Iron Maiden: บรู๊ซ ดิกคินสัน ลาออกจากวงเมื่อปี 1993

บรู๊ซ ดิกคินสัน ลาออกจากวงเมื่อปี 1993 สร้างความปั่นป่วนให้กับแฟนเพลงพอสมควร เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ดนตรีเฮฟวีเมทัลกำลังเสื่อมความนิยม และการหาคนที่มีเอกลักษณ์และความสามารถอย่างเขาได้ยากยิ่ง

(พยายามเขียนชื่อวงตามการออกเสียง Iron Maidan – จะออกเสียงคล้าย ไอเอิร์น มากกว่าไอออน แต่แน่ ๆ ว่ามันไม่ได้ออกเสียงว่าไอรอน) 

คนทั่วไปคงบอกว่าชีวิตของผมในวงไอเอิร์นเมเดนเป็นงานที่มั่นคงมาก แต่ผมคิดว่ามันยังไม่พอ ผมยังหนุ่มเกินกว่าจะมาใช้ชีวิตแบบนี้

บรูซ ดิกคินสัน ให้เหตุผลที่เขาตัดสินใจลาออกจากวง เมื่อปีค.ศ. 1993

ณ เวลานั้น สถานภาพของไอเอิร์นเมเดนมั่นคงมาก จะใช้คำว่าเป็นวงเมทัลอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักรก็อาจจะโดน ร็อบ ฮัลฟอร์ด (Rob Halford – Judas Priest) มองค้อนเอาได้ งั้นใช้คำว่านี่คือวงดนตรีที่มีสถานภาพการทำเงินที่มั่นคง แม้ในช่วงเวลาที่กระแสดนตรีไม่เป็นใจอย่างในช่วงทศวรรษ 90

การลาออกของบรูซไม่ใช่เรื่องไกลเกินจินตนาการของแฟนเพลง เพราะเมื่อครั้งที่เขาออกอัลบั้มเดี่ยว Tattooed Millionaire(1990) และหันไปสนใจเรื่องอื่น เช่น เขียนนิยายเรื่อง The Adventures Of Lord Iffy Boatrace ก็มีคนพูดถึงเหมือนกันว่าเขาอาจจออกจากวง

แต่จากบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ หลายครั้งหลายคราวหลังจากนั้น บ่งบอกว่าสาเหตุหนึ่งมาจากความขัดแย้งระหว่างบรูซกับสมาชิกคนอื่น ซึ่งตัวหลักก็น่าจะเป็น สตีฟ แฮร์ริส (Steve Harris) มือเบสผู้กุมอำนาจการตัดสินใจในวงไปเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิศทางของวง

ปัญหานี้ก็สะสมมานาน ตั้งแต่กลางทศวรรษ 80 บรูซเคยคิดจะลาออกมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อตอนเวิลด์สลาฟเวอรีทัวร์ (World Slavery Tour) จบสิ้น (ซึ่งบันทึกเป็นอัลบั้ม ไลฟ์อาฟเตอร์เดธ – Live After Death)

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนเพลงไอเอิร์นเมดเดน อัลบั้ม เพาเวอร์สลาฟ (Powerslave) วางจำหน่ายเมื่อปีค.ศ. 1984 บรูซเพิ่งเข้าร่วมวงอย่างเป็นทางการเมื่อปีค.ศ. 1982 บันทึกเสียงร่วมกับวงเพียง 3 อัลบั้มเท่านั้น

“ตอนนั้นผมคิดเรื่องนี้บ่อยทีเดียว ผมรู้สึกจิตใจเหนื่อยล้าสาหัสเพราะต้องทำงานหนักเหมือนโดนบดขยี้ทุกวัน ออกทัวร์ 13 เดือน ใช้ชีวิตบนท้องถนนทำให้ขาดชีวิตทางสังคมในแบบที่หาคำอธิบายออกมาไม่ได้ คนมักจะบอกผมว่า หยุดบ่นทีเหอะ คุณเป็นร็อกสตาร์แล้วคุณก็ทำเงินได้จากสิ่งนี้นะ ผมตอบว่า ใช่ นั่นแหละอาชีพผม แต่ถ้าผมเลือกที่จะหยุด มันก็เป็นตัวเลือกของผมเหมือนกัน”

บรูซ ดิกคินสัน

“ผมคิดถึงเรื่องนี้ และคิดว่ามีอะไรอื่นอีกมั้ยที่ผมทำแล้วอาจจะได้เงินน้อยกว่านี้แต่ทำให้ผมรู้สึกพอใจกับชีวิตมากกว่านี้  ผมคิดเรื่องจะออกไปเป็นโค้ชสอนฟันดาบเต็มเวลาด้วยซ้ำ”

การหาความสมดุลระหว่างการออกทัวร์กับชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบรูซ แต่พอมีเวลาคิดสักครึ่งปี บรูซก็เริ่มทำใจและปรับตัว เขาเปลี่ยนใจไม่ลาออกจากวงเมื่อเห็นว่าการออกทัวร์อาจจะทำให้เขารู้สึกเหนื่อย แต่ก็ให้ประสบการณ์ชีวิตมากเหมือนกัน และเงินที่ได้จากการเป็นนักร้องนำของวงก็มากเอาการอยู่ เมื่อเขาหาเวลาไปใช้ชีวิตส่วนตัวได้บ้างจึงอยู่กับวงต่อ จนกระทั่งออกจากวงจริงในปีค.ศ. 1993

“ผมคิดว่าเราต้องทำอะไรที่มันอันตรายกว่าเดิม มันต้องมีการท้าทาย แต่เมื่อผมทำอัลบั้ม (Fear of the Dark) ผมไม่แน่ใจว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมไม่มีความสุขกับการเป็นแค่ฟันเฟืองในเครื่องจักรที่ประสบความสำเร็จและทำงานได้ดีเยี่ยม ชีวิตของผมเป็นเหมือนวันกราวด์ฮ็อก (อ้างอิงภาพยนตร์เรื่องกราวด์ฮ็อกเดย์ที่ตื่นมาพบเจอเรื่องเดิมทุกวัน) แม้ว่าวันกราวด์ฮ็อกที่มีแต่ความสำเร็จก็เถอะ และผมก็ตระหนักว่าวิธีเดียวที่ผมจะรู้สึกดีหรือไม่ก็ตาม ผมต้องก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัย และวิธีเดียวที่ผมทำได้คือออกจากวง”

เมื่อใจของ บรูซ ดิกคินสัน ไม่อยู่กับวงเสียแล้ว เขาแจ้งข่าวกับสมาชิกและทีมบริหารวงว่าเขาต้องการลาออกหลังจบทัวร์คอนเสิร์ต เฟียร์ออฟเดอะดาร์กทัวร์ (Fear of the Dark Tour) เสร็จสิ้นในปีค.ศ. 1992

ในเวลานั้น ทางวงเตรียมทัวร์ไว้อีกรอบหนึ่งก่อนแล้ว เขาจึงตกลงจะอยู่ และทำเป็นทัวร์อำลาในชื่อ เดอะเรียลไลฟ์ทัวร์ (The Real Live Tour) ในปีค.ศ. 1993 ซึ่งมีบันทึกการแสดงสดวางจำหน่ายสองชุดคือ อะเรียลไลฟ์วัน (A Real Live One) บรรจุเพลงจากช่วงปีค.ศ. 1986 – 1992 กับ อะเรียลเดดวัน (A Real Dead One) บรรจุเพลงจากช่วงปีค.ศ. 1980 – 1984 

Iron Maiden 1984

เดอะเรียลไลฟ์ทัวร์ สำเร็จตามเป้าหมาย แฟนเพลงไอเอิร์นเมดเดนคงไม่อยากพลาดการอำลานักร้องนำที่เป็นเอกลักษณ์ของไอเอิร์นเมเดนคนนี้ แม้เขาจะไม่ใช่นักร้องนำดั้งเดิมก็ตามแต่ว่าผลงานในช่วงที่บรูซเป็นนักร้องนำล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับคลาสสิกในใจแฟนเพลง

สตีฟ แฮร์ริส มือเบสและหัวหน้าวงเคยให้สัมภาษณ์ว่าการออกทัวร์ในปีนั้นเป็นสถานการณ์ที่แย่สำหรับวง เพราะในวันที่เล่นคอนเสิร์ตตามปกติ บรูซจะเล่นเหมือนไร้หัวใจ เป็นแค่งานประจำที่ทำให้จบไปวันวันเท่านั้น หากแต่วันไหนที่รู้ว่ามีแมวมองหรือคนสำคัญจากบริษัทแผ่นเสียงมาร่วมชมการแสดงด้วย บรูซจะใส่เต็มที่แบบต้องการแสดงให้คนพวกนั้นเห็นว่าเขามีศักยภาพขนาดไหน

บรูซบอกในหนังสือ ไอเอิร์นเมดเดน: รันทูเดอะฮิลส์ (Iron Maiden: Run to the Hills) เขียนโดยมิก วอลล์ว่า “เราเดินออกไปบนเวทีและมันเหมือนห้องเก็บศพเลย แฟนเพลงรู้ว่าผมจะลาออก พวกเขารู้ว่านี่เป็นงานคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายและผมก็ตระหนักว่าผมอยู่ในฐานะนักร้องนำที่น่ากระอักกระอ่วนใจ จะให้พูดว่า นี่เป็นคืนที่เยี่ยมจริง ๆ แล้วก็นั่งอยู่แถวนั้น? ผมคิดว่านี่นักร้องนำกำลังออกจากวงนะมันจะเยี่ยมได้อย่างไร หรือว่าจะต้องเดินหน้าต่อโดยพูดว่า ผมขอโทษจริง ๆ ที่ผมต้องออกจากวงไป นี่ไง เป็นคุณ คุณจะทำอย่างไร?”

บรรยากาศในวงไอเอิร์นเมดเดนคงไม่ค่อยดีนัก เมื่อต้องร่วมงานกับนักร้องนำที่กำลังจะออกจากวง หรือความจริงคือออกจากวงแล้วแต่ติดพันต้องออกทัวร์ร่วมกัน สิ่งนั้นทำให้บรูซรู้สึกว่าบรรยากาศรอบตัวอึดอัดตึงเครียด และเขาก็เสแสร้งไม่เป็นเสียด้วย มันเลยส่งผลถึงการแสดงของเขา

และการแสดงรอบสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1993 ที่ไพน์วู้ดสตูดิโอส์ในลอนดอน การแสดงครั้งนั้นบีบีซีบันทึกภาพและเสียงและเผยแพร่ผ่านเครือข่ายเอ็มทีวีและระบบจ่ายเงินเพื่อดู ชื่อ เรซซิงเฮล (Raising Hell) ซึ่งเป็นการแสดงรอบพิเศษจริง ๆ คือเป็นการแสดงร่วมกับ ไซมอน เดรก (Simon Drake) นักมายากลชื่อดัง

ระหว่างการแสดงดนตรีก็จะมีมายากลมาแทรก เช่น ผ่าหญิงสาวเป็นสองท่อนในเพลง “Bring Your Daughter To The Slaughter” ตัดมือของ เดฟ เมอเรย์ บนเวที และท้ายสุด เขาจับบรูซเข้าเครื่องทรมานไอเอิร์นเมเดน เครื่องทรมานสมัยโบราณอันเป็นที่มีของชื่อวง ได้เห็นเหล็กแหลมทะลุกล่องออกมา และใบหน้าของบรูซซึ่งมีเลือดไหลออกจากปากเป็นการปิดท้ายที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ (ภายหลังวางจำหน่ายในชื่อ เรซซิงเฮล เมื่อปีค.ศ. 1994)

คอนเสิร์ตในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1993 ได้รับการบันทึกและจัดหน่ายในชื่อ IRON MAIDEN – Raising Hell

“ตอนที่บรูซออกจากวงมันเป็นช่วงตกต่ำของวงจริง ๆ แต่ทัศนคติของผมคือ ช่างแม่ง เราต้องกอบกู้วงต่อไปและทำต่อไปให้ได้ นั่นคือสิ่งเดียวที่ทำได้” สตีฟ แฮร์ริส รำลึกความหลังไว้อย่างนั้น

Leave a Reply

Scroll to top
%d bloggers like this: