Walk This Way
เพลง “Walk This Way” จากอัลบั้ม Toy in The Attic (1975) บทเพลงสร้างชื่อให้กับAerosmith ในกลางทศวรรษ 70 และช่วยดึงพวกเขาจากความตกต่ำในทศวรรษ 80
Walk This Way
Joe Perry เล่าความเป็นมาของเพลงนี้เอาไว้หลายครั้งหลายหน สรุปได้ว่า วันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1974 ระหว่างที่ Aerosmith กำลังเตรียมตัวเพื่อแสดงคอนเสิร์ตที่โฮโนลูลู ฮาวาย และมีการซาวด์เช็กตามปกติ ซึ่งมักจะเล่นเพลงฟังก์ของ James Brown ก็มีเพลงของวงThe Meters เข้ามาในหัวของ Joe ว่าเขาน่าจะลองเล่นริฟฟ์เพลงที่ “น้อย” และ “มีจังหวะจะโคน” อย่างเช่นเพลง The Meters นี้บ้าง เขาจึงขอให้ Joey Kramer มือกลองคิดบีตกลองเรียบ ๆ และเขาก็สอดแทรกริฟฟ์ที่คิดไว้จนได้เป็นเค้าโครงคร่าว ๆ
แต่ส่วนกลองในเพลงนี้ ยังมีการแย่งเครดิตกันระหว่าง Steven Tyler และ Joey Kramer ต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าเป็นคนคิดท่อนกลองนี้ Steven อ้างว่า เขาได้ยินเสียงกีตาร์ของ Joe ตอนซาวด์เซ็กบนเวที ก็เลยออกจากห้องแต่งตัวมาตีกลอง ส่วน Joey ก็ยืนยันว่าเสียงกลองในเพลงนี้เขาคิดเองทั้งหมด
หลังจากนั้น Aerosmith กลับมายังนิวยอร์กและบันทึกเสียงกันที่ Record Plant Studio ระหว่างบันทึกเสียง ก็มีเวลาพักผ่อนดูหนังฟังเพลงกันตามอัธยาศัย และเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรี่อง Young Frankenstein (กำกับโดย Mel Brooks) ซึ่งมีประโยคหนึ่งในภาพยนตร์ที่ตัวแสดงนำของเรื่องพูดว่า “Walk This Way” สมาชิกวงเห็นตรงกันว่าประโยคนี้มันติดหู เลยบอกให้ Steven Tyler เขียนเพลงโดยเอาประโยคนี้เป็นที่ตั้ง
และด้วยความทะลึ่งตึงตังของ Steven เนื้อเพลงจึงออกมาสองแง่สามง่าม บวกกับสไตล์การร้องที่มีจังหวะจะโคนสมกับเป็นอดีตมือกลอง การสร้างท่อนร้องกึ่งแร็ป เป็นฟังกีป็อปของ Steven ออกมาติดหูคนฟัง เนื้อหาของเพลงเป็นเรื่องของเด็กหนุ่มมัธยมเสียความบริสุทธิให้หญิงสาว
แต่ในเวลาที่ Steven เขียนเพลงนั้น เขาอายุใกล้ 30 ที่ใช้ชีวิตอยู่กับเด็กสาววัยมัธยมปลาย
ความพยายามที่ล้มเหลว
ตั้งแต่ Joe Perry ลาออกจากวง Aerosmith ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1979 (แต่ในหนังสืออัตชีวประวัติของ Steven Tyler บอกว่าเขาเป็นคนไล่ Joe ออกจากวง) สถานภาพของ Aerosmith ก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสความนิยมดนตรีเปลี่ยนไป แต่เหตุผลส่วนใหญ่มาจากสมาชิกวงเกิดติดเหล้าติดยาอย่างหนัก โดยเฉพาะ Steven Tyler นักร้องนำของวงที่ติดยางอมแงมจนถึงขั้นหมดสติบนเวที จนถึงที่สุด Brad Whitford ก็ลาออกจากวงไปอีกคนขณะเริ่มบันทึกเสียงอัลบั้ม Rock in a Hard Place
แต่หลังจากที่แตกแยกกันไปคนละทางสองทางแล้วไม่มีใครประสบความสำเร็จสักคน
รวมกันเราอยู่ แยกกันอดตาย!
Tim Collins (ทิม คอลลินส์) ผู้จัดการส่วนตัวของ Joe Perry มองเห็นอนาคตลูกค้าตัวเองแล้วว่า ถ้าJoe ยังฉายเดี่ยว (แม้จะได้ Brad มาร่วมวงด้วย) ท่าทางจะดิ่งเหว เขาเริ่มเสนอความคิดให้ Joe ลองทบทวนวางความบาดหมางในอดีต ผลักดันให้ปรับปรุงตัวเสียใหม่ห่างไกลยาเสพติด และหาทางนัดหมายให้ Joe ได้พบ Steven Tyler เพื่อนเก่าเพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะกลับมารวมตัวกันใหม่
ระหว่างนั้น Tim ก็ติดต่อ Brad ช่วยเป็นตัวกลางระหว่าง Joe กับ Steven และจัดแจงจน Brad และ Joe ไปดูการแสดงสดของ Aerosmith ที่ออเฟียมเธียเตอร์ในบอสตัน ค่ำคืนวันวาเลนไทน์ปีค.ศ. 1984 และได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนเก่าหลังเวทีคอนเสิร์ต นำไปสู่การนัดหมายพูดคุยเรื่องการกลับมาร่วมวงกันใหม่ที่บ้านของ Tom Hamilton
เวลานั้น Aerosmith ทั้ง 5 คนเต็มใจจะกลับมารวมตัวกัน ติดขัดตรงที่ใครเป็นผู้จัดการวง ระหว่าง David Krebs ที่ยังมีสัญญาอยู่กับ Aerosmith แต่ Joe อยากให้ Tim ผู้จัดการของเขาเป็นผู้จัดการวงเพราะมีปัญหากับ David เป็นการส่วนตัว
David ก็รู้ตัวว่ากำลังจะโดนเขี่ยออกจากวง เขาแก้เกมด้วยการเร่งให้ Aerosmith เข้าสตูดิโอเพื่อทำอัลบั้มใหม่ต่อไปโดยใช้ไลน์อัปที่มี Jimmy Crespo กับ Rick Dufay เป็นมือกีตาร์ แต่ Steven อยากทำงานกับเพื่อนเก่ามากกว่า เลยแกล้งบอกว่ายังเขียนเนื้อเพลงไม่เสร็จ แต่อีกด้านก็มีการเจรจากับหลายฝ่ายเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
ในที่สุด Aerosmith ยุคคลาสสิกไลน์อัปก็กลับมารวมตัวกันจนได้ พร้อมเขี่ย David Krebs ออกจากวง ตั้ง Tim Collins เป็นผู้จัดการซึ่งทำให้ได้เซ็นสัญญากับ GEFFEN แน่นอนว่า David ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกค่าเสียหายจากวงเป็นตัวเลขไม่น้อย

แต่ถึงแม้ว่าจะกลับมารวมตัวกัน สถานการณ์ของ Aerosmithไม่ใช่ว่าจะดีขึ้น ทัวร์ Back in The Saddle ประสบความสำเร็จด้วยดี เมื่อเทียบกับการออกทัวร์ในช่วงหลายปีก่อนหน้า แต่ก็เทียบกับสมัยที่พวกเขารุ่งเรืองไม่ได้ อัลบั้ม Done With Mirrors อาจจะได้มีคำชื่นชมอยู่บ้าง แต่ยอดจำหน่ายก็ไม่ใช่ว่าดี ปัญหาเรื่องยาเสพติดโดยเฉพาะตัว Steven Tyler ยังคงเป็นปัญหาหนักที่ Tim แก้ไม่ตก แต่ก็พยายามผลักดันบีบบังคับให้ Steven ทำความสะอาดตัวเองเสียที
RUN-DMC
แต่โอกาสกลับมาอยู่ข้าง Aerosmith อย่างไม่คาดคิด เมื่อ Rick Rubin กำลังดูแลการผลิตอัลบั้ม Raising Hell ของ RUN-DMC ได้พูดคุย Sue Cummings บรรณาธิการนิตยสารSpin แล้วได้ไอเดียว่าน่าจะเอา “Walk This Way” ของ Aerosmith มาให้ RUN-DMC ทำใหม่
ในเวลานั้น RUN-DMC ออกอัลบั้มมาแล้ว 2 ชุด ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นและเป็นเสมือนต้นแบบผู้บุกเบิกดนตรีแร็ปและฮิปฮ็อปในทศวรรษ 80 แต่แวดวงฮิปฮ็อปแร็ปยังคงเป็นแวดวงจำกัดในกลุ่มเฉพาะ Rick รู้ดีว่า บทเพลงของ RUN-DMC มักจะโดนหมางเมินจากสถานีวิทยุป็อปหรือที่เป็นกระแสหลักอยู่เสมอ เขาต้องการอะไรสักอย่างที่จะเชื่อมต่อโลกของ RUN-DMC กับโลกดนตรีป็อปกระแสหลัก

ตอนนั้น Rick อายุเพียง 22 ปีเท่านั้น เขาพร้อมที่จะลองอะไรใหม่เสมอ (อย่างเช่นที่ลองสนับสนุน Beastie Boys ใช้บีตของ AC/DC มาใช้ในเพลง) เมื่อเขาเสนอไอเดียให้ RUN-DMC นั้น เขารู้ดีว่าแฟนเพลงของ RUN-DMC คงไม่รู้ว่า Aerosmith เป็นใคร และในขณะเดียวกัน แฟนเพลง Aerosmith ก็คงไม่รู้จัก RUN-DMC เหมือนกัน
มันคือการจับคู่ระหว่างดนตรีจากสองฝั่ง และคนสองวัย ซึ่งสมาชิกวง RUN-DMC เองก็ไม่มั่นใจในตอนแรกว่าจะไปได้ดีหรือไม่
“ผมกับ RUN ตอบไปว่า ‘คุณกำลังเอาเพลงร็อกแร็ปนี้ไปไกลเกินไป – คุณจะทำลายพวกเรา มันจะดูเป็นของปลอม ไม่มีใครในแวดวงฮิปฮอปจะชอบมัน’…” DMC เล่าถึงปฏิกิริยาแรกของพวกเขาเมื่อ Rick Rubin แนะนำให้เอา “Walk This Way” มาทำใหม่ “… แต่เขาเกลี้ยกล่อมให้ผมกับเจย์นั่งลงและฟังเนื้อเพลง เราเลยวางเข็มลงบนแผ่นเสียง เมื่อ Steven Tyler เริ่มเปิดปากของเขา เราก็ได้โวยวายไปทางโทรศัพท์ว่า “พวกบ้าเอ๊ย พวกเราจะต้องป่นปี้แน่!” เรามีข้อถกเถียงกันเยอะมากสำหรับเพลงนี้”
สำหรับ RUN-DMC รู้จัก “Walk This Way” มานาน เพราะเป็นเพลงที่จังหวะดีมาก Steven ก็ร้องราวกับแร็ปอยู่แล้ว Jam Master Jay เองก็เคยเอาบีตของเพลงนี้มาเล่น RUN บอกว่า สมัยเด็ก ๆ เขามักจะตัดเอาท่อนดนตรีจากเพลงดัง ๆ มาร้องแร็ป และเพลงนี้ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่เขาเคยทำแบบนั้นมาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมต้น
ก่อนหน้านั้น Grandmaster Flash เคยนำบีตของ “Walk This Way” มาใช้แล้วตั้งแต่ปีค.ศ. 1978 ก่อนที่ RUN-DMC จะตั้งวงเสียด้วยซ้ำ (ตั้งวงเมื่อปีค.ศ. 1981)

Walk This Way – RUN-DMC
Raising Hell วางจำหน่ายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1986 และปล่อย “Walk This Way” ในเดือนกรกฎาคมและขึ้นไปถึงอันดับ 4 ในชาร์ตบิลบอร์ดฮอต 100 ช่วยดึงยอดจำหน่าย Raising Hell ไปถึงหลักล้านแผ่น และ RUN-DMC กลายเป็นวงดนตรีแร็ปคณะแรกที่ได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร Rolling Stones
ไม่เพียงแต่จะเป็นเพลงฮิตของ RUN-DMC ยังเป็นการดึง Aerosmith ให้กลับมาสู่ความนิยมอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นการผสมผสานระหว่างแร็ปกับฮาร์ดร็อกชัดเจนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ดนตรี
เมื่อ Tim Collins ได้รับการติดต่อจาก Rick Rubin ครั้งแรก เขารู้สึกลังเลและสับสน เพราะคำแรกที่เขาถามหลังจากฟังข้อเสนอจาก Rick ก็คือ “แร็ปมันคืออะไร?” เขายังลังเลว่าจะให้ Aerosmith ไปร่วมงานด้วยดีหรือไม่ เพราะมีโอกาสจะออกมายอดเยี่ยมและเละเทะพอกัน
แต่ Steven Tyler เปิดกว้างกับดนตรีของคนผิวดำมาตั้งแต่ตั้งวง Aerosmith อยู่แล้ว เลยตกลงเต็มใจร่วมงานกับ RUN-DMC ส่วน Joe กลับคิดหนักเพราะเขาไม่รู้ว่าดนตรีจะออกมาอย่างไร
คนที่ช่วย Joe ตัดสินใจคือ Arron ลูกเลี้ยงของ Joe ที่ฟังดนตรีแร็ปและฮิปฮ็อปตามประสาเด็กวัยรุ่นยุคนั้นอยู่แล้ว เมื่อรู้ว่า Joe มีโอกาสจะได้ร่วมงานกับ RUN-DMC เขาจึงตื่นเต้นมากเป็นพิเศษและสนับสนุนเต็มที่ เล่ากันว่า Arron ถึงขั้นเต้นเบรกแดนซ์โชว์ Joe จึงเริ่มฟังเพลงฮิปฮ็อปบ้าง
แต่สุดท้ายก็มีเพียงแค่ Joe กับ Steven เพียงสองคนที่ไปร่วมงานกับ RUN-DMC ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าสมาชิกอีก 3 คนที่เหลือต่อต้านแนวคิดนี้ แต่เป็นเพราะงบประมาณที่ RUN-DMC เตรียมไว้จ่ายให้ฝั่ง Aerosmith มีน้อยเกินกว่าจะจ่ายให้สมาชิกครบวงไหว ด้วยงบประมาณ 8,000 ดอลลาร์สำหรับการทำงานในสตูดิโอ 1 วัน ทาง Aerosmith จึงส่งแค่ Steven กับ Joe เพียงสองคนเท่านั้น
ถึงวันบันทึกเสียงจริง Russell Simmons ผู้จัดการวง RUN-DMC นินทา Steven และ Joe ว่า “ผมจำอะไรเกี่ยวกับวันที่ Aerosmith มาร่วมบันทึกเสียงน่ะเหรอ พวกเขาเข้าห้องน้ำบ่อย สูดโคเคนมากเชียว” ส่วน DMC ถึงกับบอกว่า “มันเป็นวันที่แย่ที่สุดในชีวิตผมเลยล่ะ ผมเพิ่งมีบัตรเครดิตใบแรก RUN ยังไม่มีบัตรเครดิตใช้เลยตอนนั้น แล้วสุดสัปดาห์นั้นรถของ RUN ข้าอู่ ผมเป็นคนไปสนามบินแล้วเช่ารถให้พวกเขาใช้เพราะว่า RUN กับ Jay เมากัญชากันหมด Joe มาบ้านผมแล้วดันทิ้งกุญแจไว้ในรถ แล้วรถคันนั้นก็โดนขโมย”
ส่วน Joe Perry ตัวต้นเหตุได้แต่ปลอบ DMC ว่า เดี๋ยวประกันก็จ่ายเองแหละ อย่าไปคิดมาก!!! และเขาเล่าว่า ตอนที่เดินเข้าสตูดิโอนั้น เพลงมันมีแต่แทร็กกลองง่าย ๆ เท่านั้นไม่มีอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ DMC เล่าว่า
“เราเข้าสตูดิโอ แล้วก็วางเพลงไว้แบบง่อย ๆ เพราะว่าเราไม่อยากทำเพลงนี้ แล้วเราก็ออกมาเลย 8 ชั่วโมงต่อมาเขาโทรศัพท์มาตามให้เรากลับเข้าห้องบันทึกเสียง เราเดินเข้ามาตอน Joe Perry กำลังเล่นท่อนริฟฟ์ของเขาอยู่ ส่วน Steven Tyler อยู่ในบูธร้องเพลง กำลังจัดการเนื้อร้อง ผมกับ RUN รู้ตัวทันทีว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง Jay บอกว่า ‘โย่ อย่างไปคิดว่านี่คือเพลงของ Steven Tyler กับ Joe Perry ให้คิดว่าเนื้อเพลงนี้มันคือเนื้อเพลงของ RUN-DMC’ และก็ดีที่ Steven บอกว่า ‘บอกมาเลยว่าจะให้ผมทำอะไร’”
และ DMC ยังเล่าต่อว่า ในขณะที่ Steven ดูเป็นมิตรและกระตือรือร้นในการร่วมงาน Joe กลับไม่พูดอะไรสักคำ แค่เข้าไปเล่นกีตาร์ แล้วก็เล่นเบส แล้วก็นั่งเงียบ ๆ ไม่สนใจอะไรมาก
One thought on “Walk This Way”