอ เดล ริโอ (Fabio Del Rio, มือกลอง) ค่อยช่วยทำเดโม บรูซเล่าว่าเขาใช้เวลาทำเพลงเพียงแค่ 2สัปดาห์เท่านั้น

แล้วเราจะไปหวังอะไรมากจากงานที่ดูจะไม่ได้เตรียมพร้อมเต็มที่ เหมือนทำเพราะอยากทำ แต่ถ้ามันออกมาง่ายขนาดนั้นมันน่าจะแสดงความอัดอั้นว่าอยากทำอะไรสักอย่างออกมาจริง ๆ ใช่มั้ย?

สตีฟ แฮร์ริส (Steve Harris) มือเบสและหัวหน้าวงไอเอิร์นเมเดนฟังแล้วชอบใจ จึงขอนำมาบันทึกเสียงลงในอัลบั้ม No Prayer for the Dying (1990) ของไอเอิร์นเมเดน พอไปอยู่ในอัลบั้มของไอเอิร์นเมเดนแล้วเพลงนี้ดูขลังและทรงพลังขึ้นมาอย่างประหลาด และกลายเป็นซิงเกิลของไอเอิร์นเมเดนที่ขึ้นอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักรเพลงแรกและเพลงเดียวจนถึงปัจจุบัน

Tattooed Millionaire

Tattooed Millionaire

ถ้าจะสรุปความเป็น แทตทูด์มิลเลียนแนร์ในความคิดของ FR!DAY ! AM !N ROCK ก็คงไม่พ้น “บรูซ ดิกคินสันอยากจะป็อป”

แต่ในความป็อปนั้นมันก็มีอะไรหลายอย่างมากกว่าคำว่าป็อป อัลบั้มนี้เป็นผลงานเชิงพาณิชย์ผสมผสานระหว่างฮาร์ดร็อกและเพลงป๊อปที่ฉีกไปจากภาพพจน์เมื่อผู้คนคิดถึงเขาในฐานชายผู้เป็นกระบอกเสียงให้กับไอเอิร์นเมเดนผู้ยิ่งใหญ่จากเกาะอังกฤษ

เราจะได้ฟังอีกด้านหนึ่งของ บรูซ ดิกคินสัน และการที่ออกมาพร้อมกับอะไรที่ป็อปมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าจะไร้จินตนาการหรือว่าคิดมากเกินไป

เริ่มต้นด้วย “Son of a Gun” ที่น่าจะใกล้เคียงกับไอเอิร์นเมเดนที่สุดในอัลบั้มนี้แล้ว (แต่ก็ยังห่างไกลอีกหลายปีแสง) หลังจากนั้นคือความ “ป็อป” ที่พร้อมจะเอนเอียงเข้าหาสถานีวิทยุเพลงฮิต เพลงฟังเพลินที่ฟังให้ผ่านไปแล้วแทบไม่มีอะไรน่าจดจำ ท่อนริฟฟ์กีตาร์มีหลายเพลงที่น่าสนใจ เช่น “Dive Dive Dive” เป็นสไตล์ของยานิก คือไม่ได้หวือหวาแต่ว่ามั่นคง แต่พอฟังทั้งเพลงแล้วมันขาดอะไรไปสักอย่าง…ขาดเสน่ห์ ขาดความติดหู ขาดไปเยอะเหมือนกันแฮะ

 ด้วยความที่คุ้นเคยกับบรูซ นั่นหมายถึงความแข็งแกร่งทรงพลังทั้งเสียงร้อง ท่วงทำนอง เสียงประสาน พอมาเจอเพลงฮาร์ดร็อกเช่น “Lickin’ the Gun” ที่เหมือนจะพยายามเป็นแอโรสมิธก็เลยรู้สึกแปลก ๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ว่ามันประหลาดหูในครั้งแรกที่ได้ฟัง ผ่านมาจนบัดนี้ก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แย่อะไร แค่มันไม่มีจุดมุ่งหมายปลายทางที่ชัดเจนในเชิงดนตรีว่าจะไปทางไหนดี

เช่นเดียวกับอีกหลายเพลง เช่น “Zulu Lulu” ดูเหมือนจะหาทางลงไม่เจอ กลายเป็นความน่าเบื่อที่กดข้ามในเวลาอันรวดเร็ว หลายเพลงทำท่าจะไปรอดเพราะมีเสียงร้องของบรูซ แม้แต่เพลง “Gypsy Road” ที่ดูธรรมดามากยังดูดีขึ้นมาได้เพราะเสียงร้องของบรูซ แต่มันก็เป็นแค่เพลงออกบัลลาดธรรมดา!

แต่ก็ใช่ว่าเสียงร้องของบรูซจะช่วยได้เสียทุกเพลง “All the Young Dudes” ซึ่งเป็นเพลงฮิตที่น่าจะติดหูคนฟังไม่ยาก ก็ติดหูนั่นแหละ เพราะเพลงมันติดหู แต่ความเป็นตัวตนของบรูซไม่ได้ใส่มาในบทเพลงนี้เลยแม้แต่น้อย เหมือนกับการหยิบเอาเพลงของคนอื่นมาใส่ให้อัลบั้มเต็มเท่านั้นเอง ถึงเขาจะเสียงดี แต่มาร้องแบบนี้ก็ใช่ว่าจะออกมาดี กลายเป็นเพลงธรรมดาเกินไป

ความจริงมันก็มีหลายเพลงที่สนุกอยู่เหมือนกัน “Tattooed Millionaire” เนื้อหาก็ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัวอยู่ไม่น้อย เพราะใน “Tattooed Millionaire” เขาน่าจะหมายถึงบรรดาร็อกสตาร์ยุคแกลมเมทัล/แฮร์แบนด์ที่กำลังครองเมืองในขณะนั้น (อาจจะเป็น นิกกี ซิกซ์ หรือ แอ็กเซิล โรส หรือใครอื่นก็ได้ทั้งสิ้น คือ มีรอยสัก มีเงิน มีชื่อเสียง แต่ไม่เห็นได้แสดงฝีมืออะไรให้น่านับถือแม้แต่น้อย ดังนั้นในสายตาของบรูซแล้วพวกนี้ไม่ค่อยมีราคาเท่าไหร่

You and all your entourage. To me you’re all the same.
You and all your entourage. Playing foolish games.

ค่อนข้างชอบเพลงนี้มากพอสมควร และที่ชอบอีกเพลงก็คือ “Born in 58” ก็ติดหูไม่น้อยเหมือนกัน อารมณ์เหมือนพวกแฮร์แบนด์แต่ปรับเวอร์ชันให้ออกมาโบราณหน่อย ที่ว่าโบราณเพราะเทคนิคการเล่นกีตาร์ การสร้างริฟฟ์อะไรต่าง ๆ นานายังคงเป็นแบบต้นทศวรรษ 80 สมัยนิวเวฟออฟบริติชเฮฟวีเมทัลกำลังเฟื่องฟู ไม่ใช่ริฟฟ์หวือหวาเปี่ยมเทคนิคอย่างพวกWingers, Bon Jovi หรืออื่น ๆเนื้อหาเหมือนเล่าเรื่องส่วนตัว (บรูซเกิดในปีค.ศ. 1958)

แต่นอกจากสองเพลงนี้แล้ว ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ เทียบกับอัลบั้มของไอเอิร์นเมเดนที่เขามีส่วนร่วมมาก่อน และเทียบกับอัลบั้มเดี่ยวของเขาเองที่ออกตามมาหลังออกจากวง ดูเหมือนว่าภาคดนตรีในอัลบั้มนี้ค่อนข้างบางเบา ทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าเขาอยากจะทำอะไรให้มันพ้นไปจากเงาของ ไอเอิร์นเมเดน

ฟังอัลบั้มที่สปอติไฟ
  • Released – 8 May 1990
  • Recorded – 1989
  • Studio – Battery (London)
  • Genre – Pop Metal/Hard Rock
  • Length – 43:15
  • Label – EMI

Track listing

  • “Son of a Gun” 5:55
  • “Tattooed Millionaire” 4:28
  • “Born in ’58” 3:40
  • “Hell on Wheels” 3:39
  • “Gypsy Road” 4:02
  • “Dive! Dive! Dive!” 4:41
  • “All the Young Dudes” (Mott the Hoople cover)     3:50
  • “Lickin’ the Gun” 3:17
  • Zulu Lulu” 3:28
  • No Lies” 6:17

Musicians

  • Bruce Dickinson – vocals
  • Janick Gers – guitar
  • Andy Carr – bass
  • Fabio Del Rio – drums

Production

  • Chris Tsangarides – producer, engineer
  • Nigel Green – mixing
  • Chris Marshall – assistant engineer
  • Ian Cooper – mastering at Townhouse Studios, London

Leave a Reply

Scroll to top
%d bloggers like this: