Bon Jovi: Livin’ on a Prayer


Jon Bon Jovi

“เพลงนี้สำหรับคนที่ยังยืนหยัดอยู่ สำหรับทอมมีและจีนาที่ไม่เคยท้อถอย”

— It’s my Life, Bon Jovi

“It’s My Life” เป็นบทเพลงในอัลบั้ม Crush ของ Bon Jovi ออกวางจำหน่ายเมื่อปีค.ศ. 2000 ปีผลัดเปลี่ยนสหัสวรรษ และเป็นเพลงสุดท้ายของ Bon Jovi ที่ข้าพเจ้า – FridayIamInRock ชื่นชอบ

คนที่รู้จัก Bon Jovi ผ่าน ๆ อาจจะสงสัย (หรือไม่สงสัย) ว่า Tommy กับ Gina เป็นใคร ทำไม Bon Jovi ถึงบอกว่ามอบเพลงนี้ให้ทั้งคู่ แต่ถ้าเป็นแฟนเพลง Bon Jovi ที่เติบโตมากับพวกเขาในทศวรรษ 80 ล้วนแล้วแต่รู้จัก Tommy และ Gina เพราะจะบอกว่า Bon Jovi โด่งดังเพราะ Tommy และ Gina ก็ได้

ใช่แล้ว Tommy และ Gina ก็คือตัวละครสำคัญในบทเพลง  “Livin’ on a Prayer” จากอัลบั้ม – ไถลลื่นตอนฉ่ำแฉะ – Slippery When Wet เมื่อปีค.ศ. 1986 ซึ่งเปลี่ยนวงดนตรีฮาร์ดร็อกดาด ๆ ให้ “ต๊าช” กลายเป็นซูเปอร์สตาร์สายป็อปเมทัลและมีวงดนตรีลอกเลียนแบบพวกเขานับล้านคณะ

Slippery When Wet

อัลบั้ม Slippery When Wet ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ขายได้ 12 ล้านชุดเฉพาะในสหรัฐอเมริกาแห่งเดียว อัลบั้มนี้มีเพลงฮิตหลายเพลง “You Give Love a Bad Name” “Wanted Dead or Alive” “Never Say Goodbye” และ “Living on a Prayer”

การผสมผสานความหนักแน่นของเฮฟวีเมทัลและท่วงทำนองติดหูป๊อป เป็นเหตุผลสำคัญให้อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จ ดนตรีฮาร์ดร็อกและเฮฟวีเมทัลในยุคแรก สร้างสรรค์จากเพศชายไฟแรง หยิ่งยโสอีโก้ทะลุดาก แม้ว่าจะแกลมเมทัลจะนำเสนอการแต่งหน้าตาและเสื้อผ้าหลากสีสัน แม้แต่ Bon Jovi ในช่วงสองอัลบั้มแรกก็ออกมาในเส้นทางนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอัลบั้มแรกที่กระเดียดไปทางเฮฟวีเมทัลค่อนข้างมาก ทั้งดนตรีและการแต่งกาย

แต่ตัวตนของ Jon Bon Jovi กลับชื่นชอบดนตรีร็อกแอนด์โรล ริธึมแอนด์บลูส์ หรือคลาสสิกร็อก รวมทั้งการเขียนเพลงแบบเล่าเรื่องราวของ Bob Dylan, Bruce Springsteen เพียงแต่จังหวะเวลาในช่วงที่ออกอัลบั้มแรกมันเป็นช่วงเวลาของดนตรีเฮฟวีเมทัลหรือฮาร์ดร็อกที่ออกหนักหน่วงหน่อยทำให้พวกเขาต้องไหลไปตามกระแส แต่พวกเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ไม่สามารถทำในสิ่งที่บริษัทเมอคิวรีคาดหวังเอาไว้ได้

สองอัลบั้มแรกพอจะทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักบ้าง อัลบั้ม 7800° Fahrenheit ออกมาในปีค.ศ. 1985 ก็ขายได้หลายแสนแผ่น แต่สำหรับบริษัทแผ่นเสียงเมอคิวรีประเมินว่าเมื่อเทียบกับศักยภาพของวงดนตรีคณะนี้ ที่มีนักร้องนำหน้าตาดี มีวงดนตรีแบ็กอัปที่ฝีมือพอใช้ได้ เมื่ออัดโฆษณาเต็มที่อย่างที่พวกเขาทำในสองอัลบั้มแรกน่าจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้

แต่เมื่อไม่ออกมาดังที่หวังพวกเขาจึงประชุมพูดคุยเพื่อค้นหาจุดผิดพลาด และสรุปกันออกมาว่า สิ่งที่ทำให้ Bon Jovi ไม่ดังอย่างที่ควรเพราะพวกเขายังไม่มีเพลงฮิตพอจะเจาะตลาดป็อปได้ การปล่อยให้พวกเขาทำเพลงเองต่อไป มันอาจจะโอเคในด้านตัวตนและศักยภาพที่พวกเขามี

ก็เปรียบเสมือน เอ็กเพรสโซช็อตอาจจะขายคุณภาพของเมล็ดกาแฟ แต่ถ้าเติมนมเพิ่มคาราเมลท็อปปิ้งด้วยฟองนมอีกสักนิด อาจจะถูกปากคนทั่วไปมากกว่าคุณภาพกาแฟเข้มข้นอย่างเดียว

เมื่อทีมบริหารหารือกันเรียบร้อยก็กดดันให้ Bon Jovi พึ่งพานักเขียนเพลงมืออาชีพเพื่อขัดเกลาบทเพลงให้ “ป็อป”

และคนที่พวกเขาเลือกก็คือ Desmond Child ผู้สร้างชื่อเสียงมาจากการร่วมประพันธ์เพลง “I Was Made for Lovin’ You” ของวงจูบอสุรกาย – KISS และตามมาด้วยอีกหลายเพลงในอัลบั้มคัมแบ็กสู่ความสำเร็จในทศวรรษ 80 ของวง KISS

และ Paul Stanley มือกีตาร์และนักร้องนำของ KISS เป็นคนให้เบอร์โทรศัพท์ของ Desmond กับสมาชิกวง Bon Jovi และนั่นก็เป็นการตัดสินใจที่ถูก บทเพลงที่ Desmond ร่วมเขียน ล้วนแล้วแต่กลายเป็นเพลงดัง

บทเพลงยังคงมีพลังของดนตรีร็อกพอจะดึงดูดผู้ชาย และมีเสน่ห์สำหรับดึงดูดสาว ๆ และเนื้อหาของบทเพลงที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย

Living on a Prayer

ตอนแรกที่ Jon Bon Jovi นักร้องนำของวงเขียนเอาไว้ไม่ได้เหมือนกับเพลงที่ได้ยินกันทุกวันนี้ (หาเดโมฟังได้จากแผ่นในบ็อกเซ็ตชุด 100,000,000 Bon Jovi Fans Can’t Be Wrong และเขาเคยบอกว่าไม่ชอบต้นฉบับดั้งเดิมของเพลงนี้เลย แต่โชคดีที่ Richie Sambora มือกีตาร์ของวงได้ฟังแล้วคิดว่าเพลงนี้มีศักยภาพเพียงพอจะนำกลับมาทำใหม่ และด้วยสัมผัสมหัศจรรย์จาก Desmond Child นักเขียนเพลงผู้อยู่เบื้องหลังเพลงท็อปเทนหลายเพลงเข้ามาช่วยขัดเกลาและสร้างเรื่องราวของ Tommy และ Gina ให้มีชีวิตชีวา เหมือนกับผู้คนที่พบได้ในชีวิตทั่วไป และสร้างสรรค์ความป็อปให้เพลงนี้ฟังง่าย

เปิดตัวด้วยเสียงพูดเหมือนเล่านิทาน “กาลครั้งหนึ่ง…ยังไม่ค่อยนานเท่าไหร่…”

เนื้อหาของเพลงว่าด้วยคู่รักชนชั้นแรงงาน Tommy เป็นคนทำงานระดับล่าง ๆ ในท่าเรือ ซึ่งตกงานเพราะมีการประท้วงของสหภาพแรงงาน

Tommy used to work on the docks, union's been on strike
He's down on his luck, it's tough, so tough

ต้องพึ่งพา Gina แฟนสาวซึ่งทำงานเป็นสาวเสิร์ฟในร้านอาหาร ทั้งคู่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตผ่านพ้นไปในแต่ละวันขนาดต้องเอากีตาร์ไปจำนำ

Gina works the diner all day, working for her man
She brings home her pay for love, for love

แต่ก็ยังสู้กันต่อไป ปลอบใจกันว่า เรามาถึงครึ่งทางแล้ว เราต้องทำมันได้ จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน เหมือนว่าไม่มีวันจะพรากไป…

ไม่ใช่ละ…

…น่าสงสาร แต่เป็นความจริงขื่นขมของครอบครัวปากกัดตีนถีบ

จีนาบอกว่า เราต้องยึดสิ่งที่เรามีในตอนนี้ ไม่ว่าเราจะทำได้หรือทำไม่ได้ก็เหอะ

She says: We've got to hold on to what we've got
It doesn't make a difference
If we make it or not
We've got each other and that's a lot For love - we'll give it a shot
Woah, we're halfway there
Woah-oh, livin' on a prayer
Take my hand and we'll make it, I swear
Woah-oh, livin' on a prayer

ทุกครั้งที่ฟังมาถึงตอนนี้รู้สึกเหมือนเป็นคำเสียดสีประชดประชันอย่างไรพิกลอยู่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนสมัยฟังเพลงนี้ใหม่ ๆ (ช่วงประมาณปี 1986 – 1987 กำลังวัยรุ่น) จะรู้สึกเหมือนบอกให้สู้ เราต้องมีความหวัง อย่างน้อยเราก็มีกันและกัน เพื่อความรักของเรา แต่พอมาฟังในวัยร่วงโรยแบบนี้ ได้ยินคำว่า for love แล้วรู้สึกว่ามันมีความไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ต้องทนอยู่โดยเอาคำว่ารักมาอ้าง

ใช่ บางช่วงชีวิตมันเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสสำหรับบางคน ชีวิตที่ไม่มีเงินในสังคมปัจจุบันมันอยู่ลำบาก

แต่ก็ยังมีความหวังของคนหนุ่มสาวว่าเรายังมีกันและกันและเราต้องฝ่าฟันไปจนถึงฝันให้ได้!

“Livin’ on a prayer”ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ตบิลบอร์ดฮ็อต 100 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1987 และอยู่ที่อันดับ 1 นาน 4 สัปดาห์

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ทุกวันนี้ ความเป็นมาของ Tommy และ Gina ยังสับสน บางกระแสบอกว่ามีเค้าลางมาจากชีวิตของเพื่อน Jon Bon Jovi ซึ่งเป็นนักเบสบอลชื่อดังของโรงเรียนผู้มีความฝันจะเป็นนักเบสบอลอาชีพเ แต่เมื่อทราบว่าแฟนสาวตั้งครรภ์ เขาก็ละทิ้งความฝันมาทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง

Desmond Child เล่าว่า สมัยก่อนประสบความสำเร็จในฐานะนักแต่งเพลงเขาหาเลี้ยงชีพด้วยการขับรถแท็กซี่ในนิวยอร์ก โดย Maria Vidal แฟนสาวของเขาผู้มีความฝันจะเป็นนักร้องและนักแต่งเพลง ต้องทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารชื่อ “Once Upon A Stove” และเพื่อนร่วมงานของเธอเรียกเธอว่า Gina เพราะว่าใบหน้าเธอมีความละม้าย Gina Lollobrigida นักแสดงและช่างภาพชาวอิตาลีอยู่บ้าง

เดิมที ตัวละครชายจะใช้ชื่อว่า Johnny ซึ่งเป็นชื่อจริงของทั้ง Desmond และ Jon Bon Jovi แต่ Jon ขอให้เปลี่ยนชื่อ เพราะเขาก็ชื่อ Jon จะให้ร้องเพลงถึง “John” มันก็กระไรอยู่ ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น Tommy

99 In the Shade

หลังจากนั้น Bon Jovi ยังดึง Tommy และ Gina มาใช้อีกครั้งในเพลง “99 In the Shade” จากอัลบั้ม New Jersey (1988)

"Somebody tell me even Tommy's coming down tonight if Gina says it alright".

http://youtu.be/hzRI7wDleJk

It’s My Life

และได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งใน “It’s My Life” เพลงดังอีกเพลงของ Bon Jovi ในทศวรรษถัดมา

This is for the ones who stood their ground
For Tommy and Gina who never backed down

 ตอนที่ออกอัลบั้ม Crush ใหม่ ๆ Jon เคยพูดทีเล่นทีจริงว่า ตอนนี้ Tommy และ Gina มีลูกน่ารัก 2 คนและเลี้ยงหมา…

“Livin’ On a Prayer” มีองค์ประกอบหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างแรกมันยังมีส่วนผสมของดนตรีฮาร์ดร็อกและเมทัลในท่อนริฟฟ์และภาคดนตรี รวมถึงการใช้ทอล์กบ็อกซ์สร้างริฟฟ์ติดหู โดยเล่าเรื่องแบบเดียวกับ Bob Dylan หรือ Bruce Springsteen และเป็นเรื่องราวที่เล่าเป็นเรื่องโรแมนติกจับใจคนหนุ่มสาววัยตั้งต้นทำงานลงไปจนถึงวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มแฟนเพลงของ Bon Jovi ในสมัยนั้น

ซึ่งการใช้ริฟฟ์และทอล์กบ็อกซ์นำกลับมาใช้ใน “It’s My Life” อีกครั้ง ด้วยจังหวะและเรื่องราว ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงฮิตได้ไม่ยาก

Leave a Reply

Scroll to top
%d bloggers like this: