Dave “Snake” Sabo: สารคดีและชีวิตของเขา

Dave “Snake” Sabo มือกีตาร์ของสคิดโรว์ เล่าถึงการมีส่วนร่วมในสารคดี I Wanna Rock: The ’80s Metal Dream และเรื่องทั่วไป

ปี ค.ศ. 1989 เป็นช่วงเวลาที่ฮาร์ดร็อก แกลมเมทัล แฮร์แบนด์ กำลังเฟื่องถึงขีดสุด อัลบั้มไหนที่โดดเด่นในปีนั้นได้จริงหมายความว่ามันต้องเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมชุดหนึ่งในทศวรรษนั้น น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ ถ้าไม่เลียนแบบบอนโจวี ก็จะเลียนแบบกันส์แอนด์โรเซส

และสคิดโรว์ (Skid Row) ออกอัลบั้มแรกในปีนั้น ตอนแรกก็เหมือนพวกที่มีโอกาสได้ออกอัลบั้มเพราะว่าบริษัทแผ่นเสียงต้องการวงแบบกันส์แอนด์โรเซสมาเพิ่มตัวเลขในบัญชี แต่ผลงานแรกของพวกเขาออกมาดีเยี่ยมคู่ควรจะเรียกว่าเป็นผลงานระดับตำนาน ความหนักแน่นของดนตรีไปได้ด้วยดีกับเนื้อหาที่แสดงความเย่อหยิ่งลุ่มหลงพลังบริสุทธิ์ของเยาวชน ตามมาด้วย Slave to the Grind ในปีค.ศ. 1991 เพิ่มความหนักขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และดูว่าพวกเขาจะไปได้สวย

Skid Row 1989

แต่หลังจากนั้นคือกราฟที่พุ่งลงจนต้องแยกวงไประยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาใหม่ก็ไม่อาจกลับไปสู่ความสำเร็จเดิมได้อีก พวกเขามีการเปลี่ยนสมาชิกวงไปบ้าง มีเพียง เดฟ “สเน็ก” ซาโบม (Dave “Snake” Sabo – มือกีตาร์) สก็อตตี ฮิลล์ (Scotti Hill – มือกีตาร์) และ ราเชล โบแลน (Rachel Bolan – มือเบส) สามคนที่ยังจับมือกันเหนียวแน่น อัลบั้ม Thickskin (2003) และ Revolutions per Minute (2006) ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าดนตรีจะยังดีอยู่ แต่ก็ห่างไกลจากคำว่ายอดเยี่ยม

ล่าสุด อัลบั้ม The Gang’s All Here ออกมาเมื่อปีที่แล้ว (2022) ซึ่งได้รับคำชมมากพอสมควรว่ากลับมามีพลังและให้ความรู้สึกถึงสองอัลบั้มแรกล่าสุด สารคดี “I Wanna Rock: The ’80s Metal Dream” แพร่ภาพทาง Paramount+ บอกเล่าเรื่องราวผ่านบทสัมภาษณ์ เดฟ “สเน็ก” ซาโบ (มือกีตาร์ สคิดโรว์) คิป วิงเกอร์ (มือเบส/ร้องนำ วิงเกอร์) ดี ชไนเดอร์ (นักร้องนำ ทวิตเต็ดซิสเตอร์) เจเน็ก การ์ดเนอร์ (อดีตนักร้องนำ วิกเซน) จอห์น คอราบี (อดีตสมาชิกวง เดอะสครีม และมอตลีครู) และวิกกี แฮมิลตัน (ผู้เสมือนผู้จัดการของ มอตลีครู พอยสัน และ กันส์แอนด์โรเซสก่อนที่พวกนี้จะดัง) กำกับโดย ไทเลอร์ มีซัม (Tyler Measom) ซึ่งเคยทำสารคดี I Want My MTV เมื่อปีค.ศ. 2019

สารคดี แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนแรก “I Want to be Somebody” พูดถึงช่วงแรกของการทำวงเป็นส่วนใหญ่ ตอนที่สอง “Headed For Heartbreak” ว่าด้วยช่วงแสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จ และตอนสุดท้าย “Smells Like Change” จะเป็นช่วงท้ายที่กรันจ์กำลังจะครองความนิยมแทนแฮร์แบนด์

นิตยสาร เมทัลเอดจ์ (Metal Edge) ได้สัมภาษณ์ เดฟ “สเน็ก” ซาโบ (Dave “Snake” Sabo) มือกีตาร์สคิดโรว์เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงจะแปลออกมาในตอนนี้

 “มันเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความเบิกบาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก” เดฟ “สเน็ก” ซาโบ ให้สัมภาษณ์นิตยสารเมทัลเอดจ์  “ผมจำได้ว่าได้อยู่กับวงดนตรีดีๆ มากมายในคลับ เหมือนเป็นดินแดนแห่งโอกาส จำได้ว่า ทวิตเต็ดซิสเตอร์ (Twisted Sister) เป็นวงดนตรีที่แวะมาในพื้นที่นี้บ่อยๆ และเมื่อพวกเขาสร้างมันขึ้นมา ทำให้รู้สึกเหมือนว่าพวกเราทุกคนก็ทำได้ ความคิดนั้นทำให้ผมทึ่ง การได้เห็นอะไรแบบนี้ส่งผลดีต่อเราในสคิดโรว์จนเรารู้สึกว่าเราทำได้จริงๆ”

“เรามีความคิดตรงกัน และเราทำงานหนักมาก การมีเป้าหมายเดียวกันและความหลงใหลร่วมกันทำให้เราแทบหยุดไม่ได้ เราผลักดันตัวเองให้เก่งกว่าแค่คำว่าดี เราต้องดีกว่านั้น เราต้องยอดเยี่ยม ผมคิดว่าการกลับมาและการที่เรายังรอด เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนสร้างซีรีส์นี้มาหาเรา”

เมทัลเอดจ์: สคิดโรว์มาทำ I Wanna Rock: The ’80s Metal Dream ได้อย่างไร

เดฟ: มีเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่ผมรู้จักตั้งแต่ปี 1989 ชื่อ ริก คริม (Rick Krim) เขาเคยทำงานที่ MTV ประสานงานศิลปินของแอตแลนติกเร็กคอร์ดสที่ MTV แต่ทุกวันนี้เขากำลังทำงานที่ปรึกษา และเขาทำงานร่วมกับคนที่ทำสารคดีชุดนี้ เขาโทรหาผมเพื่ออธิบายว่าสารคดีคืออะไร เผื่อว่าผมสนใจ เราคุยกันเรื่องนี้และหลังจากได้ยินข้อตกลงทั้งหมด ผมก็แบบ “ใช่… ผมคิดว่าผมเอาด้วย” และหลังจากได้ฟังวิสัยทัศน์ของ [ผู้กำกับ] ไทเลอร์ มองภาพรวมทั้งหมด ผมก็รู้สึกดีกับมันมาก

เมทัลเอดจ์: คุณคิดว่าอะไรทำให้สคิดโรว์น่าสนใจเป็นพิเศษ

เดฟ: ผมคิดว่า ถึงแม้สคิดโรว์จะไม่มีใครสนใจมาสักระยะหนึ่งแล้ว เราก็ยังคงออกทัวร์และเอาตัวรอดได้ ตอนที่เรากำลังทัวร์ผมได้มีส่วนร่วมในด้านการจัดการเรื่องต่างๆ และผมคิดว่าพวกเขาคงมองว่าเรื่องพวกนี้น่าสนใจเช่นกัน ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับแง่มุมนั้นในด้านต่างๆ และการที่ผมรับมือกับความเจ็บป่วยทางจิตตั้งแต่ยังเด็ก นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่ง เรื่องราวส่วนตัวของผมเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าพร้อมที่จะพูด แต่ผมยังไม่ได้เห็นการตัดต่อสุดท้าย เลยไม่แน่ใจว่าพวกเขาลงลึกไปกับเรื่องราวทั้งหมดอย่างไร

เมทัลเอดจ์: ที่ผ่านมา แง่มุมสุขภาพจิตในชีวิตของนักดนตรีส่วนใหญ่ถูกละเลย แต่ดูเหมือนว่าคุณเปิดกว้างมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสารคดีนี้

เดฟ: ย้อนกลับไปสมัยมัธยมปลาย เห็นได้ชัดว่าผมมีปัญหาสุขภาพจิต ผมได้พบนักจิตวิทยาและมีความหวัง แต่ก็ยังไม่มีคำตอบอะไรมากนัก ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 80 ยังไม่มีการวิจัยอะไรมาก และเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง มันถูกดูถูกและถือเป็นความลับของครอบครัว พวกเขาจะพูดว่า โอ้ อย่าพูดถึงลุงสเน็กที่บ้าๆ นะ รู้ไหม? ผมไม่ได้คุยเรื่องนี้กับครอบครัวเพราะ พวกเขาเป็นคนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเภทที่คิดว่าโลกนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า PTSD และการบาดเจ็บทางจิตใจ พวกเขาไม่ต้องการยอมรับว่าอาการทางจิตหรือโรคอารมณ์สองขั้วเป็นเรื่องจริงหรือเป็นต้นเหตุของสิ่งต่างๆ

เมทัลเอดจ์: มันยากแค่ไหนที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นในเวลาที่แสงสปอตไลต์ส่องมาที่คุณตลอดเวลา?

เดฟ: ยาก ในตอนนั้นยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่าสิ่งนั้นคืออะไรหรือสาเหตุของมันคืออะไร และถ้ามีก็ไม่มีใครอยากจะยอมรับ นับประสาอะไรกับเรื่องนี้ ผมเพิ่งเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นกับผมไม่นานมานี้เอง เมื่อก่อนนั้นชีวิตผมจะเหมือนนั่งรถไฟเหาะเสมอและเพราะการที่สังคมดูถูกเรื่องแบบนี้ พูดตามตรง ผมก็ต้องเสแสร้ง ผมมักจะทำหน้ามีความสุข เล่นตลก และพยายามอย่างหนักเพื่อดึงความสนใจออกจากอะไรสักอย่างที่เกิดขึ้นกับผม ผมทำงานหนักเพื่อปกปิดทุกสิ่งที่ผมเป็นเพราะผมไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ ผมเก็บมันไว้เป็นความลับตราบเท่าที่ผมจะทำได้จนกว่าร่างกายและจิตใจของผมจะพังทลาย และผมก็ทำไม่ได้อีกแล้ว

เมทัลเอดจ์: ความสำเร็จของสคิดโรว์ช่วยหรือขัดขวางคุณ?

เดฟ: ผมมีอีโก้ การยอมรับว่าผมมีปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็อยู่ในห้องมืด ๆ ตอนตีสี่ พลางคิดหาวิธีที่จะไม่ตื่นในวันพรุ่งนี้ แต่ขอบคุณพระเจ้าที่ผมตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้นเพื่อผ่านเรื่องเดิม ๆ อีกครั้ง และบางครั้งก็สุดโต่งและมากเกินไป บางครั้งก็ผ่านไป แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ผมได้ผ่านมาและผ่านไปแต่ตอนนี้จัดการได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก และอย่างที่คุณพูด ความสำเร็จอาจเป็นยาชั้นยอด การประสบความสำเร็จ การได้รับคำชื่นชมและการเยินยออาจช่วยให้ผมซ่อนสิ่งที่ผมกำลังเผชิญอยู่ได้ โชคดีที่ผมรู้ด้วยว่าความสำเร็จไม่ใช่สิทธิโดยกำเนิด มันเป็นของขวัญที่น่าอัศจรรย์ และเมื่อความสำเร็จนั้นเริ่มจางหายไป โชคดีที่มันไม่ได้ทำลายผม มันไม่ได้สร้างปัญหาด้านสุขภาพจิตแต่อย่างใด ผมไม่ได้จมดิ่งลงไปลึกจนกู่ไม่กลับ ยังรับมือกับเรื่องนั้นได้

เมทัลเอดจ์: คุณเคยรู้สึกอึดอัดกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคุณต้องดิ้นรนรับมือกับมันหรือไม่?

เดฟ: นั่นเป็นคำถามที่ดี แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น สิ่งที่ยอดเยี่ยมของสคิดโรว์คือ สก็อตตี้  [Scotti Hill – มือกีตาร์] และ ราเชล [Rachel Bolan – มือเบส] ถูกเลี้ยงดูมาแบบเดียวกับผม เราเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน เป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดในครอบครัว และถูกเลี้ยงดูมาในบ้านชนชั้นกลางระดับล่างโดยพ่อแม่ที่มีจริยธรรมในการทำงานที่ดีความกตัญญูและความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงตกทอดมาถึงเรา และการอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีความคิดแบบเดียวกันทำให้ผมมีเหตุผล ผมรู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และมักจะกังวลกับเรื่องธุรกิจของวงจนผมไม่คิดถึงเรื่องอย่างอื่นสักเท่าไหร่

เมทัลเอดจ์: หนึ่งในหัวข้อที่กล่าวถึงในสารคดีนี้คือความล่มสลายกระแสความนิยม มุมมองของคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้คืออะไร?

เดฟ: ผมไม่โทษกรันจ์หรือการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นว่ามันทำลายสิ่งต่างๆ ผมจำได้ว่านาทีหนึ่งเรากำลังทัวร์กับ บอนโจวี และครั้งถัดมาก็ไปกับ แพนทีรา และ ซาวด์การ์เดน เราโชคดีพอที่จะข้ามขอบเขตไปกับวงดนตรีที่เราทัวร์ด้วย ผมจึงไม่เห็นว่าเป็นการทำลาย ผมแค่คิดว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวเพลงใดๆ ก็ตาม มันต้องดำเนินไปตามทางของมัน และจะต้องมีของใหม่มาเสมอเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกสไตล์ดนตรีที่มีอยู่นานหลายปี มันจะมีจุดวิกฤตและคนฟังจะเบื่อมัน มีการเซ็นสัญญากับศิลปินที่คล้ายกันมากเกินไป และสิ่งต่างๆ ก็ถึงจุดอิ่มตัว เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการสิ่งใหม่เมื่อได้รับบางอย่างมากเกินไป พวกกรันจ์ให้เสียงใหม่และนำเสนอในสิ่งที่แตกต่างจากเรา ดังนั้นมันจึงเหมาะสมอย่างยิ่ง

เมทัลเอดจ์: คุณเป็นแฟนของกรันจ์หรือไม่?

เดฟ: โอ้ ใช่ มันเจ๋งมาก อย่างที่ผมบอก เราไปกับซาวด์การ์เดน พวกเขาอยู่กับเรา และเราก็รักพวกเขา ตอนนี้ก็ยังรักพวกเขาอยู่  มองไปที่เนอร์วาน่าหรือใครก็ตามแล้วตำหนิพวกเขาว่าเป็นต้นเหตุทำให้เพลงของเราล้าหลังและสูญเสียความนิยม มันเป็นเพียงธรรมชาติของธุรกิจเพลงและชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาและความจริงก็คือวงดนตรีที่ยอดเยี่ยมมากมายในยุคนั้นถูกรวมเข้ากับ “กรันจ์” ซึ่งไม่แตกต่างจากวงดนตรีที่โดนเหมารวมเข้า “แฮร์เมทัล” ในยุคเรามากนัก วงดนตรีเจ๋ง ๆ มากมายโดยจัดกลุ่มไม่ว่าจะถูกหรือผิด ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นกับวงดนตรีจำนวนมากในยุคกรันจ์เช่นเดียวกับยุคของเรา

เมทัลเอดจ์: และอะไรทำให้สคิดโรว์อยู่รอดในยุคนั้น

เดฟ: เราไม่เคยยอมแพ้ และนั่นกลับไปสู่จรรยาบรรณในการทำงานและวิธีที่เราถูกเลี้ยงดูมา ตั้งแต่วันแรกที่เราก่อตั้งวงนี้ เราชอบเพลงแบบนี้และเล่นมัน การยอมแพ้ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเรา นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงรักษาแฟนเพลงบางส่วนไว้ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบางครั้งกลุ่มแฟนเพลงก็เพิ่มขึ้นและบางครั้งก็ลดลง แต่เราออกไปเล่นได้เสมอ ข้อพิสูจน์คือเราออกอัลบั้มเมื่อปีที่แล้ว [The Gang’s All Here] และผู้คนให้ความสนใจเราในแบบที่พวกเขาไม่เคยทำมาเกือบ 30 ปี เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและพิสูจน์ได้ว่าพวกเขายังสนใจเราอยู่

เมทัลเอดจ์: คุณรู้สึกว่าความมุ่งมั่นของสคิดโรว์แผ่ไปถึงผู้ชมหรือไม่?

เดฟ: ผมคิดอย่างนั้น คุณต้องจำไว้ว่าความผูกพันที่เรามีนั้นหายากจริงๆ เพราะเราไม่ใช่พวกพาร์ต-ไทม์ เราเจอกันทั้งบนเวทีและนอกเวที ราเชลกับผมคุยโทรศัพท์กันทุกวัน และถ้าเราไม่ได้คุยโทรศัพท์ เราก็ส่งข้อความหากันทุกวัน และเมื่อเราออกทัวร์กัน เราไปเที่ยวกันทุกวันทุกคืนไม่ว่าจะบนรถบัส ดื่มค็อกเทล หรือออกไปดินเนอร์ เราอยู่ด้วยกันเสมอ นั่นทำให้เราใกล้ชิดกันมาก มิตรภาพเหล่านั้นเป็นงานหนักและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงสร้างของวงนี้แข็งแกร่ง เป็นของขวัญและคำอวยพรที่เหลือเชื่อ การเคารพซึ่งกันและกันทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะนักดนตรี เป็นภูมิคุ้มกันเรื่องต่าง ๆ ที่โถมเข้ามาในวงเรา ด้วยเหตุนี้เมื่อเราโดนกระทำอะไร เราก็ยังเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน

เมทัลเอดจ์: เหตุใดซีรีส์สารคดีอย่าง I Wanna Rock: The 80s Metal Dream จึงควรค่าต่อการดู

เดฟ: ยุคนั้นเป็นช่วงสังคมเสื่อมโทรมและเอาแต่ใจตัวเอง และหลายเพลงก็สะท้อนถึงสิ่งนั้น แต่เมื่อคุณดึงเอาความเสน่ห์และสิ่งวิบวับล่อตาล่อใจออกไป มันก็มีความสนุกสนานด้วย เมื่อคุณตัดองค์ประกอบผิวเผินออกไป จะมีเพลงดีๆ มากมายที่ทำให้ผู้คนรู้สึกดี นั่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่วุ่นวายและแตกแยกนี้มีความตึงเครียดและความไม่แน่นอนมากมาย และคนจำนวนมากกำลังมีปัญหา ดังนั้น การพบความบันเทิงและดนตรีที่นำคุณไปสู่สถานที่แห่งความสุขอีกครั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดว่าผู้คนกำลังค้นพบความสุขบางอย่างที่ดนตรีง่ายๆ ของเรามอบให้กับผู้คนอีกครั้ง ดังนั้น บางที มันอาจส่งผลคล้ายกันกับผู้คนในทุกวันนี้เช่นเดียวกับในตอนนั้น ผมหวังเช่นนั้น

Leave a Reply

Scroll to top
%d bloggers like this: