Celtic Frost

เมื่อวันก่อน ฟังเพลงในสตรีมมิงแล้วเพลงของเคลติกฟรอสต์ (Celtic Frost) ก็ดังขึ้นมา ก็นึกในใจ (เหมือนเกือบทุกครั้ง) ว่า เอ๊ะ ไม่ได้ฟังนานแล้วแฮะ ก็เลยไปเปิดยูทูปหามิวสิกวิดีโอของเคลติกฟรอสต์ดู ก็ได้พบกับเพลงจากอัลบั้ม ทะเลสาบยะเยือก – Cold Lake

อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกของเคลติกฟรอสต์ที่ได้ฟัง ก็เลยไม่มีอคติในแง่ลบกับอัลบั้มชุดนี้แต่อย่างใด ในขณะที่แฟนเพลงของวงล้วนแล้วแต่หมางเมินผลงานชุดนี้ แม้แต่ ทอม วอริเออร์ ผู้นำของวงยังเอ่ยปากว่าเป็นความพลาดพลั้งในอดีต

แต่นั่นมันก็เป็นอดีตที่เกิดขึ้นแล้วและไม่มีทางแก้ไขได้ แต่สามารถระงับการเผยแพร่ได้ ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงไม่มผลงานชุดนี้ ไม่มีการผลิตอัลบั้มนี้ออกมาใหม่ และนั่นทำให้ผลงานชุดนี้เป็นงานหายากแบบสุดสุดของวงไปแล้วในปัจจุบัน

ทอม วอริเออร์ หรือ โธมัส เกเบลียล ฟิชเชอร์ (Thomas Gabriel Fischer – Tom G Warrior) คือผู้นำและมันสมองของวงเคลติกฟรอสต์ วงดนตรีที่ได้รับการเอ่ยอ้างยกย่องว่าเป็นวงดนตรีสำคัญต่อวงการเมทัล เป็นรองเพียงแค่แบล็กซับบาธเท่านั้น

อาจจะดูเป็นเยินยอเกินเหตุ แต่ดนตรีสายเอ็กซ์ทรีมเมทัล ตั้งแต่แธรชเมทัล สปีดเมทัล แบล็กเมทัล เดธเมทัล ดูมเมทัล กอธิกเมทัล และแนวอาวองต์การ์ดทั้งหลายล้วนแล้วแต่รับอิทธพลจากเคลติกฟรอสต์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผ่านมาร่วมสี่ทศวรรษ บทเพลงของ เฮลแฮมเมอร์ / เคลติกฟรอสต์ กลายเป็นคัลต์คลาสสิกที่ชาวเมทัลเทิดทูนบูชา วงดังเช่น แอนแทร็กซ์ ออบิทัวรี ดาร์กโธรน และบรรดาแบล็กเมทัลจากยุโรป หรือแม้แต่เนอร์วานา ล้วนแล้วแต่ชื่นชอบในสิ่งที่เขาได้สร้างสรรค์ไว้

Hellhammer

ทอมเป็นชาวสวิส หัดเล่นกีตาร์ช่วงอยู่มัธยม เคยทำวง เกรฟฮิลล์ (Grave Hill) มาก่อน และเริ่มสนใจกลุ่มนิวเวฟออฟบริติชเฮฟวีเมทัลเต็มตัว โดยเฉพาะวีนอม (Venom) มอเตอร์เฮด (Motorhead) การที่เขาได้รู้จัก เอิส สเปรนเจอร์ (Urs Sprenger) ทำให้เขามีลู่ทางทำสิ่งที่เขาหลงใหลคลั่งไคล้

เอิสเป็นมือเบสที่ชอบพังก์/ฮาร์ดคอร์พังก์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เขาเปิดโลกพังก์รุนแรงหนักกะโหลกอย่างเช่น ดิสชาร์จ (Discharge) ให้ทอมได้รู้จัก ทำให้ทอมสนใจมากเพราะชอบดนตรีหนักกะโหลกอยู่แล้ว ทั้งคู่จับมือกันตั้งวง เฮลแฮมเมอร์ (Hellhammer) ช่วงต้นปีค.ศ. 1981 โดย ทอมยอมรับตรงไปตรงมาว่าในตอนนั้นพวกเขาไร้ทักษะทางดนตรีโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถบรรเลงดนตรีที่มีความซับซ้อนได้มากนัก ดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์จึงเป็นทางเลือกที่เขาคิดว่าพอจะทำได้ในช่วงตั้งไข่กับเฮลแฮมเมอร์

 เขาเคยย้อนความหลังให้นิตยสารโรลลิงสโตนฟังว่า ตอนที่ตั้งวงเฮลแฮมเมอร์ ไม่ได้ตั้งใจจะทำจริงจังนัก กะว่าเอาสนุกสนานและใช้เป็นเครื่องมือกำจัดความเครียดจากชีวิตอันแสนเลวร้ายของเขาในช่วงนั้นมากกว่า

 การเข้าสู่ดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ดนตรีเมทัลหนักกะโหลก ทอมบอกว่าถึงเขาจะชอบดิสชาร์จหรือแอนตีโนแวร์ลีก แต่เขาก็ไม่ได้เป็นพังก์เหมือนเอิส ความชอบของเขาคือดนตรีหนักหน่วง โดยไม่เน้นความเร็ว เขาให้สัมภาษณ์นิตยสารเมทัลแฮมเมอร์เมื่อปีค.ศ. 2007 ว่า เขาฟัง อินลีกวิธซาตาน (In League With Satan) ซึ่งเป็นแผ่น 45 รอบต่อนาที โดยใช้ความเร็วในการหมุนแผ่นเสียงที่ 33 รอบต่อนาที ทำให้ได้ฟังเพลงที่หนักหน่วงกว่าปกติ และเขาอยากทำวงที่ออกมาหนักหน่วงแบบนั้น

ตอนแรกตั้งวง ทอมขนานนามตัวเองว่า ซาตานิกสลอจเตอร์ (Satanic Slaughter) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ทอม วอริเออร์ (Tom Warrior) ส่วนเอิสเล่นเบส ใช้นามแฝงว่า ซาเวจดาเมจ (Savage Damage) ต่อมาเปลี่ยนเป็น สตีฟ วอริเออร์ (Steve Warrior) และมีสมัครพรรคพวกที่สนใจดนตรีใกล้เคียงกันคือ และ พีต สเตรตตัน (Pete Stratton) มือกลอง

หลังจากทำงานร่วมกันได้ปีกว่า พีตก็โบกมือลา พวกเขาได้มือกลองคนใหม่ จอร์ก นูบาร์ต (Jörg Neubart) ซึ่งตอนแรกใช้นามแฝง บลัดฮันเตอร์ (Blood Hunter) ต่อมาเปลี่ยนเป็นบรูซ เดย์ (Bruce Day) ในช่วงปีค.ศ. 1982 สมาชิกยุคนี้ได้บันทึกเสียงเดโมเทปไว้ด้วยในชื่อชัยชนะของความตาย – Triumph of Death ซึ่งทอมกล่าวภายหลังว่าเขารู้สึกไม่ค่อยพอใจกับซาวด์ในเดโมเทปชุดนั้นแต่ก็จำใจปล่อยออกมาเพราะมันคือทุกสิ่งที่เขาทำได้ในขณะนั้นแล้ว

นิตยสารดนตรีหนักกะโหลกหลายฉบับที่ได้รับเดโมเทปชุดนี้เขียนถึงในทางลบ เพราะไม่เข้าใจทิศทางที่พวกเขานำเสนอ ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะมีดนตรีที่ค่อนข้างหนักเกิดขึ้นมากแล้วในกลุ่มนิวเวฟออฟบริติชเฮฟวีเมทัล แต่สิ่งที่เฮลแฮมเมอร์ทำก็เป็นอีกทิศทางหนึ่ง อย่างเช่น นิตยสารเมทัลฟอร์ซ กล่าวถึงเดโมเทปชุดนี้ว่า เป็น “เดธเมทัล” ที่คุณอาจจะต้อง “เดธ” ก่อนถึงจะชื่นชมมันได้ และเปรียบเทียบเสียงร้องของทอมว่า “คล้ายกับเสียงของเลมมี (แห่งมอเตอร์เฮด) ที่มีหูดอัดอยู่เต็มปาก”

ไม่มีบริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่สนใจเพราะพวกเขารุนแรงก้าวร้าวเกินระดับเมนสตรีมในช่วงนั้น จนกระทั่งบริษัทนอยซ์ ซึ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ จากเยอรมันที่สนใจดนตรีเมทัลใต้ดินนำแผ่นเดโมของเขามาจำหน่าย

แต่ถึงกระนั้น เฮลแฮมเมอร์ แทบไม่มีฐานแฟนเพลงในสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิดตัวเองเลย การแสดงสดของพวกเขามีเพียงเปิดห้องซ้อมแล้วก็เรียกเพื่อนฝูงคนรู้จักให้เข้ามาฟังกันเท่านั้น พวกเขาได้เขียนเพลง ทำเดโมเทปเอาไว้หลายเพลง ซึ่งเพลงที่บันทึกเสียงในช่วงเดียวกับเดโม ไทรอัมฟ์ออฟเดธ ต่อมาได้เอามารวมในเดโม เดธเฟน (Death Fiend)

ต่อมา สตีฟ วอริเออร์ ลาออก มาร์ติน อิริก อีน (Martin Eric Ain) มือเบสจากวงชิโซ ก็เข้ามาร่วมวงโดยใช้ชื่อแฝงว่า สเลด์เนโครส์ (Slayed Necros) และกลายเป็นคู่หูของทอมในการเขียนเพลงในเวลาต่อมา มีเดโมเทป ซาตานิกไรตส์ (Satanic Rites, 1983) และ ออกอีพี อะโพคาลิปติกเรดส์ (Apocalyptic Raids, 1984) 

แล้วทั้งคู่ตัดสินใจ “เกิดใหม่” โดยยุบวงเฮลแฮมเมอร์ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 และตั้งวงใหม่ เคลติกฟรอสต์ (Celtic Frost) ในวันที่ 1 มิถุนายน โดยมีสมาชิกหลักเพียง 2 คนเท่านั้น เหตุผลการเปลี่ยนชื่อวงเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนขึ้นว่าพวกเขาจะเปลี่ยนไปเล่นกับความหม่นหมอง หนักหน่วง สไตล์ดาร์กเวฟผสมเดธเมทัลและดนตรีคลาสิคัล

Celtic Frost

ในช่วงนั้นแธรชเมทัลเพิ่งโผล่หน้าเข้ามาในกระแสหลักแบบเจือจาง เมทัลลิกาพอจะประสบความสำเร็จในอเมริกาบ้าง สเลเยอร์กำลังมองหาแนวทางของตัวเองยังไม่เข้าที่มากนัก ทอมและมาร์ตินตั้งเป้าหมายทางดนตรีไว้แน่วแน่ พวกเขาได้ สตีเฟน พรีสต์ลี (Stephen Priestly) มาเป็นมือกลอง และทำอีพี มอร์บิดเทลส์ (Morbid Tales, 1984) ตามมาด้วยอีพีชุดเอมเพอเรอส์รีเทิร์น (Emperor’s Return,1984) 

ทอมให้สัมภาษณ์นิตยสารเมทัลแฮมเมอร์ในปีค.ศ. 2017 เกี่ยวกับอัลบั้มในช่วงนั้นว่า

“ผมกับมาร์ตินตั้งวง เคลติกฟรอสต์ ในคืนวันที่ 31 พฤษภาคม ต่อเช้าวันที่ 1 มิถุนายน ในปีค.ศ. 1984 เราพูดคุยกันถึงการทำงานในวงว่าจะให้วงใหม่ของเราดำเนินไปทางใด เรารักความรุนแรงของ เฮลแฮมเมอร์ และเราอยากจะเก็บแบบนั้นไว้ แต่เราอยากเพิ่มความซับซ้อนให้มากขึ้น เราอยากให้วงปราศจากข้อจำกัดทางดนตรีและทางศิลปะ เราไม่อยากโดนผูกมัดด้วยลักษณะเฉพาะยุคสมัยหรือกระแสอย่างใดอย่างหนึ่ง

ปัจจัยที่สำคัญคือ ในช่วงนั้นดนตรีเมทัลจากอเมริกากำลังได้รับความนิยมในยุโรป และวงจากอเมริกาเล่นได้ซับซ้อนมากกว่า เราคิดว่าเราคงไปเทียบตรงนั้นไม่ได้ แต่เรารู้ว่าเราต้องทำ ( อีพี มอร์บิดเทลส์) ให้เสร็จ และเรารู้ว่าเราจะต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาลเพื่อยกระดับ มอร์บิดเทลส์ ในด้านทักษะการเล่นให้มากกว่าสมัยเป็นวงเฮลแฮมเมอร์ นั่นคือส่วนผสมสำคัญ ถ้าคุณต้องการเข้าใจว่าทำไมสำเนียงเสียงต่าง ๆ ใน มอร์บิดเทลส์ ถึงต่างไปจากอีพีของเฮลแฮมเมอร์ที่บันทึกเสียงก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน เราอยากให้วงของเราพัฒนาขึ้นไปในแต่ละอัลบั้ม เราทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราโดนสื่อมวลชนเย้ยหยัน และอัลบั้มที่เกิดด้วยสถานการณ์แบบนี้คืออัลบั้มที่ผ่านมาแล้วถึง 30 กว่าปีก็ยังมีคนฟังอยู่ มันคือเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของเด็กสองคนที่โดนขับไล่ไสส่งจากสวิตเซอร์แลนด์” 

ผลงาน

อัลบั้ม มอร์บิดเทลส์ (Morbid Tales, 1984) เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของ “เสียง” ที่ทอม-หรือ-เคลติกฟรอสต์ได้สร้างขึ้น แต่อัลบั้มถัดมา ทูเมกาธีเรียน (To Mega Therion, 1985) คือผลงานสร้างสรรค์ที่แปลกประหลาดและล้ำหน้าเกินกว่าใครในสมัยนั้น แม้ว่าอัลบั้มชุดนี้ไม่มีมาร์ตินมือเบสของวงที่ออกจากวงไปก่อนบันทึกเสียง ต้องให้ โดมินิก สไตเนอร์ (Dominic Steiner) มาเล่นเบสในห้องบันทึกเสียง และ รี้ด เซนต์ มาร์ก (Reed St. Mark) ตีกลอง 

 “มันเป็นอัลบั้มที่ทำงานยากมาก เพราะช่วงนั้นมาร์ตินมีปัญหาชีวิตส่วนตัว” ทอมเล่า “มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หนักหนาสาหัสจนถึงขั้นเกือบจะทำงานร่วมกับเขาไม่ได้ ผมคิดวิธีแก้ไขปัญหาในช่วงนั้นไม่ได้ เลย ต้องตัดสินใจที่กลายเป็นหายนะ ผมต้องทำอัลบั้มนั้นเพียงลำพัง ผมต้องอยู่ในสตูดิโอเพราะเป็นสมาชิกหลักเพียงคนเดียวของเคลติกฟรอสต์ ในช่วงเวลานั้นผมไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะรับมือด้านการผลิตอัลบั้มได้เพียงลำพัง ทั้งความคิดและอารมณ์ของผมในตอนนั้นตึงเครียดไปหมด ผมเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ตัวผมยังไม่พร้อมที่จะเอาชนะ แต่ผมต้องทำ โชคดีที่หลังจากบันทึกเสียงเสร็จ ผมกลับไปซูริกและได้คุยกับมาร์ติน เราสามคนหาทางกลับมาทำงานด้วยกันได้อีกครั้ง ทูเมกาธีเรียนเป็นบทพิสูจน์ว่าเราต้องการเขาในฐานะสมาชิกวง และโชคดีที่เราจัดการจนกลับมาทำงานด้วยกันได้ การทำอัลบั้มนั้นเหมือนกันต่อสู้ครั้งใหญ่เลยทีเดียว” 

ถัดจากนั้นก็คืออัลบั้ม อินทูเดอะแพนเดมอนเนียม (Into The Pandemonium, 1987) ทอมเล่าว่า

“อินทูเดอะแพนเดมอนเนียน เป็นสุดยอดของความคิดสร้างสรรค์ของวงเคลติกฟรอสต์นับจนถึงอัลบั้มโมโนเทียส หลังจากที่เราทำงานอย่างบ้าคลั่ง ในที่สุดเราก็บรรลุด้านดนตรีที่เราสามารถทำทุกอย่างที่อยู่ในหัวให้เป็นจริงได้ มาร์ตินกับผมได้สร้างเคลคิกฟรอสต์จากอิทธิพล (ทางดนตรี) ที่หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น เขาจมอยู่กับนิวเวฟซึ่งกำลังเป็นกระแสในตอนนั้น บาวเฮาส์ จอยดิวิชันและซูซีแอนด์เดอะแบนชีส์ ผมก็ชอบนิวเวฟ แต่ผมยังมีพื้นฐานมาจากพวกแจ๊สและคลาสิคัล ผมชอบดนตรีจากยุค 70 เช่น อีเมอร์สันเลกแอนด์พาลเมอร์ งานของร็อกซีมิวสิกในยุคแรก 

ใน อินทูเดอะแพนเดมอนเนียม นี้เรารู้สึกสบายมากในฐานะนักดนตรีที่ไม่ต้องพยายามแสดงอิทธิพลของดนตรีที่เราได้รับมาอย่างในอัลบั้มก่อนหน้า เราแค่เติมเต็มมันด้วยการเขียนเพลง และแน่นอน เราได้ทำงานหนักเกินขีดจำกัดของเราไปและเราก็ผ่านมันมาได้ ผมดีใจมากที่เราทำได้ ใครก็ตามสามารถคิดถึงอัลบั้มนี้ในแบบที่พวกเขาต้องการ และผมรู้ว่ามันมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับอัลบั้มนี้มากพอดู แต่ในด้านความคิดสร้างสรรค์แล้ว มันคือจุดสูงสุดของเคลติกฟรอสต์จนกระทั่ง 20 ปีต่อมา”

ทอมเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารเดซิเบลในปีค.ศ. 2017 และอีกหลายครั้งในสื่ออื่นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญของเคลติกฟรอสต์ในช่วงนั้นมาจากการที่วงมีความเห็นไม่ตรงกับบริษัทนอยซ์ ทั้งเรื่องเงิน แนวทางการทำงาน ความเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงอัลบั้ม อินทูเดอะแพนเดมอนเนียม และมันก็เป็นเหตุผลว่าทำไมอัลบั้มจึงออกมาอย่างนั้น ทอมเขียนความรู้สึกและเหตุการณ์ขณะทำงานอัลบั้มนี้เพื่อลงในอัลบั้ม อินทูเดอะแพนเดมอนเนียม เวอร์ชั่นที่จะนำออกใหม่ในปีค.ศ. 2017 ทว่าโดนทางบริษัทบีเอ็มจีเซนเซอร์ (บีเอ็นจีซื้อบริษัทนอยซ์มาแล้ว) เพราะเกรงว่าถ้าข้อเขียนของทอมเผยแพร่ไปจะทำให้อดีตผู้เกี่ยวข้องฟ้องเอาได้ เขาเลยเขียนใหม่หลังจากที่โดนเซ็นเซอร์ลงบล็อกของเขาเอง

http://fischerisdead.blogspot.com/2017/06/bmgnoise-records-celtic-frost-reissue.html?view=classic (อันนี้ดูจะมีความเสียดสีอยู่ไม่น้อย ลองอ่านดู) 

เมื่อเคลติกฟรอสต์ทำอัลบั้มยอดเยี่ยมออกมาหลายชุด แต่พวกเขาก็มีปัญหาภายในเกี่ยวกับทิศทางของวงและเรื่องทางธุรกิจกับบริษัทแผ่นเสียง จนมาร์ตินตัดสินใจลาออก ปล่อยให้ทอมประคับประคองเคลติกฟรอสต์เพียงคนเดียวและทำให้อัลบั้มที่ออกต่อมาคือ โคลด์เลก (Cold Lake, 1988) ที่เหลือสมาชิกหลักเพียงทอมคนเดียว และเขาทำออกมาเป็นแกลมเมทัลร่วมสมัย กลายเป็นรอยด่างพร้อยในชื่อเสียงเกรียงไกรของเคลติกฟรอสต์ ถึงแม้มาร์ตินจะกลับมาร่วมวงอีกครั้งในอัลบั้มถัดมาคือ วานิตี/เนเมซิส (Vanity/Nemesis, 1990) แต่วงก็มาถึงทางตันและแยกทางกันไปในที่สุด สำหรับเรื่องนี้ ทอมเล่าว่า

“ความเห็นของผมนะ เราควรจะยุติวงตั้งแต่ที่เราแยกย้ายกันไปตอนปี 87 แต่ในตอนนั้นผมยังไม่ใช่คนมีเหตุผล ผมยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ และบางที มันหมายถึงผมยังไม่ฉลาดเพียงพอที่จะตระหนักความจริงข้อนั้น ผมโดนผลักดันด้วยความสิ้นหวัง ผมไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตที่ไม่ได้เป็นนักดนตรี พวกเราพยายามอย่างหนักเพื่อเซ็นสัญญาทำอัลบั้มเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ผมกำลังขวัญเสียกับความคิดว่าจะสูญเสียเคลติกฟรอสต์และพบว่าตัวเองไม่มีสัญญาออกอัลบั้มและไม่ได้เป็นนักดนตรีอีกต่อไป เพราะพวกนี้เป็นชีวิตของผม

ดังนั้นผมเลยทำผิดพลาดไร้ความคิดโดยการทำวงใหม่ด้วยความรีบเร่ง ทำงานร่วมกับนักดนตรีที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับเคลติกฟรอสต์ ทุกอย่างทำไปเพราะความเขลา ผมบันทึกเสียงอัลบั้มที่เลวร้ายและน่ารังเกียจซึ่งเมื่อทำลงไปแล้วถึงได้ฉลาดขึ้น เราพยายามกอบกู้เท่าที่เราจะได้จากสมาชิกเคลติกฟรอสต์ดั้งเดิม และทำอัลบั้มที่ใกล้เคียงกับความตั้งใจแต่แรกตั้งวงเคลติกฟรอสต์ แต่ว่ามันสายไปแล้ว วงดนตรีของเราได้สูญเสียแรงบันดาลใจและตัวตนไปแล้ว วานิตี/เนเมซิส คือความพยายามไม่สนใจความเป็นจริง เราทดลองอะไรมากมายใน อินทูเดอะแพนเดมอนเนียม แต่ตอนที่เราทำ วานิตี/เนเมซิส เราบอกกันว่าอย่าไปทดลองอะไรใหม่ ๆ เลย เราจะทำอัลบั้มเมทัลที่ตรงไปตรงมา ซึ่งมันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เคลติกฟรอสต์ควรทำ

ถ้าผมฟังอัลบั้มนี้ในตอนนี้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอัลบั้มออกที่หลัง แต่เพลงมันดูเป็นของเก่ากว่างานที่ออกมาก่อนหน้านั้นเสียอีก มันแสดงถึงความด้อยคุณภาพ ในความเห็นของผมนะ มันเป็นอัลบั้มที่ไม่เกี่ยวข้อง (กับความยิ่งใหญ่ของเคลติกฟรอสต์) ถ้าให้พูดล่ะก็ ผมไม่อยากเอามันออกมาขายใหม่เพราะว่ามันไร้ทิศทางโดยสิ้นเชิง แต่บีเอ็มจีอยากเอามันมาจำหน่ายใหม่ และผมก็ได้ทำงานกับมันอีกครั้ง แต่เมื่อลองฟังและรีมาสเตอร์มันใหม่มันก็ทำให้ผมแน่ใจว่ามันเป็นอย่างที่ผมพูด มันไม่มีบทบาทอะไรต่อชื่อเสียงอันยิ่งใหญ่ของเคลติกฟรอสต์ คุณสามารถเล่าตำนานเคลติกฟรอสต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงมัน มันไม่มีพัฒนาการ มันไม่มีความเป็นธรรมชาติและไม่มีปราศจากแรงบันดาลใจ 

มันดีกว่า โคลเลก แต่ฟังแม่ผมล้างจานยังดีกว่าฟัง โคลเลก มันเป็นวงดนตรีที่ปราศจากอัตลักษณ์และไร้พลังงาน มันเป็นอัลบั้มที่สิ้นหวังของวงดนตรีที่พยายามจะแก้ไขข้อผิดพลาดที่น่าสังเวช ถ้าคุณได้ฟังมอร์บิดเทลส์ ทูเมกาธีเรียน หรือว่า อินทูเดอะแพนเดมอนเนียม มันไม่มีอะไรเหลือสำหรับวานิตี/เนเมซิสแล้ว มันเหมือนเศษผ้าขี้ริ้วเปียก ๆ และหากแฟนต้องการซื้อก็เพียงเพราะมีชื่อ เคลติกฟรอสต์ ประทับอยู่บนหน้าปกเท่านั้น

ถ้าให้ผมแนะนำสำหรับแฟนเพลงก็คือถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการเงินที่จะต้องไปซื้ออัลบั้มอื่นอยู่ มันก็ไม่เสียเงินเปล่าหรอก วานิตี/เนเมซิส คือความพยายามอย่างอ่อนแรงที่พยายามรักษา (วง) ไว้ เราควรปล่อยให้วงดนตรีหยุดพักไปตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน อย่างที่เราได้ทำมันในตอนนี้ เลือกให้วงหยุดพักผ่อนเป็นเวลา 16 ปีหรือมากกว่านั้น (ก่อนมาทำโมโนเทียส) คือสิ่งที่ดีที่สุด เราควรตระหนักเรื่องนี้ได้ก่อนหน้านี้”

แต่ในช่วงที่เคลติกฟรอสต์ตกต่ำและยุบวงไป บรรดาเด็กที่หลงใหลพวกเขากลับเติบโตขึ้นและหลายคนทำวงดนตรี ทำให้เคลติกฟรอสต์กลายเป็นคัลต์คลาสสิกของเหล่าเดธและแบล็กเมทัล โดยเฉพาะเหล่าแบล็กเมทัลจากแถบสแกนดิเนเวียเช่นเอมเพอเรอร์ เมย์เฮม และอีกหลายคณะที่มีส่วนร่วมกับความรุนแรงเช่นเผาโบสถ์ ฆาตกรรม และความรุนแรงอื่น ต่างหยิบยกวงเฮลแฮมเมอร์หรือเคลติกฟรอสต์ขึ้นมาเป็นแรงบันดาลใจทำให้เคลติกฟรอสต์ เฮลแฮมเมอร์ และทอมก็ไม่ค่อยพอใจกับสิ่งเหล่านั้นเท่าไหร่ 

“มันเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดมากเพราะเรารู้สึกว่าเฮลแฮมเมอร์โดนพรากไปจากเราและกลายเป็นเครื่องมือต่อบางสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น ผมไม่มีปัญหาอะไรถ้าหากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผมเชื่อ แต่ถ้าคนไปฆ่าพวกรักร่วมเพศ ผมมีปัญหาร้ายแรงกับเรื่องนี้เพราะผมเคยไม่มีปัญหากับพวกรักร่วมเพศ ดังนั้นเมื่อเฮลแฮมเมอร์โดนกล่าวถึงในบริบทนั้นมันทำให้ผมโมโหมาก”

ชีวิตส่วนตัวของทอมไม่ดื่มเหล้า ไม่เสพยา อาจจะมีดื่มไวน์บ้างนิดหน่อยกับเพื่อนฝูง แถมยังเป็นมังสวิรัติต่อต้านการสัตว์ ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาไม่ค่อยชอบใจที่เมทัลลิกาเล่นเพลงของเคลติกฟรอสต์ตอนมาเล่นทีสวิตเซอแลนด์อันเนื่องมาจาก เจมส์ เฮตฟิลด์ นักร้องนำของวงชอบการล่าสัตว์ 

“มันเป็นเรื่องส่วนตัวล้วน ๆ และพวกคุณก็คงไม่เข้าใจความรู้สึกนี้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำงานได้ยอดเยี่ยมสักเพียงใดผมก็สะอิดสะเอียนอยู่ดีเพราะผมไม่สนับสนุนคนที่ล่าหมีเป็นงานอดิเรก” ทอมให้สัมภาษณ์นิตยสารโรลลิงสโตน “ผมไม่สามารถนับถือคนแบบนี้ได้ต่อให้เขาเป็นนักดนตรีอัจฉริยะก็ตาม” 

ทอมกับมาร์ตินกลับมาทำวงเคลติกฟรอสต์และออกอัลบั้ม โมโนเทียส (Monotheist) ในปีค.ศ. 2006 แต่เกิดปัญหาภายในทำให้ทอมลาออกจากวงในปีค.ศ. 2008 ทำ (Triptykon) ทริปไทคอน ซึ่งเหมือนการสืบสานเคลติกฟรอสต์ กับอีกวงที่ไม่ออกเมทัลซักเท่าไหร่คือ ไนไรธ์ (Niryth) กับ มีอา วอลเลซ (Mia Wallace) มือเบส (เคยเล่นกับแอบบาธ จากวงอิมมอร์ทัล) วงนี้เป็นร็อกไม่ออกเมทัล แต่ยังเป็นไซคีเดลิกที่หม่นมืดอยู่ดี

ส่วนมาร์ติน เสียชีวิตในปีค.ศ. 2017 ด้วยโรคหัวใจ

Leave a Reply

Scroll to top
%d bloggers like this: